ปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้ว เพราะ 'ที่เกิดเหตุ' ไม่เว้นแม้กระทั่งครอบครัวหรือสถาบันที่ควรต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ 'การคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์' เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลเพิ่มมากขึ้น
"การคุกคามที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์...คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากขึ้น ผลกระทบกว้างขวางขึ้น และที่น่ากลัวที่สุดคือจับมือใครดมไม่ได้ เพราะมันเป็นโลกที่เราอาจจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ"
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งและศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ปัญหาโลก (ออนไลน์) เเตก การคุกคามทางเพศบนโซเชียลมีเดีย" จัดโดยกลุ่มนิติวิชาการ - Law TU Academic Assistance Center เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต
ระหว่างพูดคุยในวงเสวนา รศ.ดร.มาตาลักษณ์ มองว่า การคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริง กลายเป็น 'นิวนอร์มัล' หรือวิถีใหม่ ต่างจากการคุกคามทางเพศแบบดั้งเดิมที่เป็นการคุกคามทางตรง ซึ่งอยู่ในวงจำกัดมากกว่า ทั้งสถานที่กระทำ หรือจำนวนผู้คนที่จะกระทำ โดยมีการยกตัวอย่าง 'สามแยกปากสุนัข' ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่หากผู้ถูกกระทำทราบจุดที่ชัดเจน ก็ยังพอจะหลีกเลี่ยงได้ ต่างจากการคุกคามทางเพศออนไลน์ที่การส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกกระทำเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก
ขณะที่ 'เคท ครั้งพิบูลย์' อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการคุกคามทางเพศโดยทั่วไป 'ผู้ถูกกระทำ' มักเป็นคนที่มีฐานอำนาจที่น้อยกว่า ถูกต่อรองในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายกว่า โดยมีสาเหตุจากทั้งเรื่องความแตกต่างทางด้านเพศ ด้านเศรษฐสังคม ทั้งฐานะ วัย ชนชั้น ความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ความหลากหลาย เช่น การใช้ภาษาที่แตกต่างกัน หรือการมีฐานวัฒนธรรมหรือความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งผู้ถูกกระทำได้ง่าย เรียกได้ว่าเป็น 'กลุ่มเปราะบาง'
การคุกคามโดยอาศัยอำนาจหรือสถานะที่เหนือกว่า เกิดขึ้นกับการคุกคามออนไลน์เช่นเดียวกัน โดยอาจารย์เคทระบุว่า หากผู้กระทำทราบว่าผู้ที่ถูกกระทำเป็นใคร มีสถานะทางสังคมแบบไหน มีตัวตนในการแสดงออกแบบไหน พูดภาษาอะไร หรือมีชนชั้นทางสังคมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการคุกคามออนไลน์ได้ไม่ต่างจากการคุกคามทางตรงหรือโลกออฟไลน์
เรื่องซับซ้อนในการตีความ 'คุกคามทางเพศ'
'สิรินทร์ มุ่งเจริญ' หรือ 'เฟลอร์' รองประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวจากมุมมองของคนธรรมดาที่เคยถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ โดยระบุว่าถ้าหากจะแบ่งให้คนฟังเข้าใจง่ายๆ ก็ต้องแบ่งการคุกคามทางเพศเป็น 'ทางตรง' กับ 'ทางอ้อม'
การคุกคามทางเพศโดยตรง อาจเป็นความรุนแรงโดยตรง เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน การใช้คำพูดตรงไปตรงมา เช่น อยากทำอะไรกับคุณ โดยเป็นการพูดซึ่งหน้า สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายให้คนในสังคมเข้าใจได้โดยง่ายว่าการกระทำที่ว่ามาคือการคุกคามทางเพศ สังคมมีบรรทัดฐานร่วมกันอยู่แล้วว่า การกระทำแบบนี้ 'ไม่โอเค' หรือไม่ก็ 'ผิดกฎหมาย'
ขณะที่การคุกคามทางเพศทางอ้อม มีความซับซ้อนตรงที่ผู้ถูกกระทำต้องอธิบายความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร และอาจต้องตีความร่วมกับผู้อื่น เพราะการคุกคามทางอ้อมอาจมาในรูปแบบของการพูดชม เช่น การคุกคามในโลกออนไลน์ที่มาจากการคอมเมนต์รูปภาพที่มีนัยบางอย่าง หรือการนำรูปบุคคลไปตัดต่อ โดยผู้กระทำกล่าวว่าไม่ได้มีเจตนาคุกคาม และที่ทำลงไปคือการชมเชย แต่ก็อาจเข้าข่ายการคุกคามทางอ้อมเช่นกัน
"(การคุกคามทางอ้อม) มีความเป็นเส้นเบลอกันอยู่ว่าเราต้องรู้สึกแย่ไหม เราคิดไปเองหรือเปล่า เช่น การถูกมองในรถบีทีเอส เราก็ทำอะไรไม่ได้ เขามองเราแล้วเราจะไปทำอะไรได้ แต่ว่าสมมติเราโดนมองโดนจ้องมากๆ เราก็รู้สึกไม่สบายใจ...แต่คนที่เราไปเล่าให้ฟัง เขาไม่ได้โดนเอง เขาจะรู้สึกไหมว่าเป็นการคุกคาม หรือจะบอกว่า เอ๊ะ คิดไปเองหรือเปล่า"
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ระบุว่าในทางกฎหมาย ไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดที่เป็นความรู้สึกแบบปัจเจกบุคคลทุกคนได้ แต่ต้องใช้กรอบของวิญญูชน เพราะฉะนั้นในกรอบของกฎหมาย อาจจะยังไม่สามารถนิยามการคุกคามทางเพศที่เฉพาะเจาะจงไปได้ แต่ให้พิจารณาบนหลักของการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในเรื่องทางเพศ "ที่วิญญูชนทั่วไปพึงรู้สึกได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม"
"ในทางกฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่มีคนมาทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องสูญเสียสิทธิและเสรีภาพที่เราพึงมีตามปกติได้ มันก็เข้าข่ายการคุกคาม ทีนี้พอเรื่องนี้บวกเข้าไปกับเรื่องทางเพศ ก็แปลว่ามันเป็นการทำให้เรารู้สึกถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในเรื่องทางเพศ"
"ปัจจุบันมีความพยายามที่จะตีความว่า การคุกคามทางเพศ มันคือการคุกคามในลักษณะทางเพศสภาพด้วย เพราะฉะนั้น การที่เขาจะมีเพศสภาพอย่างไรก็ตาม แล้วเราไปทำให้เขามีความรู้สึกว่ามันถูกกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ มันก็จะเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นกัน"
ปรากฏการณ์ ห อ ม - กระตุกให้สังคมต้องมองมุมใหม่
วงเสวนาได้พูดถึงกรณีโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์การใช้คำว่า 'ห อ ม' และ 'ข อ บ คุ ณ ค รั บ' ของผู้ชายบางกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นต่อผู้หญิง จนเกิดเป็นข้อถกเถียงตีความว่าคำนี้หมายถึงอะไรและมีนัยทางเพศหรือไม่ เพราะผู้ใช้คำนี้ในโลกออนไลน์จำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการชมโดยบริสุทธิ์ใจ แต่ก็มีคนจำนวนมากรู้สึกว่าคำนี้มีนัยคุกคามทางเพศ
สิรินทร์ กล่าวถึงกรณีคำว่า ห อ ม โดยระบุว่า ต่อให้คนทำไม่รู้ตัว แต่คนที่ถูกกระทำก็รู้สึกไม่ดีไปแล้ว จึงไม่ควรพยายามปกป้องว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจ และเธอพยายามเรียกร้องให้สังคมมีบรรทัดฐานที่จะไม่ใช้ถ้อยคำหรือการกระทำที่ทำให้คนรู้สึกว่าถูกคุกคาม
ขณะที่ 'เคท' กล่าวถึงการคุกคามทางเพศเพิ่มเติมในแง่สังคมสงเคราะห์ โดยระบุว่าต้องมองถึงการปฏิบัติในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ เพราะการกระทำที่ไม่ดีต่อกัน สามารถส่งผลกระทบทางจิตใจได้เช่นกัน แม้จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ก็ทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบและเจ็บปวด เมื่อใดผู้ถูกกระทำไม่สามารถทำอะไรบางอย่างที่เคยทำได้ เช่น ไม่สามารถยิ้มได้ทุกวันอย่างที่เคย ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบแล้ว
นอกจากนี้ พัฒนาการของการใช้ถ้อยคำเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างบุคคล ดังนั้น ภาษาหรือคำที่เกี่ยวข้องกับเพศจึงมักจะถูกเลี่ยงไปใช้คำอื่นๆ แทน เพื่อให้สามารถพูดในที่สาธารณะได้ โดยอาจารย์เคทยกตัวอย่างการพูดว่า "ไพลินชอบกินกล้วย" อาจตีความไปถึงอวัยวะเพศชายได้
ส่วน รศ.ดร.มาตาลักษณ์ มองว่า กรณี ห อ ม ถือเป็น 'งานยาก' เพราะผลกระทบจากการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะด้วยการกระทำ วาจา กิริยาท่าทาง ภาพและอักษรที่สื่อสารออกมา หากมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจ และคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เข้าใจ ก็พิจารณาได้ยากว่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่
การพิจารณาว่าสิ่งที่สื่อสารผ่านโลกออนไลน์เป็นการคุกคามทางเพศและเอาผิดทางกฏหมายได้หรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็น general ว่าการสื่อสารนั้นทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้หรือไม่ว่าสิ่งที่พูดเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือเป็นการกระทำที่มีลักษณะละเมิดสิทธิ หากมีการนิยาม จนเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าถ้ามีคนพูดถึงในแง่นี้แล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ แม้ว่าผู้พูดจะบอกว่าเป็นคำชม ก็อาจถือว่าเกิดผลกระทบขึ้นแล้ว
"ถ้าเป็นกฎหมายอาญา เราจะต้องดูว่าผลกระทบเกิดขึ้นไหม ผลกระทบคืออะไร ที่เราพูดกันเรื่องของการคุกคามทางเพศกระทบต่อความรู้สึก เป็นความยาก เพราะกฎหมายอาญาไม่ตระหนักถึงเรื่องความรู้สึกเลยในทางปกติ เราดูแต่ความเสียหายที่เกิดทางรูปธรรม หรือเห็นได้ประจักษ์"
"แต่ไม่ใช่ว่าพูดอย่างนี้จะไม่คุ้มครองนะคะ เราต้องมีเกณฑ์ว่าจะคุ้มครองความรู้สึกในระดับไหน อย่างไร เพราะกฎหมายหลายฉบับก็ขยับไปคุ้มครองเรื่องความรู้สึกกันแล้ว เช่น กรณีความรุนแรงในครอบครัว เราพูดไปถึงการกระทำบางอย่างที่กระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้เรารู้สึกไม่โอเค ไม่สบายใจกันแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้เมื่อเทียบกับการคุกคามทางเพศ ต้องพยายามวางมาตรฐานว่ามันกระทบต่อความรู้สึกของวิญญูชน ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล"
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ ย้ำว่า กฎหมายอาญาจะลงโทษก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำโดยเจตนา ยกเว้นกรณี 'ประมาท' แต่การคุกคามทางเพศ "คงไม่มีใครประมาท" เพราะเป็นเรื่องเจตนาอยู่แล้ว
"ถ้าขาดเจตนา ทางอาญาไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าหยุดแค่ทฤษฎีเราคงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ และนี่เป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ จึงขอนำเสนอจากเรื่องเมื่อกี้ แม้ขาดเจตนาจะไม่ผิด แต่สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างวิธีคิดให้ผู้กระทำนี่แหละ ต้องทำให้เขารู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรควรพูด ไม่ควรพูด... เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่กระทำโดยบอกว่าไม่ได้เจตนาหรือกระทำโดยคึกคะนอง หรือพูดไปไม่ได้คิดถึงคนอื่น มันจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรกับใครบ้าง"