Skip to main content

แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ หรือ 'ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์' นักร้อง-นักดนตรีที่ผันตัวมาทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊กของวง The Bottom Blues ช่วงบ่ายของวันที่ 7 มิ.ย.2564 ว่าบทเพลง 12345 I Love You ผลงานของวงที่ออกมาตั้งแต่ปี 2553 ถูกแจ้งข้อหาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า 12345 I Love You เป็น "เพลงป็อปเพลงแรกที่โดน 112" โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าระหว่างที่แอมมี่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตำรวจได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องผิดมาตรา 112 และเขาจะไปรายงานตัวกับอัยการธัญบุรีในวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 10:30 น. โดยข้อความดังกล่าวมีผู้แชร์ผ่านเฟซบุ๊กไปกว่า 4,400 ครั้งหลังโพสต์ได้ราว 3 ชั่วโมง

จนกระทั่งเวลา 21:20 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า "มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 นักกิจกรรมและประชาชนรวมตัวกันที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว “นิว" สิริชัย นาถึง ที่ถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดี 112 จากการพ่นสีข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์และป้าย ซึ่งจะถูกนำตัวมาฝากขังต่อศาล โดยกลุ่มนักกิจกรรมและประชาชนได้จัดกิจกรรมปราศรัย รวมทั้งร้องเพลง

ต่อมา ตำรวจ สภ.ธัญบุรี ได้ออกหมายเรียก "ฟ้า" พรหมศร วีระธรรมจารี และ "แอมมี่" ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ในข้อหาตามมาตรา 112 กล่าวหาว่า ทั้งสองร้องเพลงที่มีการดัดแปลงเนื้อเพลงให้มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์"

บทเพลงวิจารณ์สถาบันที่ไม่ถูกฟ้องก็มีเหมือนกัน 

กรณีของแอมมี่ไม่ใช่ศิลปินรายแรกที่ถูกแจ้งข้อหาหรือดำเนินคดีจากการเผยแพร่ผลงาน เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีศิลปินถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อนแล้วในต่างประเทศ นำไปสู่การจับกุมคุมขัง และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาคัดค้าน โดยระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

คดีดังกล่าวคือกรณีของ 'ปาโบล อาเซล' แร็ปเปอร์ชาวกาตาลันซึ่งถูกจับกุมและคุมขังเมื่อเดือน ก.พ.จากการแต่งและเผยแพร่เพลงแร็ปในวงการดนตรีใต้ดิน วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์แห่งสเปนว่าเป็น ‘กลุ่มอิทธิพล’ 

การจับกุมปาโบลนำไปสู่การประท้วงและก่อจลาจลในหลายพื้นที่ทั่วสเปน เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากมองว่าการร้องเพลงเสียดสีและวิจารณ์สถาบันของปาโบลเป็นสิ่งที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีคนในวงการบันเทิงอีกเป็นจำนวนมากล่ารายชื่อเรียกร้องให้ทางการสเปนปล่อยตัวปาโบล 

อย่างไรก็ตาม กรณีของแอมมี่ถือว่าแตกต่างกัน เพราะเพลง 12345 I Love You ไม่ได้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกับผลงานของปาโบล แต่เป็นเพียงบทเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและถูกนำไปใช้ในการประท้วงรัฐบาล รวมถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา 

ส่วนบทเพลงที่โด่งดังข้ามกาลเวลาในฐานะผลงานดนตรีวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ได้แก่ God Save the Queen ของวงพังก์ร็อกอังกฤษ Sex Pistols ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงโดยตรงถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (ควีนเอลิซาเบธที่ 2) 

เพลง God Save the Queen ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 27 พ.ค.2520 ไล่เลี่ยกับช่วงที่สหราชอาณาจักรเตรียมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้เพลงนี้ถูกห้ามเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะแห่งชาติบีบีซีในช่วงแรก ทั้งยังถูกวิจารณ์จากกลุ่มผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและรอยัลลิสต์ว่าเป็นเพลงที่ 'น่ารังเกียจ'

ในตอนแรกเพลงนี้ถูกตั้งชื่อว่า No Future ก่อนจะกลายมาเป็น God Save the Queen ที่ล้อเลียนเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งใช้ชื่อเดียวกัน แต่ไม่มีใครถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเพลงนี้ และในปี 2546 นิตยสารดนตรี Rolling Stone จัดให้เพลงนี้อยู่ในอันดับที่ 175 จาก 500 บทเพลงยอดเยี่ยมตลอดกาล

{"preview_thumbnail":"/sites/default/files/styles/video_embed_wysiwyg_preview/public/video_thumbnails/yqrAPOZxgzU.jpg?itok=Sjg7nSjX","video_url":"https://youtu.be/yqrAPOZxgzU","settings":{"responsive":1,"width":"854","height":"480","autoplay":1},"settings_summary":["Embedded Video (Responsive, autoplaying)."]}