Skip to main content

สรุป

  • ทวีตและเนื้อเพลงเป็นสาเหตุให้แร็ปเปอร์ ‘ปาโบล อาเซล’ ถูกจับ
  • ตำรวจสเปนตั้งข้อหา “เชิดชูการก่อการร้าย” และ ‘ดูหมิ่นกษัตริย์’
  • ศิลปิน-นักแสดง-ผู้กำกับภาพยนตร์ดัง ลงชื่อหนุน ‘ปล่อยแร็ปเปอร์’
  • การชุมนุมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วสเปน ก่อนจะกลายเป็นจลาจล
  • รัฐบาลสเปนถูกกดดันให้ทบทวนกฎหมายควบคุมการแสดงออก

::: กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการจลาจลสเปน 2564:::

ในขณะที่ประชาชนในเมียนมาและไทยลงถนนชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เวลาไล่เลี่ยกันก็มีการชุมนุมในหลายพื้นที่ของแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน เพื่อต่อต้านการลงโทษจำคุก ‘ปาโบล รีวาดูญา’ แร็ปเปอร์ชาวกาตาลันผู้ใช้นามแฝงว่า ‘ปาโบล อาเซล’ และเป็นที่รู้จักในกลุ่มศิลปินใต้ดินในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งเขาเปรียบเป็น ‘กลุ่มอิทธิพล’ ในสเปน

การชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวปาโปลเริ่มขึ้นหลังจากที่เขาถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมในมหาวิทยาลัยเยย์ดา เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2564 โดยผู้ที่ออกมาคัดค้านการจับปาโบลมองว่าการแสดงออกซึ่งความรู้สึกและความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจ เป็นสิทธิเสรีภาพที่กระทำได้

ผู้ชุมนุมรวมตัวอย่างสงบในหลายเมือง ทั้งบาร์เซโลนา เยย์ดา ซาบาเดล แตร์ราโกญา จนกระทั่งตำรวจใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และระเบิดเสียงสลายการชุมนุมช่วงค่ำวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้ผู้ประท้วงที่ขว้างปาสิ่งของ จุดประทัด จุดไฟเผารถและถังขยะ

เหตุการณ์บานปลายเป็นการจลาจลและทรัพย์สินสาธารณะบางส่วนถูกทำลาย มีผู้ถูกจับกุม 33 ราย และผู้บาดเจ็บ 69 ราย โดยรายหนึ่งตาบอดหนึ่งข้างเพราะโดนกระสุนยาง และผู้ที่ต่อต้านการจับกุมปาโบลไม่ได้เคลื่อนไหวแค่บนถนน แต่รวมถึงศิลปินกราฟฟิตีที่ออกมาพ่นสีสเปรย์เป็นภาพปาโบลเพื่อสนับสนุนให้ปล่อยตัวเขาอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายศิลปินแขนงอื่นๆ กว่า 200 คนที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวปาโบล รวมถึงบุคคลดังระดับโลกอย่าง ‘เปโดร อัลโมโดวาร์’ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวสเปนที่เคยได้รางวัลออสการ์ 2 สาขา จากผลงานเรื่อง All about My Mother และ Talk To Her และ ‘ฆาเบียร์ บาเด็ม’ นักแสดงชายเจ้าของรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจากเรื่อง No Country for Old Men

::: รัฐบาลสเปนรับปากจะพิจารณาทบทวนกฎหมายคุมการแสดงออก :::

Catalan News รายงานว่า ปาโบลทวีตข้อความและเผยแพร่เพลงแร็ปในยูทูบช่วงปี 2557-2559 และมีข้อความบางตอนที่ถูกตีความตามกฎหมายความมั่นคงของสเปนว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น และสื่อเสรีนิยมเรียกกฎหมายนี้ว่า ‘กฎหมายปิดปาก’ เพราะถูกบังคับใช้เมื่อปี 2558 ในสมัยอดีตรัฐบาลฝ่ายขวา และ ABC News รายงานว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้ราว 70 คนแล้ว

ส่วนข้อกล่าวหาที่ตำรวจใช้ในการจับกุมปาโบล ได้แก่ ‘เชิดชูการก่อการร้าย’ จากกรณีที่เขาทวีตข้อความถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบาสก์ในอดีต โดยระบุว่า เขาเป็นพวกเดียวกับทุกคนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ และเปรียบเทียบผู้พิพากษาเป็นเหมือนนาซี ส่วนข้อหา ‘ดูหมิ่นกษัตริย์’ มาจากการที่เขาแร็ปเพลงเปรียบเทียบสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลส ที่ 1 อดีตกษัตริย์สเปนว่าเป็น ‘มาเฟีย’

ปาโบลมีประวัติถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง โดยปี 2559 เขาถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายนักข่าว แต่ศาลยกฟ้อง และในปี 2560 ถูกจับในข้อหาบุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาจากการชุมนุมสนับสนุนผลการลงประชามติแบ่งแยกแคว้นกาตาลุญญาออกจากสเปน

ส่วนคดีล่าสุดที่เกิดจากการทวีตข้อความและแร็ปวิจารณ์อำนาจรัฐ-สถาบันกษัตริย์ ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 1 วัน เมื่อปี 2561 แต่พอถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ได้รับการลดโทษเหลือ 9 เดือน 1 วัน จนกระทั่งคดีความมาถึงชั้นศาลฎีกาในปี 2563 มีพิพากษายืนคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ และเงื่อนไขให้เขารายงานตัวเข้ารับโทษโดยสมัครใจในเดือน ก.พ. แต่ปาโบลหนีไปซ่อนตัวในมหาวิทยาลัยเยย์ดาพร้อมกับกลุ่มผู้สนับสนุน ตำรวจจึงบุกเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

ปาโบลได้ประกาศก่อนถูกตำรวจนำตัวไปคุมขังว่า “พวกเขาทำให้เราเงียบไม่ได้ และห้ามความคิดเราไม่ได้” หลังจากนั้นก็เกิดการชุมนุมต่อต้านการคุมขังปาโบลต่อเนื่องอีกสามวัน ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เรียกร้องให้รัฐบาลสเปนทบทวนการใช้กฎหมายลงโทษผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งโฆษกรัฐบาลกลางสเปนระบุว่า จะพิจารณาปรับแก้กฎหมาย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลกลางสเปนจะรักษาคำพูดหรือไม่

::: รู้จักกษัตริย์ฆวน การ์โลส ผู้ทรงถูกแร็ปเปอร์วิพากษ์วิจารณ์ :::

สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลส ที่ 1 แห่งสเปน ทรงได้รับการยกย่องในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงประณามการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2524 ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ล้มเหลว และทรงครองราชย์ยาวนานตั้งแต่ปี 2518 จนกระทั่งสละราชสมบัติในปี 2557 และสมเด็จพระราชาธิบดี เฟลิเปที่ 6 พระโอรสของพระองค์ ขึ้นครองราชย์แทน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กษัตริย์ฆวน การ์โลส ที่ 1 ทรงตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน โดยเริ่มจากภาพที่พระองค์เสด็จไปล่าช้างที่บอตสวานาหลุดออกสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะเป็นกีฬาที่มีต้นทุนสูงแล้ว ยังเป็นการยิงสัตว์ใหญ่ที่สมควรอนุรักษ์ด้วย

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันในคดีทุจริตคอร์รัปชัน เอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทเอกชนสเปนให้ชนะได้สัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศซาอุดีอาระเบีย และพระองค์ยังทรงได้รับเงินจำนวนมหาศาลที่ไม่อาจระบุแหล่งที่มาได้

ภาพลักษณ์ของพระองค์และสมาชิกราชวงศ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และในเดือน ส.ค.2563 สื่อสเปนรายงานว่ากษัตริย์ ฆวน การ์โลส ได้เสด็จออกนอกประเทศไปแล้ว และสำนักพระราชวังไม่ให้ข้อมูลว่าพระองค์เสด็จไปประทับที่ใด

ภาพ: Jove/ CC BY-SA 4.0