ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่เสียชีวิตมีส่วนหนึ่งยังไม่ได้เข้ารับการรักษา แต่อยู่ระหว่างกระบวนการติดต่อรอรับไปโรงพยาบาล ล่าสุดทาง กทม.ได้เพิ่มประสิทธิภาพจัดการผู้ป่วยตกค้างให้เข้าสู่ระบบการรักษาให้รวดเร็วที่สุด
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า มีปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ตกค้างที่รอเข้ารับเข้าสู่ระบบการรักษากว่า 500 ราย โดยกรุงเทพมหานครเพิ่มศักยภาพและเร่งดำเนินการรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลจนเหลือผู้ป่วยตกค้าง 37 ราย และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรับผู้ป่วยรายใหม่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลให้รวดเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถรับผู้ป่วยได้ไม่น้อยกว่า 250 รายต่อวัน
ขณะที่ 'ศูนย์เอราวัณ' มีการเพิ่มจำนวนคู่สายของสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 เพิ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. ให้มากขึ้น ปรับปรุงระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติขณะประชาชนรอสาย รวมถึงการจัดระบบการรับสายใหม่ โดยพร้อมให้ประชาชนแจ้งเฉพาะชื่อและเบอร์ติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกลับ คาดว่าจะลดระยะเวลาการรอคอยของประชาชน แต่ กทม.ย้ำว่าเมื่อโทรติดแล้ว ขอให้รอจนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่รับสาย หากวางสายและโทรอีกครั้งจะต้องเข้าระบบคิวใหม่อีกครั้ง
ส่วนสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต 50 เขต จัดรถสำหรับรับ-ส่งผู้ป่วย เขตละ 1 คัน รวม 50 คัน เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานของรถพยาบาลศูนย์เอราวัณซึ่งมีประมาณ 20 คัน รถของทหารและมูลนิธิต่าง ๆ 15 คัน รวมรถรับ-ส่งผู้ป่วยทั้งสิ้น 85 คัน ทำให้ที่ผ่านมาสามารถรับส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แผนดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตระหว่างการรอส่งตัวเข้ารับการรักษาหลายเคส
22 เม.ย. - ญาติของผู้ป่วยโควิด-19 โพสต์ขอความช่วยเหลือผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict โดยข้อความระบุว่า บ้านหลังหนึ่งในเขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยโควิด เป็นผู้สูงอายุ 6 คน ก่อนหน้านี้มีรถพยาบาลมารับไปแล้ว 3 คน ส่วนอีก 3 คน เจ้าหน้าที่ให้รักษาตัวที่บ้านระหว่างรอเตียงในโรงพยาบาล และเพจ Drama-addict แจ้งความคืบหน้าว่า หญิงอายุ 85 ปี เสียชีวิตแล้วภายในบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปรับศพแล้ว ส่วนผู้ป่วยสูงวัยอีก 2 คน ยังคงรอรถพยาบาลมารับตัวไปรักษา
24 เม.ย. - กุลทรัพย์ วัฒนผล เกมเมอร์ชื่อดัง ไลฟ์เฟซบุ๊ก บอกเล่าอาการป่วยของตัวเอง และสงสัยว่าจะติดโควิด เนื่องจากไปอยู่ใกล้ผู้ป่วยรายหนึ่งเมื่อวันที่ 20 เม.ย. พร้อมเปิดเผยว่ากักตัวอยู่บ้านนานกว่า 5 วัน แต่ไม่สามารถติดต่อโรงพยาบาลในพื้นที่ได้ และสายด่วนไม่รับสาย โดยเขาระบุว่ามีอาการแสบคอ ตัวร้อน เดินไม่ไหว อยากให้คนที่รู้จักในเฟซบุ๊กที่พอรู้ช่องทางและสามารถพาไปตรวจ ก่อนจะมีการโพสต์เฟซบุ๊กในเวลาต่อมาว่าได้รับการนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กของเขาได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของเจ้าตัว โดยมีผู้โพสต์แทน ระบุว่า "พี่เขาไปสบายเเล้วนะคะ ก่อนไป ICU มันเพิ่งหันหน้ามาถามว่าอยู่คนเดียวเหงาไหม เดี๋ยวกูรีบกลับมา เเต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาเเล้ว เขาไม่อยากตาย เขาโทรหาหน่วยงานทุกหน่วยเพื่อให้ได้รอดชีวิต เพราะเหนื่อยมาก เเล้วก็ที่ตรวจโควิดเเถวบ้านไม่มี มีก็ไกลเลย"
25 เม.ย. - ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pon Ng โพสต์ สรุปว่า "แม่ผมเสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 16.00 ของวันที่ 24 เมษายน 2564 แต่การเสียชีวิตของแม่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ติดมาจากสถานดูแลคนชราที่แม่ถูกดูแลอยู่ อยากให้เรื่องการเสียชีวิตของแม่ เป็นกรณีศึกษา ที่จะส่งเสียงไปยังหน่วยงานภาครัฐ และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ได้มองเห็นปัญหาแบบนี้อย่างจริงจัง และรีบลงมือแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน เพื่อหาทางช่วยให้ครอบครัวอื่นๆ ไม่ต้องเจอกับความสูญเสียอันน่าสิ้นหวังอย่างที่เจอ"
พร้อมกันนี้ยังวิพากษ์การจัดการเรื่องโรคระบาดของโควิด-19 และข้อมูลจากรัฐว่า "เป็นเรื่องที่ไร้สาระ และไม่เป็นจริงอย่างที่สุด" เพราะ "ระบบการจัดการตั้งแต่การรับแจ้ง ไปจนถึงการรับตัวผู้ติดเชื้อเพื่อไปรักษายังโรงพยาบาล เป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและสมบูรณ์แบบที่สุด"
ข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ทุกหมายเลขที่ติดต่อไปตอบว่าไม่มีเตียง และไม่รู้ว่า คนไข้สถานะไหนควรได้เตียงก่อนหรือหลังอย่างไร พร้อมเรียกร้องให้รัฐยอมรับว่าเตียงไม่พอ และต้องหาวิธีการจัดการว่าจะทำการรักษาอย่างไรในทางปฎิบัติ และเมื่อผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ต้องมีผู้ประสานงานที่ชัดเจน ที่สามารถจัดการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลที่เหมาะสม หรือโยกย้ายผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบได้ทันที ตามความหนักเบาของอาการของผู้ได้รับเชื้อ เพราะมีหลายกรณีในข่าวที่มีผู้ติดเชื้อแล้วยังต้องรอการติดต่อมาจากโรงพยาบาล หรืออย่างแม่ของผู้โพสต์ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะปอดและระบบการหายใจไม่ดี จนถึงขั้นอาการทรุดหนักแล้ว แต่ก็ไม่มีการรับตัว จนแม่ต้องเสียชีวิตก่อนได้รับการช่วยเหลือ