Skip to main content

อาเซียนเตรียมจัดการประชุมผู้นำ 10 ประเทศสมาชิกที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียนในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา หลังเกิดการรัฐประหารและปราบปรามผู้ประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 700 คน โดยการประชุมครั้งนี้มีการเชิญพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาและหัวหน้าคณะรัฐประหาร
 
ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารเมียนมาแสดงความไม่พอใจอย่างมากที่อาเซียนเชิญคนที่ยึดอำนาจไปจากรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายไม่ให้ผู้นำประเทศที่ชอบธรรมของเมียนมา
 
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชียแสดงความเห็นว่า “มินอ่องหล่าย ที่ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติเพราะความเลวร้ายที่ทหารทำและการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ไม่ได้รับการต้อนรับจากการประชุมระหว่างผู้นำประเทศที่จะหารือกันเรื่องวิกฤตที่ตัวเขาก่อ” 
 
อดัมส์กล่าวต่อว่า “สมาชิกอาเซียนควรใช้โอกาสนี้ในการออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจผู้นำการรัฐประหารและธุรกิจที่ให้ทุนคณะรัฐประหาร รวมถึงกดดันคณะรัฐประหารปล่อยตัวนักโทษการเมือง ยุติการละเมิด และฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย”
 
ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยเมียนมามองว่า อาเซียนควรเชิญตัวแทนจาก "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" ที่ส.ส.พรรคเอ็นแอลดีตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาลคู่ขนาน ไปเป็นตัวแทนเมียนมา หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทบางอย่างในการประชุมครั้งนี้ แต่พวกเขากลับไม่ได้รับเชิญเลย
 
ด้านอีวาน ลักษมานา นักวิจับจากศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาของอินโดนีเซียกล่าวว่า การเชิญมินอ่องหล่ายมาคุยกันต่อหน้ามีเหตุผลที่เหมาะสม อาเซียนตระหนักว่ากองทัพเป็นฝ่ายที่กระทำความรุนแรง จึงเป็นเหตุที่กองทัพเมียนมาถูกเรียกไปประชุม “นี่ไม่ใช่การสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารแต่อย่างใด” และอาเซียนก็หวังว่าจะวางกรอบเวลาการทำงาน เริ่มจากการยุติความรุนแรง และหวังว่าจะช่วงให้เกิด “การเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ใช่แต่รัฐบาลกองทัพ”


อาเซียนเสียงแตก


สมาชิกอาเซียนมีความเห็นที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทำให้หลายคนคาดว่าการประชุมครั้งนี้อาจไม่มีบทสรุปอะไร เนื่องจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์เชื่อว่าการไม่มีเสถียรภาพที่เกิดจากการรัฐประหารเมียนมากระทบต่อทั้งภูมิภาค รวมถึงความน่าเชื่อถือของอาเซียนด้วย อีกทั้งกฎบัตรอาเซียนก็ยังระบุถึงหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาลและนิติรัฐ
 
ขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักการเหล่านี้นัก และยังมองว่าไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยและโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ต่างประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม แต่จะส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปแทน เพราะต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด
 
ลักษมานาแสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกในการประชุมระดับผู้นำประเทศ โดยที่มีผู้นำประเทศร่วมประชุมไม่ครบ “โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีไทย ที่เราเชื่อว่ามีความสัมพันธ์สนิทแนบแน่นที่สุดกับพลเอกอาวุโสของเมียนมา”