ตลอดปี 2565 นอกจากข่าวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหลอกเงินประชาชนไปหลายล้านแล้ว ยังมีข่าวผู้เสียหายรวมตัวกันร้องเรียนเจ้าหน้าที่ว่าถูกแม่ข่าย-พ่อข่าย หลอกนำเงินไปลงทุนหุ้นบ้าง คริปโตบ้าง บ้านออมทองออมเงินบ้าง ซึ่งคนที่รวยก็คือบรรดาพ่อข่ายแม่ข่าย ไม่ใช่คนที่นำเงินไปลงทุน และครึ่งปีหลังของ 2565 ก็มีข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่เว้นเดือนเลย
- ธ.ค. 2565
วันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อเฟซบุ๊ก "เฟื่องโกลด์ ดังออมทอง ขายทองออนไลน์" ที่รวมตัวกันไปแจ้งความกับตำรวจกองปราบฯ หลังถูกร้านทองชื่อดังใน อ.เมืองสระบุรี ออกอุบายนำเงินมาร่วมลงทุนออมทองสร้างความเสียหายกว่า 700 ล้านบาท โดยเพจดังกล่าว โพสต์ข้อความลักษณะเชิญชวนให้นำเงินไปร่วมลงทุนออมทองได้ค่าตอบแทนสูง เช่น ลงทุนระยะสั้น 23,000 บาท ครบ 1 เดือน จะได้รับทองคำหนัก 1 บาท นอกจากนี้ยังชักชวนให้เป็นตัวแทนหาสมาชิกมาร่วมลงทุนอีก ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งค่าตอบแทน 300 บาทต่อการลงทุนทองคำ 1 บาท โดยช่วงแรกได้รับทองคำหรือค่าตอบแทนจริง กระทั่งเดือน พ.ย. 2565 ร้านเริ่มไม่จ่ายค่าตอบแทน รวมทั้งส่งมอบทองคำให้กับผู้ลงทุน เมื่อสอบถามก็บ่ายเบี่ยง พร้อมนัดหมายคืนเงินลงทุนแต่สุดท้ายกลับเงียบหายติดต่อไม่ได้
ส่วนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการจับกุมน้องมายด์ เน็ตไอดอล ที่ออกอุบายผ่านเฟซบุ๊กชวนระดมเงินลงทุนซื้อขายทองคำก่อนเชิดเงินหนี ความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ PCT กับตำรวจจังหวัดสงขลา ที่นำกำลังติดตามจับกุม วรัญรภัสส์ หรือ มายด์ ที่ จ.สงขลา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ ที่ 2694/2565 ลงวันที่ 2 ธ.ค.65 ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้อื่น หรือประชาชน จับกุมตัวได้ย่านถนนประชาราษฎร์ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
โดยเรื่องเกิดเมื่อปี 2561 มายด์ วรัญรภัสส์ กับพวกร่วมกันหลอกลวงประชาชน ด้วยการตระเวนโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ชักชวนให้คนทั่วไปมาร่วมลงทุนซื้อขายทองคำแท่ง กล่าวอ้างว่ามีทองคำแท่งราคา ต่ำกว่าท้องตลาด มีการขายเอากำไรเป็นทอดๆ ช่วงแรก ได้กำไรจากเงินส่วนต่างจริง จากนั้นเมื่อผู้เสียหายเกิดความเชื่อใจ จึงใช้อุบายหลอกลวงเพื่อให้ผู้เสียหายระดมเงินมาลงทุนก้อนใหญ่ ก่อนเชิดเงินหนีรวมความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท คดีนี้มีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีไว้หลายแห่งทั่วประเทศ
- พ.ย. 2565
เมื่อ 30 พ.ย. กองบังคับการปราบปราม เข้าจับกุม พัชรีภรณ์ อายุ 24 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดเลย ที่ 233/2565 ลง 26 ต.ค. 2565 ข้อหา “ร่วมกันกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยการหลอกลวงจากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ” ได้ที่ บริเวณคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2562 พัชรีภรณ์ ผู้ต้องหารายนี้ได้มีพฤติกรรมตั้งตนเป็นเท้าแชร์รายใหญ่ ชักชวนผู้คนให้นำเงินมาร่วมลงทุน อ้างว่าได้รับค่าตอบแทนสูง ช่วงแรกมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้จริง ทำให้มีผู้หลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก จนมีเงินหมุนเวียนในวงแชร์รวมกว่า 30 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวงแชร์เริ่มมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น น.ส.พัชรีภรณ์ เกิดหมุนเงินไม่ทัน ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนให้กับสมาชิก จึงมีการเข้าแจ้งความตามท้องที่ต่างๆ กระทั่งมีการออกหมายจับและนำมาสู่การตามจับกุมตัวได้ดังกล่าว
4 พ.ย. กองปราบฯ นำกำลังเข้าจับกุม รัฐกรณ์ อายุ 30 ปี, รพีพรรณ อายุ 25 ปี, และรัชฎาภรณ์ อายุ 32 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ จ.2320-22/2565 ลงวันที่ 1 พ.ย.65 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และมีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จับได้บริเวณหมู่บ้านในพื้นที่ ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น
โดยปลายปี 2561 ทั้งหมดร่วมกันแอบอ้างกับผู้เสียหายว่าสนิทสนมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่และเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ใน จ.เลยและพื้นที่ใกล้เคียง มีโควตาลอตเตอรี่จำนวนมาก หลอกชักชวนผู้เสียหายร่วมลงทุนให้ผลตอบแทนใบละ 1-5 บาทต่องวด ช่วงแรกๆ ได้ส่วนแบ่งตามที่ตกลงกัน ผู้เสียหายเพิ่มวงเงินลงทุนมากขึ้น กระทั่งช่วงกลางเดือน ก.พ. 2565 ผู้เสียหายต้องการนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว แจ้งขอเงินลงทุนจากกลุ่มผู้ต้องหาคืน แต่ถูกบ่ายเบี่ยงจนมาสืบทราบภายหลังว่ากลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้เป็นยี่ปั๊ว ไม่มีโควตาลอตเตอรี่ตามที่กล่าวอ้าง จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ กก.3.บก.ป.ต่อมาศาลได้ออกหมายจับไว้ จนเจ้าหน้าที่ตามจับกุมได้ดังกล่าว
- ก.ย. 2565
วันที่ 2 ก.ย. 2565 กรณีที่มีผู้เสียหายได้รวบรวมหลักฐานเข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 5 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า ถูกกิติกร หรือ “เป้ Pminer” ซีอีโอ บริษัท P miner Cryptocurrency ชักชวนลงทุนคริปโต ซึ่งคาดว่ามีความเสียหายรวมมูลค่ากว่า 1,700 ล้านบาท ผู้เสียหายราว 500 คน หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) สนธิกำลังเข้าอายัดทรัพย์เจ้าของ ”P miner Cryptocurrency” ได้ข้อกลางเป็นรถหรูจำนวน 5 คัน คือ ลัมโบร์กินี 2 คัน BMW เฟอร์รารี่ เบนท์ลีย์ ยี่ห้อละ 1 คัน นอกจากนี้ยังพบนาฬิกาหรู โฉนดที่ดิน และได้อายัดบัญชีทั้งหมดเอาไว้แล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
- ส.ค. 2565
วันที่ 24 ส.ค. 2565 ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ พาผู้เสียหาย 30 คน เข้าพบ ร.ต.อ.อภิชัย ไชยสุภาพ รอง สว.(สอบสวน) กก.4 บก.ปอศ. เพื่อแจ้งความดำเนินคดียูทูบเบอร์ชื่อดัง อดีตนักร้อง หลังถูกหลอกลงทุนผ่านทางแอปพลิเคชัน รวมมูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท
ซึ่งผู้เสียหายกลุ่มนี้ มีการร้องเรียนเข้ามาบ่อยมากที่เฟซบุ๊กรายการโหนกระแส ว่าถูกยูทูบเบอร์ชื่อดังคนหนึ่งหลอกให้นำเงินไปร่วมลงทุนผ่านแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเทรดหุ้น ได้กำไรสูงในเวลาอันสั้น เช่น ผ่านไป 16 นาที กำไร 3,000 หรือ 15 นาที ก็สามารถปั่นกำไรไปถึงหลักแสนบาทได้ แต่เมื่อเหยื่อหลงเชื่อลงทุนไปแล้วกลับไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อขอเงินลงทุนคืนกลับถูกปฏิเสธ อ้างว่าถูกโบรกเกอร์โกงไปอีกทอดหนึ่ง ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อกว่า 6 พันคน มูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท บางรายลงทุนสูญเงินกว่า 18 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT เรียกประชุมด่วนคลี่คลายคดีหลอกลงทุนธุรกิจเกษตรฟาร์มเห็ด พบผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 1,867 ราย ความเสียหายกว่า 1,290 ล้าน เร่งทุกหน่วยสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี ประสาน ปปง.ติดตามยึดเงินคืนให้ผู้เสียหาย
กรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทธุรกิจฟาร์มเห็ดแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร หลอกชักชวนคนนำเงินมาลงทุนทำฟาร์มเห็ดในรูปแบบฝากเลี้ยงเห็ด คล้ายกับผู้ลงทุนเป็นเจ้าของโรงเพราะเห็ด ฟาร์มจะเป็นผู้ดูแลให้ โดยผู้ลงทุนแค่ออกเงิน ให้ผลตอบแทนสูง 18-30% ต่อเดือน มีการนำดาราผู้มีชื่อเสียงมาโฆษณาทำให้น่าเชื่อถือ ช่วงแรกมีการปันผลจริง แต่ต่อมาผิดนัดสัญญา เมื่อสอบถามทางบริษัทอ้างว่าธนาคารอายัดบัญชี จึงไม่สามารถจ่ายให้กับผู้ลงทุนได้ มีผู้เสียหายจำนวนมากทยอยเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสกลนคร, สอท., บก.ปอศ. และตำรวจพื้นที่ทั่วประเทศ
- ก.ค. 2565
1 ก.ค. 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. แถลงผลปฏิบัติการ “ตำรวจไซเบอร์เปิดยุทธการตัดวงจรความเสียหายขบวนการหลอกระดมทุน นอร์ทเทิร์น ลอว์เยอร์ (Northern Lawyer) โดยการชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนออนไลน์
สืบเนื่องจากตำรวจไซเบอร์สืบสวนทราบว่า บริษัท นอร์ทเทิร์น ลอว์เยอร์ จำกัด มีพฤติการณ์การโฆษณาชักชวนให้ประชาชนทั่วไปทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้มาสมัครสมาชิกในลักษณะการระดมทุน ซึ่งอ้างว่าจะนำเงินของสมาชิก ไปลงทุนต่างๆ เช่น ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency), ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือฟอเร็กซ์ (Forex), ซื้อขายทองคำ, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ซื้อขายรถยนต์มือสอง และค้าอัญมณี โดยจะให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 180 ต่อปี พบว่าเปิดดำเนินการมาได้ 11 เดือนแล้ว มีจัดสัมมนาชักชวนหาสมาชิกทุกสัปดาห์
'ชัยวุฒิ' เดินหน้า เร่งปิดช่องหลอกลงทุน-ระดมทุนออนไลน์ผิดกฎหมาย
ด้าน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งรัดแก้ไขอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับปัญหาฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางการเงิน เช่น หลอกลวงลงทุน แชร์ลูกโซ่ เป็นต้นโดยคนร้ายมีการปรับรูปแบบและวิธีการหลอกหลวงประชาชน จนมีเหยื่อหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก
ชัยวุฒิ ได้มอบหมายให้ เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดดีอีเอส ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในวันที่ 21 ต.ค. 2565 ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงลงทุนทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ และเชิญชวนให้ประชาชนลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเป็นจำนวนมาก พบการนำภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงมาใช้เพื่อในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนการลงทุนดังกล่าว โดยไม่ได้รับความยินยอม ส่งผลให้เกิดการหลอกลวง ฉ้อโกง สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในวงกว้าง
ที่ประชุมได้หารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยบูรณาการอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่ได้รับอนุญาต เว็บไซต์หลอกลงทุนผิดกฎหมาย เว็บไซต์ลงทุนแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด
ส่วนของมาตรการเชิงรุกจะใช้ระบบ Social listening ในการตรวจสอบในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ตรวจสอบกับระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแล หากพบการกระทำความผิด เจ้าหน้าผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปิดกั้นปิดกั้นแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ทันที และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
มันนี่โค้ชทรงเอ หลอกลงทุนแชร์คริปโต อ้างกำไรวันละ 1% ล่าสุดหายตัวแล้ว
กรณีล่าสุดที่กำลังเป็นข่าวในโลกออนไลน์คือ กรณีนักธุรกิจหลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่คริปโตชักชวนผู้เสียหายลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอ้างสามารถทำกำไรได้วันละ 1% แต่ตอนนี้เหมือนวงแชร์แตก เจ้าของหายตัวปริศนา เงินที่คนไปฝากลงทุนหายตามไปด้วย
โดยที่เพจ Drama-addict โพสต์ข้อความว่า "ล่าสุดมีข่าวว่ามันนี่โค้ชทรงเอ ที่รับฝากเทรดคริปโต อ้างว่ากำไรวันละ 1% หอบเงินหนีไปละ ผสห(ผู้เสียหาย) ควานหาตัวให้ควั่ก มีเงินเทรดคริปโต เรียกตัวเองว่านักลงทุน แต่กล้าเอาเงินไปฝากคนทรงเอ อนาถสัส เคสนี้ขออนุญาต สมน้ำหน้าอย่างเดียวครับ" แต่มีรายงานว่า มันนี่โค้ชคนนี้เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กอ้างว่าตัวเองก็ถูกหลอกใช้ให้เป็นแพะ