2 เดือนแห่งความหลอกลวง รวมคดีเทรดหุ้น-จับแชร์ เสียหายเฉียดสี่พันล้านบาท
สรุป
- 2 เดือน (ก.ค. - ส.ค.) มีข่าวผู้เสียหายถูกหลอกนำเงินไปลงทุน, เทรดหุ้น รวมมูลค่าเสียหายกว่า 3,900 ล้านบาท
- ผู้เสียหายจากคดีที่เกิดขึ้นรวมแล้วกว่า 1 หมื่นราย
ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ (ก.ค.-ส.ค. 2565) มีข่าวการจับกุมและแจ้งจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลงทุน, หลอกเทรดหุ้น และแชร์ลูกโซ่ที่รวมๆ แล้วมูลค่าความเสียหายตกอยู่ที่หลายพันล้านบาท
ส่งพิ้งกี้-แม่ เข้าเรือนจำผลการทำงานต่อเนื่องของ ตร. จากคดี Forex 3 D
เริ่มต้นจากที่เมื่อ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช นักแสดงสาว พร้อมด้วยมารดา และพี่ชายถูกนำตัวเข้าเรือนจำ หลังจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีแชร์ Forex 3D จนมีการย้อนที่มาที่ไปของคดีดังกล่าว ว่าเป็นข่าวขึ้นมาเมื่อปี 2562 ที่สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่ามีประชาชนถูกหลอกให้ร่วมลงทุน มีผู้เสียหายเบื้องต้น 8,720 คน ตรวจสอบพบเงินหมุนเวียนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการสืบสวนของดีเอสไอพบว่า แชร์ FOREX 3D มีความเคลื่อนไหวทางการเงินนาน 2 ปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ.2560-2561) พบเส้นทางการเงินที่ได้จากลวงทุนนับหมื่นล้านบาท พบบางส่วนถูกกระจายไปให้คนดังและบุคคลที่มีชื่อเสียงใกล้ชิดกับผู้บริหารรายละประมาณ 200-300 ล้านบาท
หลังจากนั้นมีการสืบสวนสอบสวนจนสามารถจับกุมตัว อภิรักษ์ โกฎธิ ผู้บริหารบริษัท FOREX 3D ผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขความเสียหายล่าสุดที่ได้รับการยืนยันจากดีเอสไอ มีผู้เสียหายมาให้การจำนวน 9,824 คน ความเสียหายเกือบ 2,500 ล้านบาท
ผู้เสียหายแจ้งจับ 'ยูทูบเบอร์นัตตี้' หลอกเอาเงินไปเทรดหุ้น แต่ไม่ได้รับเงินคืน
ถัดจากนั้นวันที่ 24 ส.ค. 2565 ไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ ได้พาผู้เสียหายราว 30 คน ไปยังศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินคดีกับยูทูบเบอร์ดังรายหนึ่ง โดยกลุ่มผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้น รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท
โดยต่อมามีการเปิดเผยว่า ยูทูบเบอร์ดังคนนี้คือ 'นัตตี้' นัทธมณ คงจักร์ หรือนัตตี้ ลีอาห์ ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Nutty's Diary มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน ซึ่งนัตตี้นั้นผันตัวมาทำงานด้วยการรับฝากเงินเอาไปเทรดหุ้น พร้อมให้สัญญาว่าเงินทุนไม่จมมีกำไรโอนให้ทุกเดือน สูงสุดเดือนละ 35% แต่ระยะหลังไม่มีกำไร และไม่มีการโอนเงินคืน จากนั้นนัตตี้ออกมาประกาศคิวรับคืนทุน ภายใน 3-5 พ.ค. และ 15 พ.ค. ยืนยันจ่ายเริ่มจ่ายคืนทุนตามกำหนดการเดิม แต่แล้วทำแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #นัตตี้โกงเทรดพันล้าน ก็ติดอันดับในทวิตเตอร์ โดยมีคนทวีตมากถึง 50,000 ทวีต ส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกโกง โดยมีการนำหลักฐานต่างๆ ออกมายืนยัน
ตร.ไซเบอร์ จับแก๊งหลอกระดมทุนความเสียหาย 1,400 ล้านบาท
ส่วนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ แถลงผลปฏิบัติการ "เปิดยุทธการตัดวงจรความเสียหายขบวนการหลอกระดมทุน นอร์ทเทิร์น ลอว์เยอร์ (Northern Lawyer)" โดยการชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนออนไลน์
โดยสืบเนื่องมาจากตำรวจไซเบอร์ สืบทราบว่า บริษัท นอร์ทเทิร์น ลอว์เยอร์ จำกัด มีการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาสมัครสมาชิกในลักษณะการระดมทุน โดยอ้างว่าจะนำเงินของสมาชิก ไปลงทุนต่างๆ เช่น ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เร้นซี่ (Cryptocurrency), ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือ ฟอร์เร็กซ์ (Forex), ซื้อขายทองคำ, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ซื้อขายรถยนต์มือสอง และค้าอัญมณี โดยจะให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 180 ต่อปี พบว่าเปิดดำเนินการมาได้ 11 เดือนแล้ว มีจัดสัมนาชักชวนหาสมาชิกทุกสัปดาห์
การลงทุนจะแบ่งเป็นแพ็กเกจ คือ เริ่มต้นลงทุนที่ 4,000 บาท ครบ 10 เดือน รับผลตอบแทน 6,000 บาท ไล่เรียงไปตามจำนวนเงินลงทุน ไปจนถึงแพ็กเกจสุดท้าย ลงทุนสูงสุดที่ 400,000 บาท ครบ 10 เดือน ได้รับผลตอบแทนถึง 600,000 บาท จึงมีสมาชิกสนใจเข้าร่วมลงทุนในแพ็กเกจต่างๆ กว่า 90,000 คน มีเงินหมุนเวียนกว่า 1,400 ล้านบาท แต่ไม่ได้นำเงินของสมาชิกไปลงทุนหรือทำธุรกิจตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการหลอกลวงลงทุนในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ถือเป็นความผิดตามกฏหมาย จึงรวบรวมพยานหลักฐานจนศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุมัติหมายจับ
จนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ได้เปิดปฏิบัติการเพื่อตัดวงจรความเสียหายของเครือข่ายนี้โดยเข้าตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวม 5 แห่ง ประกอบด้วยอำเภอเมืองเชียงใหม่ 2 แห่ง และอำเภอสันทราย 3 แห่ง จับกุมผู้ต้องหาได้ 2 คน คือ ดารารัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัท และเกวรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี ทำหน้าที่เป็นวิทยากรชักชวนสมาชิกมาร่วมลงทุน ทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหา “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์” อีกทั้งจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ด้วย
ดีเอสไอเตือนอย่าหลงเชื่อ
ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้ออกมาเตือนประชาชนอย่าหลงชื่อ โดยระบุว่า แชร์ลูกโซ่คือการฉ้อโกงประชาชนรูปแบบหนึ่งที่กำลังระบาดหนักในสังคมไทย โดยมีวิธีโน้มน้าวชักจูงเหยื่อหลากหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่จะเชิญชวนให้สมัครสมาชิกร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น หรือการลงทุนของเหยื่อรายใหม่ มาจ่ายให้เหยื่อรายเก่าเป็นทอดๆ คล้ายลูกโซ่ ต่อมาเมื่อหาสมาชิกใหม่ไม่ได้ หรือการเงินเกิดสะดุด ก็จะหยุดจ่ายค่าตอบแทน ปิดกิจการหอบเงินหนีไป สร้างความเสียหายให้กับภาคเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล
โดยอยากให้ศึกษาที่มาที่ไปรูปแบบการลงทุนให้ดี, ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ตอบแทนสูงๆ, อย่าไว้ใจใครง่ายๆ แม้จะเป็นบุคคลใกล้ชิด, มีสติ และระมัดระวัง, หลีกเลี่ยงการนัดอบรม เพราะจะถูกจิตวิทยาหว่านล้อมให้หลงเชื่อได้ง่าย