แม้ว่าช่วงเวลา 4 ปีมานี้ โลกจะต้องรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แต่ภัยเงียบๆ ที่ไม่ต้องรอการระบาดก็ยังคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปปีละกว่า 41 ล้านคน- นั่นก็คือภัยจากโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งคนในประเทศรายได้น้อย ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศรายได้สูง
เว็บไซต์ The Conversation เปิดประเด็นอภิปรายผ่านบทความโดยระบุว่า โรคไม่ติดต่อทั้ง 3 โรคนั้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 41 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งหมายความว่ามากกว่า 70% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก และผู้เสียชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่หรือราว 77% อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลาง รวมถึงประเทศในแอฟริกา นอกจากนี้ บทความยังบอกอีกว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ระบาดมากกว่าโรคติดเชื้อ และ 67% เกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปี นอกจากโรคเหล่านี้จะเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ทั่วโลกแล้ว โรคไม่ติดต่อยังมีค่าใช้จ่ายมากมายสำหรับผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้บั่นทอนผลิตภาพของแรงงานและคุกคามความเจริญทางเศรษฐกิจอีกด้วย
และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้โรคไม่ติดต่อเหล่านี้มาลดทอนผลิตภาพดังกล่าว คือการขยายการให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ด้วยการสร้างโปรแกรมบูรณาการและระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงระหว่างกันและโรคร่วม และเมื่อเร็วๆ นี้สมัชชาอนามัยโลกได้อนุมัติโรดแมปขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในช่วงปี 2023-2030 ซึ่งแผนมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการแทรกแซงแบบการจัดซื้อที่ดีที่สุดให้ผลตอบแทนสูง, การเสริมสร้างระบบสุขภาพ, ลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ, และการเพิ่มโรคไม่ติดต่อไว้ในบริการสาธารณสุขมูลฐาน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เคยออกมาเตือนแล้วว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, เบาหวาน, โรคระบบทางเดินทางใจ, และมะเร็ง เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุด และแต่ละปีจะมีอายุต่ำกว่า 70 ปี ราว 17 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเบนเต มิคเคลเซน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้านโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ย้ำว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นสามารถป้องกันได้ ด้วยการทำให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้เป็นประเด็นปัญหาด้านความเท่าเทียม, การพัฒนาอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก หากผู้คนเข้าถึงบริการสุขภาพที่สามารถตรวจความดันโลหิตและเข้าถึงยารักษาได้ จะช่วยชีวิตคนเกือบ 10 ล้านคนจากภาวะหัวใจวายและภาวะหลอดเลือดสมองได้ภายในปี 2030 และว่าหากทุกประเทศปรับแผนในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ จะลดการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกจากโรคนี้ได้อย่างน้อย 39 ล้านคน ภายในปี 2030 ด้วยเช่นกัน
ที่มา
- อนามัยโลก ชี้ โรคจากพฤติกรรม ภัยเงียบคร่าชีวิต 41 ล้านคนทั่วโลก