Skip to main content

สรุป

  • พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอให้กลุ่มประเทศอาเซียนจัดตั้งองค์กรเพื่อทำการเจรจาหาทางออกต่อสถานการณ์ในเมียนมา
  • จี้ทหารเมียนมาต้องยุติการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข
  • พิธา ยังแนะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดถึงผลประโยชน์ประเทศ และภูมิภาคอาเซียนให้อยู่บนหลักความผาสุกร่วมกัน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงออนไลน์ถึงสถานการณ์ในเมียนมา บทบาทของอาเซียนในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมา และบทบาทของไทยในการประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาในวันที่ 24 เม.ย. 2564

พิธา กล่าวว่าในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทั้งโลกได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาด้วยความสะเทือนใจ เนื่องจากมีผู้ถูกทหารเมียนมาสังหารแล้วกว่า 700 คน เป็นเด็กถึง 50 คน บางคนอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น คนนับพันคนถูกจับกุมหรืออุ้มหาย ซึ่งนี่เป็นปฏิบัติการอย่างเป็นระบบของทหารเมียนมาเพื่อปราบปรามประชาชนให้สยบด้วยความหวาดกลัว 

"ถ้าไม่มีการยับยั้ง ทหารเมียนมาก็จะเดินหน้าปราบปรามสังหารประชาชนมือเปล่าและชนกลุ่มน้อยต่อไป ถ้าไม่มีใครทำอะไร คนอีกนับพันอาจถูกสังหาร คนนับแสนอาจต้องพลัดถิ่น และวิกฤติทางมนุษยธรรมที่ตามมาก็จะสร้างผลสะเทือนไปทั้งภูมิภาค"

พิธา กล่าวต่อไปว่า เมื่ออาเซียนก่อตั้งขึ้นมาในปี 2510 ด้วยปฏิญญากรุงเทพฯ ก็ได้มีระบุไว้ถึงวัตถุประสงค์ของอาเซียนในปฏิญญาว่าก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคผ่านหลักนิติธรรมและหลักการของสหประชาชาติ นอกจากนี้พิธายังกล่าวถึงในกฎบัตรอาเซียนที่เน้นย้ำถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ในอดีตอาเซียนเคยแสดงบทบาทเป็นตัวกลางเจรจาหาทางออกให้กับความขัดแย้งในภูมิภาคมาแล้วหลายครั้ง และวิกฤติของเมียนมาร์ในครั้งนี้ก็เป็นบททดสอบอีกครั้งหนึ่งของอาเซียน

ในโอกาสของการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งกระบวนการสันติภาพที่นำโดยอาเซียน เพื่อยุติการสังหารประชาชนและนำเมียนมากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย โดยกระบวนการสันติภาพก็มีหลายกลไกที่อาเซียนสามารถใช้ได้ เช่น จัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานอาเซียน (ASEAN Troika) จัดตั้งทูตพิเศษของอาเซียน (Special Envoy) หรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อนประธาน (Friends of the Chair) 

พรรคก้าวไกลเชื่อว่าเป็นความจำเป็นทางมโนสำนึกที่กระบวนการสันติภาพจะมีเป้าหมายได้แก่ การทำให้เมียนมากลับคืนสู่สภาวะปกติที่ สิทธิ เสรีภาพ ความเป็นอยู่ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการคุ้มครอง และทหารเมียนมาต้องยุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข นี่คือเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมขั้นต่ำที่ประชาชนอาเซียนควรเรียกร้องจากผู้นำของตนเอง

พิธา ย้ำว่า ผู้นำอาเซียนต้องไม่ปล่อยให้การประชุมผู้นำอาเซียนเป็นเวทีที่ให้การยอมรับและความชอบธรรมกับเผด็จการทหารเมียนมาร์ ผู้นำอาเซียนควรผลักดันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้มีโอกาสหาทางออกร่วมกันในกระบวนการจะเปิดรับทุกฝ่าย ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงควรยื่นคำเชิญให้กับทุกฝ่ายในการหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรค NLD คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ไปจนถึงกองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพที่เปิดกว้างและมีความจริงใจเกิดขึ้นได้ 

นอกจากนี้ อาเซียนควรยืนยันในหลักการ 'ความเป็นแกนกลางของอาเซียน' โดยตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่จะเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการตามอำนาจในหมวด 6 และจัดตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในเมียนมา และเพื่อรับมือกับวิกฤติด้านมนุษยธรรม พิธาเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และเรียกร้องให้ทหารเมียนมายอมเปิดให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปถึงได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ

พิธากล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดและเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนควรมีบทบาทเชิงรุกในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมา แต่รัฐบาลของ พล.อ ประยุทธ์ ก็แสดงออกให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่ได้มีสำนึกที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาวไทยและชาวเมียนมาในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดเช่นนี้ ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนนั้นอยู่บนหลักการของความเจริญผาสุกร่วมกันที่จำเป็นต้องมีเมียนมาที่มั่นคงทางการเมืองและเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ถ้าเมียนมาเกิดวิกฤติ ก็จะเป็นวิกฤติของประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร เช่นเดียวกัน

"ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จะต้องทำตามหลักการ "การคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองในระยะยาวโดยรู้แจ้งถึงสิ่งที่ถูกต้อง" (Enlightened self-interest) และแสดงออกให้เห็นว่าประเทศไทยยืนอยู่ข้างประชาชนชาวเมียนมา ไม่ได้เป็นสหายในสงครามร่วมหัวจมท้ายกับทหารเมียนมา" พิธา กล่าวทิ้งท้าย