Skip to main content

การศึกษาหนึ่งที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ใน JAMA Internal Medicine พบว่า การให้เงินกับผู้คนจะสามารถช่วยให้พวกเขาลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 

การศึกษานี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับสิ่งจูงใจเป็น "เงินสด" สำหรับน้ำหนักที่ลดไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดน้ำหนักได้มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับสิ่งกระตุ้นพื้นฐานง่ายๆ เช่น หนังสือแนะนำการคุมอาหาร, อุปกรณ์ติดตามฟิตเนส และการใช้โปรแกรมลดน้ำหนัก

ดร. เมลานี เจย์ ผู้ร่วมทำการศึกษา และผู้อำนวยการร่วมของโครงการ NYU Langone Health’s Comprehensive Program on Obesity ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยในการศึกษานี้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะลดน้ำหนักได้ยาก และบอกอีกว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 40 เป็นโรคอ้วน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็มีมากขึ้นด้วย

ดร.เจย์ บอกอีกว่า อุปสรรคในการลดน้ำหนักของผู้ที่มีรายได้น้อยมีมากมาย เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงอาหารเพื่อสุขภาพ หรือไม่สามารถจ่ายเงินค่าเข้ายิมได้ และไม่ค่อยมีเวลาในการออกกำลังกาย

ด้าน คอลลีน ทิวส์เบอรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโภชนศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเรากำลังต่อสู้อย่างต่อเนื่อง คือการทำให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการให้เครื่องมือ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก และตารางติดตามการกินอาหารและออกกำลังกายอาจไม่เพียงพอ พวกเขาอาจต้องการสิ่งจูงใจทางการเงิน

และเพื่อการสำรวจว่า "เงิน" สามารถช่วยให้คนลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่ ดร.เจย์ และเพื่อนร่วมงานของเธอ ได้คัดเลือกผู้ป่วย 688 ราย อายุระหว่าง 18-70 ปี ที่เป็นโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30) ซึ่งกำลังพบแพทย์เพื่อรักษาโรคอ้วนอยู่ในนิวยอร์กและลอสแองเจลิส

ผู้เข้าร่วมจะถูกสุ่มแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มทุกคนจะได้เป็นสมาชิก 1 ปีของ WW Freestyle, Fitbit, ความรู้ด้านสุขภาพ, ไดอารี่อาหารเพื่อติดตามสิ่งที่กินเข้าไป, ตาชั่ง, และการตรวจเยี่ยมแบบตัวต่อตัวทุกเดือน โดยกลุ่มควบคุมจะไม่มีการแทรกแซงอื่นเพิ่มเติม 

ผู้เข้าร่วมที่เหลืออีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มติดตามผลลัพธ์จะได้รับเงินตามเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักที่หายไป หรือกลุ่มที่มีเป้าหมายโดยตรงที่ได้รับค่าตอบแทนสำหรับการปฏิบัติตามพฤติกรรมการลดน้ำหนักบางอย่าง เช่น การเข้าร่วมโปรแกรมประจำสัปดาห์ รักษาบันทึกการกินอาหารอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

โดยผู้เข้าร่วมทั้ง 2 กลุ่มสามารถสร้างรายได้สูงถึง 750 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 26,000 บาท 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 81% และเป็นเชื้อสายละติน 72.6% น้ำหนักเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ที่ประมาณ 98 กก. เมื่อเริ่มการศึกษา และเข้าสู่เดือนที่ 6 มีผู้ป่วย 22.1% ในกลุ่มควบคุมลดน้ำหนักอย่างน้อย 5% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น เทียบกับ 39% ของกลุ่มที่มีเป้าหมายโดยตรงและ 49.1% ของกลุ่มที่อิงตามผลลัพธ์

และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้เข้าร่วมในกลุ่มที่มีเป้าหมายโดยตรงจะได้รับรายได้ 440.44 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 15,000 บาท เมื่อเทียบกับกลุ่มอิงตามผลลัพธ์ที่ได้รายได้ 303.56 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 10,600 บาท 

แม้ว่ากลุ่มที่มุ่งผลลัพธ์จะลดน้ำหนักได้ 5% ในช่วง 6 เดือนมากกว่ากลุ่มที่มุ่งเป้าหมาย แต่ ดร.เจย์ เชื่อว่าแนวทางที่มุ่งเป้าหมายอาจส่งผลที่ยั่งยืนกว่า เพราะมันสอนให้ผู้คนมีนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ

ดร. เจย์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าน้ำหนักจะลดลง แต่การออกกำลังกายตลอดชีวิตหรือนิสัยการกินที่ดีขึ้นอาจมีความสำคัญมากกว่า 

ด้าน ดร.โรเบิร์ต คุชเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการจัดการน้ำหนัก และศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ชิคาโก กล่าวว่า เป็นที่น่าประทับใจมากที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาสามารถจัดการน้ำหนักได้ดีขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้เขายังเห็นด้วยว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยต้องเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นเมื่อต้องการลดน้ำหนัก 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือกลยุทธ์การเสนอเงินสดเพื่อลดน้ำหนักสามารถนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมจริงข้างนอกการทดลองได้อย่างไร เพราะในทางการเมืองและวัฒนธรรม เราคงถูกกดขี่อย่างหนักในการจ่ายเงินเพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี แต่ปัจจุบันก็มีบริษัทประกันที่ใช้แรงจูงใจนี้ ด้วยการลดเบี้ยประกันภัยหรือเสนอโปรโมชั่นเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ลดน้ำหนักได้ 

ขณะที่ทิวส์เบอรีเองก็มองว่า นี่อาจเป็นโอกาสดีสำหรับนายจ้าง บริษัทประกันสุขภาพ และหน่วยงานรัฐที่ใช้จ่ายเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันจะได้รับประโยชน์จากการใช้กลยุทธ์นี้เพื่อลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของหน่วยงานนั้นๆ ในอนาคต

ที่มา : yahoonews