Skip to main content

ผศ.ดร.พรชัย หาระโคตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World’s Best Rice 2022 ซึ่งข้าวหอมผกาลำดวนจากประเทศกัมพูชา สามารถคว้าแชมป์โลก โดยเอาชนะข้าวหอมมะลิไทย ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่การเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ชนะไม่ใช่ประเทศไทย และไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวหอมผกาลำดวนได้เป็นแชมป์ โดยการแข่งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ผลัดกันแพ้ชนะ โดยไทยได้แชมป์ 7 ครั้ง กัมพูชา 5 ครั้ง ที่เหลือเป็นของประเทศอื่น เช่น จากประเทศเวียดนาม เมียนมา และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สะท้อนในการประกวดไม่ใช่แค่การได้แชมป์ในแต่ละปี แต่คือที่มาของพันธุ์ข้าวซึ่งส่งเข้าประกวด เพราะข้าวไทยพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งถูกส่งเข้าประกวดนั้น ถูกพัฒนาและรับรองพันธุ์มามากกว่า 60 ปี ขณะที่ข้าวหอมผกาลำดวน ถูกพัฒนาประมาณ 20 ปี และสำหรับประเทศเวียดนาม ได้ส่งข้าวพันธุ์ ST25 ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์มาเมื่อไม่กี่ปีก่อน

“ตรงนี้สะท้อนว่า ในขณะที่ประเทศอื่นกล้าที่จะส่งข้าวใหม่เข้าประกวด มีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์อยู่ตลอด แต่ไทยยังไม่กล้าตัดสินใจส่งพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ยังต้องส่งข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่รวบรวมพันธุ์จากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา นำมาปลูกและคัดเลือกพันธุ์มากว่า 60 ปี แล้ว ประกวดอยู่  ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าเพราะอะไร” ผศ.ดร.พรชัย กล่าว

ผศ.ดร.พรชัย กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลจนถึง กันยายน 2565 ประเทศไทยยังอยู่ในลำดับต้นๆ ของแหล่งผลิตข้าวของโลก และมีตัวเลขส่งออกอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน ครองอันดับที่ 2 ของประเทศส่งออกข้าวของโลกรองจากอินเดีย ซึ่งจากการคาดการณ์ก็เชื่อว่า จนถึงสิ้นปีตัวเลขการส่งออกจะอยู่ที่ระดับ 8 ล้านตัน รวมมูลค่าประมาณแสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มตัวเลขการส่งออกสูงขึ้นจากปีก่อน  ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินบาท 

อย่างไรก็ดี การพิจารณาแค่เพียงตัวเลขส่งออกอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ หากแต่ต้องดูที่ปัจจัยด้านราคาซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ราคาข้าวไทยมีราคาที่ต่ำลง ราคาข้าวหอมมะลิไทยในอดีตเคยสูงถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือในระดับ 750-780 เหรียญสหรัฐ ซึ่งอธิบายได้ว่า เป็นเพราะการแข่งขันด้านราคา โดยคู่แข่งพัฒนาคุณภาพข้าวได้ใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย แต่มีราคาต่ำกว่า  ทำให้ไทยต้องลดราคามาแข่งขัน

“จะมองแค่ตัวเลขส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแม้จะยังดีอยู่ แต่ปัจจุบันเราขายข้าวแพงเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องแข่งขันในราคาที่ต่ำลงเพื่อให้ใกล้เคียงกับคู่แข่ง ราคาข้าวของไทยจึงลดลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวต่อไร่ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยปลูกได้ 450-650 กก./ ไร่ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 900 กก./ ไร่ อีกทั้งต้นทุนในการปลูกยังสูงกว่า คือเกษตรกรไทยมีต้นทุนในการปลูกข้าวที่ 9,000 บาท/ตัน ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 6,000 บาท/ตัน ซึ่งอธิบายได้ว่าชาวนาไทยรับภาระต้นทุนการผลิตมากกว่าชาวนาในประเทศใกล้เคียง

ผศ.ดร.พรชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ราคาข้าวที่ลดต่ำลง ผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เห็นว่าการพัฒนาและวิจัยพันธุ์ข้าว เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแนวทางหนึ่งที่ตรงจุดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนับร้อยล้านบาท เมื่อถูกแจกจ่ายให้กับศูนย์วิจัยข้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 27 แห่ง ทำให้เรื่องงบประมาณวิจัยยังเป็นข้อจำกัด ขณะเดียวกันการพัฒนาพันธุ์ข้าวก็ต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก เพราะจะเป็นตัวชี้วัดว่าข้าวจะตรงใจกับผู้ซื้อหรือไม่ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย รวมถึงช่วยผู้ประกอบการในเรื่องการหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อกระจายข้าว ไม่ให้ข้าวอยู่ในสต็อกนานเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศสูงขึ้น และเป็นนโยบายต้นทางในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

“สำหรับเกษตรกรเขาคงไม่ได้กังวลเรื่องการประกวด การเป็นแชมป์ จริงอยู่ว่าการชนะในทุกๆ ปี และการถูกเอ่ยถึงในการแข่งขันถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และเป็น Branding ให้กับข้าวไทย แต่เหนืออื่นใด เขาต้องการพันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตสูง แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และเป็นที่ต้องการของตลาด ขอยกตัวอย่างที่ครั้งหนึ่ง เวียดนามได้ตั้งเป้าและโหมวิจัยในการพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่มีผลผลิตสูง ซึ่งขณะนั้นตลาดข้าวพื้นนุ่มกำลังขยายตัวเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเวียดนามได้ทุ่มเทงบประมาณวิจัย ช่วยหาตลาด ทำให้กลับมาครองตลาดส่งออกข้าวชนิดดังกล่าว รวมถึงแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวข้าวหอมไทย ซึ่งถ้าไทยจะพัฒนาข้าวก็ต้องทำเป็นระบบ ทั้งเรื่องการวิจัย การหาตลาด รวมถึงการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรที่ทำให้เขาอยู่ได้” ผศ.ดร.พรชัย กล่าว