Skip to main content

ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation) ในวันที่ 18 และ 19 พ.ย. นี้ ท่ามกลางความตึงเครียดและความสลับซับซ้อนของสามมหาอำนาจโลก คือ สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย

ในบรรดาสามมหาอำนาจที่กล่าวไป มีเพียงจีนที่มีผู้นำอันดับหนึ่งเข้าร่วม ซึ่งก็คือประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ส่งรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมเอเปคแทน ส่วนประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน สื่อรายงานว่าเขามอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง แอนดรี เบลูซอฟ มาแทน

เวทีการประชุมครั้งนี้ของกลุ่มเอเปคซึ่งประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ จะมีการเจรจากันในเรื่องการค้า การบูรณาการทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการให้ความสนับสนุนต่อภาคธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ Bio-Circular Green Economy หรือ BCG ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว

แผนเศรษฐกิจดังกล่าว ต้องการให้เกิดการเติบโตด้วยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ขณะที่รักษาระบบนิเวศ ลดปริมาณขยะและส่งเสริมธุรกิจ

ศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับวีโอเอว่า ประเทศไทยต้องการให้โมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นผลงานสำคัญของเอเปค ขณะที่นโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไม่น่าจะใช่เรื่องถนัดของผู้นำไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ศ. ฐิตินันท์ กล่าวด้วยว่า การจับประเด็น BCG น่าจะทำให้ไทยน่าจะได้ฝากผลงานจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้

พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดพบกับประธานาธิบดีสีของจีนที่งานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่ง อ.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ผู้นำทั้งสองประเทศน่าจะพูดคุยกันเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการกลับมาของนักท่องเที่ยวตลอดจนกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 3.0 ที่จีนผลักดัน

ขณะนี้ รัฐบาลปักกิ่งต้องการให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายเขตการค้าเสรีผ่านกรอบ FTA 3.0 เพื่อปรับปรุงสายการผลิตสินค้าโลก และเพื่อเป็นแข่งขันกับกรอบการเจรจา IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ของสหรัฐฯ ที่มี 14 ชาติเข้าร่วม

สำหรับการหารือระหว่างฝ่ายไทยและรัสเซีย รองศาสตราจารย์ มาร์ค เอส โคแกน แห่งแผนกการศึกษาความขัดเย้งและสันติภาพ ที่มหาวิทยาลัยคันไซ กล่าวว่า ไทยสนใจนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย แม้ว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเครมลินจะนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อเดือนตุลาคม ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UNGA ลงมติด้วยคะแนนเสียง 143 เสียงจากทั้งหมด 193 เสียงประณามรัสเซียต่อความพยายามผนวกดินแดนสี่แห่งของยูเครน ส่วนไทยงดออกเสียง

อาจารย์โคแกน กล่าวว่าท่าทีของไทยมิได้ทำให้ประชาคมด้านสิทธิมนุษยชนพอใจ แต่รัสเซียเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยอันดับที่ 7 ดังนั้น ดูเหมือนว่า ไทยเลือกแสดงจุดยืนเช่นนี้เพื่อผลเชิงปฏิบัติ

เขากล่าวว่า ไทยต้องการที่จะเห็นระดับนักท่องเที่ยวและการค้าให้ได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด แต่ยังติดขัดที่จีนยังใช้มาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียจึงมีความสำคัญไม่น้อยต่อไทย ภายใต้ข้อจำกัดของจีน

ท้ายสุด ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโส แห่ง Khaosod English กล่าวว่า หากพิจารณาถึงความพยายามทางการทูตของไทย การพบกันของฝ่ายไทยกับรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ของสหรัฐฯ และกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน น่าจะได้รับความสำคัญอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการยืนยันความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและสหรัฐฯ และการแสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน
 

ที่มา : VOAthai