Skip to main content

พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน และรองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า น่าเสียดายที่สุราเสรีไม่ผ่านการโหวตในสภา โดยแพ้ไปเพียง 2 เสียงเท่านั้น ซึ่งหากผ่านได้จะทำให้จำกัดการผูกขาดของสุราในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งพรรคไทยรักไทยเคยคิดเรื่องนี้แล้วตั้งแต่ปี 2546 ดังนั้นจึงหวังว่าในอนาคตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสุราเสรีนี้จะเกิดขึ้นได้จริง

ในเรื่องของการผูกขาดนี้ประเทศไทยมีปัญหาการผูกขาดอย่างมาก ขนาดองค์กรระหว่างประเทศยังจัดอันดับประเทศไทยในลำดับท้ายๆ ที่มีการจัดการการผูกขาดได้ย่ำแย่ ดังนั้นจึงต้องหาทางจำกัดการผูกขาดในทุกด้านเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่สามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ อีกทั้งยังจะทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นไปได้ เมื่อมีการแข่งขันที่แท้จริง 

ทั้งนี้ อยากให้มีการจำกัดการผูกขาดในการผลิตน้ำมันและกลั่นน้ำมันในประเทศไทย เพราะมีปัญหามาตลอด เพราะโรงกลั่น 6 โรงใน 7 โรงกลั่น เป็นของ บมจ. ปตท. ซึ่งคุมปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นแล้วเกือบทั้งหมด ทำให้มีปัญหาราคาโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาดังนี้ 
1. ราคาหน้าโรงกลั่นจะต้องเท่ากันสิงคโปร์ โดยไม่บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าระเหย ที่ไม่มีจริง เพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชน โดยราคาขายในประเทศจะต้องเท่ากับราคาส่งออก เพราะ บริษัทในเครือ บมจ. ปตท. ขยายการกลั่นเพื่อการส่งออก แสดงว่าราคาส่งออกก็กำไรอยู่แล้ว จะมาบวกเพิ่มไม่สมควร 
2. ค่าการตลาดควรจะถูกจำกัดที่ลิตรละ 1.40 บาท ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ อย่าปล่อยให้ราคาค่าการตลาดพุ่งสูงแบบไม่สมเหตุผล 
3. ราคาส่วนผสมของน้ำมันที่ผลิตจากพืชพลังงานทั้ง เอทานอล และ น้ำมันปาล์ม ควรมีราคาที่เป็นธรรมไม่สูงกว่าราคาน้ำมันที่ไปผสมมากนัก หากราคาต่างกันมากควรลดราคาหรือ ไม่ก็ต้องลดการผสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของกองทุนน้ำมัน ที่ยังติดลบกว่าแสนล้านบาท โดยมีการนำกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนราคาก๊าซหุงต้มจำนวนหลายหมื่นล้านบาท และมีการนำเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโอนเข้ารัฐไป 20,087.43 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่ได้คืนมา 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการผูกขาดจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์อย่างมาก และต้องจำกัดการผูกขาดให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีการแข่งขันซึ่งจะเป็นประโยขน์กับประชาชนทั้งประเทศและเปิดให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เติบโตขึ้น