บ่ายวันอาทิตย์แสงแดดจ้าและลมพัดแรง ฉันปิดหน้ากระดาษหนังสือเล่มใหญ่ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” หน้าสุดท้ายลง ก่อนจะโล่งใจที่ในที่สุด ที่ความหนักหน่วง ความลากยาวนี้จบลงสักที หวนให้นึกถึงหลายปีก่อนที่เคยอ่านฉบับแปลภาษาไทยที่มีก่อนหน้า แต่อ่านไม่จบเสียที ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องสำนวนแปล เพราะขาดสมาธิหรืออะไรกันแน่ พอมีโอกาสได้อ่านอีกทีเมื่อมีสำนวนแปลใหม่จากภาษาต้นฉบับ เลยหยิบมาอ่านอีกครั้ง และจบได้เสียที
ภายใต้ 472 หน้าแห่งความลึกลับวกวน ตะบี้ตะบันอ่านไม่รู้เรื่องไม่รู้จบ กับโครงสร้างภาษา คำพรรณา การบรรยายด้วยคำคุณศัพท์ที่ใช้จับคู่กันอย่างไม่คุ้นชิน แต่ก็สร้างการรับรู้แบบใหม่ ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกว่าใช้เยอะล้นเกินจนไม่รู้จะให้ความสำคัญตรงไหน อ่านไม่รู้เรื่องจนรู้เรื่อง กอปรไปกับพล็อตที่น่ามหัศจรรย์ที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจตอนจบ เป็นประสบการณ์การอ่านที่แปลกใหม่ยิ่ง
พร้อมกันนั้นก็สงสัยว่า ความขุรขระทางภาษา (หรือความตั้งใจจะให้ขรุขระ?) ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจริตของภาษาสเปน หรือเพราะเป็นกระบวนการแปลกันแน่
เปิดอ่าน ถลำลึก-ขมวดคิ้ว
ย้อนไปในบ่ายวันอาทิตย์อันร้อนแล้งไม่มีแม้กระแสลมพัด เช่นเดียวกับวันที่อ่านจบนี้ ฉันเผาเวลาวันหยุดอันแสนเบื่อหน่ายทั้งบ่ายนั้น ไปกับการไล่สายตาจับเรียงตัวอักษรในหนังสือเล่มหนักปกแข็ง ภาษาไทยกลางยาวเหยียดไร้ย่อหน้า หมุนวนไปกับการพยายามทำความเข้าใจภาพหมู่บ้านในหนองน้ำที่มี “หินผิวเรียบสีขาวมหึมาประหนึ่งไข่ของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์” และมโนภาพเพชรที่ส่องแวววาวราวน้ำแข็ง ก่อนที่ต่อมาจะค้นพบว่านั่นไม่ใช่เพชร แต่เป็นน้ำแข็งต่างหากเล่า
นั่นเป็นบทเปิดอันมโหรทึก โหมโรมให้ฉันค่อยถลำลึกขมวดคิ้ว เปิดอ่าน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ลือโลกของนักเขียนชาวโคลอมเบีย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ในฉบับภาษาไทยที่แปลจากต้นฉบับภาษาสเปน โดยชนฤดี ปลื้มปวารณ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บทจร
ถลำลึก - ไปในตัวอักษรยาวพรืดด้วยคำบรรยายไร้ย่อหน้า กับบทสนทนาที่น้อยแสนน้อย และนานๆ ทีจะมีมา
ขมวดคิ้ว - ไปกับภาพในคำพรรณนาที่เหมือนจะชัด ด้วยละเอียดเหลือหลาย ไม่ละทิ้งแม้ส่วนเสี้ยวน้อยๆ ชัด เก็บ ครบ ชนิดที่ภาพชัดราวใช้แว่นขยายกำลังสูงสุดมองส่องท่ามกลางแดดเปรี้ยงเที่ยงวัน ทว่าก็จ้าพร่าตาเสียจนมองไม่เห็นภาพใดๆ ที่ว่าเลยสักนิด ทิ้งไว้แต่ภาพเลือนลาง คล้ายเห็นคล้ายไม่เห็น และไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าภาพนั้นปรากฎในมโนสำนึกหรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้ว ก็อ่านผ่านไปด้วยท่าทีที่เหมือนเข้าใจ แต่แท้จริงไม่เข้าใจอะไรเลย เพียงเพื่อให้อ่านผ่านไปได้และให้ได้พลิกหน้ากระดาษเพื่อไปต่อ
เรียกได้ว่า เป็นหน้ากระดาษแห่งความโดดเดี่ยว ไร้ความประนีประนอม และทิ้งผู้อ่านไว้เพียงลำพัง ต่อสู้กับบทบรรยายที่ไม่มีทางเข้าใจ เพียงเพื่อให้อ่านจบจนเล่มและ คล้ายเพื่อให้ลอบกลับไปเปิดย้อนทีละหน้าตั้งแต่หน้าแรกอีกครั้ง เพื่อถามตัวเองว่า บทบรรยายที่ว่าก็เป็นภาษาไทยสละสลวย เหตุจึงรู้สึกทะแม่งแปร่งแปลก อ่านไม่เข้าใจ ไม่เห็นภาพไปเสียได้
มาก็อนโด หมู่บ้านกลางหนองน้ำ บ้านดินปะด้วยต้นอ้อ บ้านตระกูลบวนเดีย ท่ามกลางหนึ่งร้อยปีมหัศจรรย์พันลึกเวลาหมุนวนเป็นวงกลม ดอกบีโกเนีย กลิ่นออริกาโน่ เจ้าปลาน้อยทำจากทอง ฯลฯ
สารพันรายละเอียดที่บรรยายถึงตัวบ้าน หมู่บ้าน ความเหงา-โดดเดี่ยว-บิดเบี้ยวที่แสนร้ายกาจ ทว่าน่าแปลกประหลาดที่เมื่อใดก็ตามที่ฉันพยายามนึกภาพให้ชัดตามบทบรรยาย แต่ก็เห็นได้เป็นภาพเบลอๆ เท่านั้น ให้ความรู้สึกคล้ายละเมออ่าน ไม่ก็เป็นมโนทัศน์ของคนเมาที่กำลังเล่าเรื่องอยู่
ปรากฎการณ์พิลึกพิลั่นที่ปรากฏแก่ฉันคนอ่านในหมู่บ้านบางกอกนี้ เป็นเพราะคนเขียน- มาร์เกซ ตั้งใจให้เป็นเช่นนี้ หรือเป็นเพราะอุปสรรคทางภาษาอย่างหอคอยบาบิโลเนีย ที่ภาษาไทยไม่สามารถ ไม่สมควร ไม่พึงทำให้อ่านได้เข้าใจแจ่มแจ้งได้ และจะเห็นภาพอย่างไร ก็จงไปตีความในความฝันตื่นที่สามสิบแปดเอาเองก็แล้วกัน
แต่กระนั้นก็อ่านจบจนได้มิใช่หรือ? เม็ลกีอาเดส ชายยิปซีผู้มีมืออย่างนกกระจอก ผู้นำแผ่นหนังคำทำนายมายังบ้านบวนเดียคงถามถึง ก็ด้วยความดันทุรัง ด้วยความหลงงงในดงภาษาที่อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เห็นภาพบ้างไม่เห็นภาพบ้าง บ้างเขียนด้วยภาษาไทยแต่ติดกลิ่นนมเนย กลิ่นออริกาโน่บ้าง ลองอ่านประโยคเดิมซ้ำครั้งสามเพื่อลองสลับหัวสลับหางคำวิเศษเพื่อให้เห็นภาพในมโนทัศน์คนชาวสยามขึ้นบ้าง อย่าง “...ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมของความครื้นเครง” เราก็จะอ๋อ ความครื้นเครงมีเสียงอึกทึกครึกโครม หรือ “...ส่งเสียงแหบห้าวจากการคำราม” เราก็ อ๋อ เสียงคำรามแหบห้าว หรือแม้กระทั่ง วลี “เจ้าปลาน้อยทำจากทอง” เราก็อ๋อ ปลาทองคำตัวน้อย นั่นเอง
อ่านจบ หลุดคำอุทาน
ผ่านไปกว่าครึ่งปี กับการอ่านแล้วหยุด หยุดแล้วอ่านซ้ำสามครั้ง ก็พอทำให้ผ่านสี่ร้อยเจ็ดสิบสองหน้าภาษาไทยมาได้ และได้แต่อุทานว่า “เจ๋ง สัตว์”
เจ๋ง- เพราะด้วยท่ามกลางดงการแปลที่เล่นล้อกับการใช้ภาษาไทยอย่างถึงขีดสุด ไร้ย่อหน้า บทบรรยายที่เป็นร้อยแก้วเสมือนร่ายยาว มีการซ้ำคำ ซ้ำโครงสร้าง เพื่อเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะ/สระในย่อหน้าในหลายๆ จุด ซึ่งประทับใจคนอ่านเช่นเรา ในแง่ว่าเป็นร้อยแก้วที่ทำได้คล้ายร่ายยาว ถ้าอ่านออกเสียงจะเห็นได้ชัดมาก เช่น
“ทั้งบานพับร่วงกราวเพราะสนิมเกรอะ บานประตูแทบยึดติดไว้ไม่อยู่เพราะหยากไย่สุมกันเป็นกองพะเนิน บานหน้าต่างผนึกแน่นเพราะความชื้นและพื้นแตกระแหงเพราะหญ้าและดอกไม้ป่า ซึ่งตรงรอยแยกมีกิ้งก่าและแมลงหลากหลายชนิดทำรังอยู่”
อีกทั้งวรรคตอนแปลกประหลาดที่บางครั้งทำคนอ่านหายใจไม่ออก แถมทั้งยังคำวิเศษที่บางครั้งอยู่ผิดที่ผิดทางจนงงๆ แต่กระนั้น ก็ยังสามารถทำให้คนอ่านฝ่าดงทั้งหมดเพื่ออ่านจบและได้หายใจอีกครั้ง กับเรื่องราวรุ่งโรจน์ร่วงสลายหนึ่งร้อยปี ในคำทำนายที่บรรจบลงในที่สุด หมดจดและน่าประทับใจ
คำอุทาน “สัตว์”- ทั้งขณะอ่านและหลังอ่านจบ ฉันตั้งคำถามถึงอุปสรรคทางภาษาในเล่ม พร้อมทั้งชื่นชมในการพยายามแปลจากภาษาต้นฉบับโดยแท้ เพราะเมื่ออ่านเล่มนี้จนจบก็เห็นได้ชัดว่า นักแปลพยายามเลือกสรรคำมาใช้ การใส่ใจกับรายละเอียด หรือการเรียกชื่อที่คาดว่าตรงเสียงต้นฉบับมากที่สุด ฯลฯ แต่กระนั้นก็อดตั้งคำถามต่ออีกไม่ได้ว่าการแปลที่เหมือนจะ “เก็บครบ” โดยไม่ประนีประนอมกับคนอ่านนี้เพื่ออะไรกันแน่ แล้วการแปลจากภาษาต้นฉบับ ทำให้เราเข้าใจหัวใจของเรื่องได้มากขึ้นบ้างหรือไม่ และจะให้น้ำหนักกับตรงไหนดี ระหว่างอ่านลื่นนึกภาพออก กับอ่านขรุขระเป็นระยะเพราะโครงสร้างทางภาษาที่แปลกประหลาด ไม่เป็นประโยคหรือยืดยาว จนอยากจะปิดลงและถอนหายใจเฮือกใหญ่ และสุดท้ายแล้ว การแปลงานวรรณกรรมควรจะให้อ่านลื่นหรือไม่ลื่นอย่างไรดี มันยากที่จะลื่นเพราะมันเป็นการแปลตั้งแต่ต้น หรือมันลื่นไม่ได้เพราะงานต้นฉบับก็อ่านยากอยู่แล้ว และนักอ่านอย่างเราๆ ส่งเสียงอะไรได้ไหม
อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าในฐานะคนอ่าน เรามีสิทธิเรียกร้องที่จะอ่านงานที่เป็นมิตรกับนักอ่านได้
และในฐานะคนอ่านและเรียนวรรณกรรม ก็เข้าใจได้เช่นกันว่า งานบางประเภททำให้ “อ่านลื่น” ได้ลำบาก ด้วยตัวต้นฉบับเองก็ไม่ได้อ่านลื่นตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าคิดต่อมาคือ งานที่อ่านยาก อ่านไม่ลื่นนั้น ทำงานกับนักอ่านอย่างไร ซึ่งจะรู้คำตอบหรือไม่ นักอ่านก็ต้องมีพื้นที่ให้สามารถสะท้อนกลับได้อย่างตรงไปตรงมา ดังที่ฉันเปิดเปลือยอย่างซื่อตรงที่สุดต่อเล่มนี้ที่ฉันทั้งรักและตั้งคำถาม ซึ่งนั่นก็เปิดต่อการถกเถียงต่อไม่มีที่สิ้นสุดได้เช่นกัน
เอาเถิด ถึงอย่างไร ฉันว่า การทดลองเล่นล้อกับคำทำนายนี้ก็ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่า เช่นเดียวแผ่นหนังของเม็ลกีอาเดสนั่นได้ ที่เปิดเปลือยคำทำนายของมันเองในท้ายที่สุด
และเรานักอ่านชาวไทย ก็น่าจะหลงวนอยู่ในหนองน้ำมาก็อนโด ใคร่ครวญถึงแผ่นหนังคำทำนายที่ได้ชื่อว่า “การแปล” อยู่สักหน่อย ซึ่งจะล่วงรู้ได้หรือไม่
ก็ต้องเปิดอ่านดูสักครา