Skip to main content

วรรณกรรมเรื่องนี้ประพันธ์โดยอดีตนักข่าวและนักเขียนชาวโคลอมเบีย ‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ และตีพิมพ์เป็นภาษาสเปนในปี 2510 ก่อนที่จะได้รับความนิยมจนแปลไปเป็น 40 ภาษาซึ่งขายได้มากกว่า 50 ล้านเล่มทั่วโลก และในประเทศไทยเอง ปณิธานและร.จันเสน แปลจากเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และมีการตีพิมพ์เพื่อจัดจำหน่ายครั้งแรกและครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์วลี และโดยสำนักพิมพ์สามัญชนในเวลาต่อมา 

อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์บทจร ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากทายาทผู้ประพันธ์โดยตรง นั่นคือ ภรรยา และลูกชาย และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ในปี พ.ศ. 2559 และได้ดำเนินการแปลจากต้นฉบับภาษาสเปนเป็นภาษาไทยโดยชนฤดี ปลื้มปวารณ์ และตีพิมพ์เพื่อจัดจำหน่าย
  
จุดเริ่มต้นของข้อพิพาทจึงเกิดขึ้นเมื่อ สำนักพิมพ์บทจร ผู้ถือลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และตัวทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์เอง พบว่ามีการโพสต์จำหน่ายหนังสือ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ที่แปลโดยปณิธานและร.จันเสน โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ในวันเดียวกับวันแรกจำหน่ายของสำนักพิมพ์บทจร และเป็นการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวในงานหนังสือด้วยราคาที่ถูกกว่า จนเป็นเหตุให้สำนักพิมพ์บทจร ผู้ถือลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และตัวทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหาย

สำนักพิมพ์บทจรและทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์จึงได้มีการประสานงานกับตำรวจและกับทีมที่ปรึกษากฎหมายทั้งในไทยและในประเทศสเปนเองเพื่อตรวจสอบว่ามีการตีพิมพ์หรือจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิ์หรือไม่ และเนื่องจากเป็นคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพื่อวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี โดยมีทายาทเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นโจทก์ที่ 1 สำนักพิมพ์บทจร เป็นโจทก์ที่ 2 และวชิระ บัวสนธ์ (ผู้กระทำการในนามสำนักพิมพ์สามัญชน) เป็นจำเลย ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และศาลชั้นต้นมีนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ปมพิพาทที่อาจเซ็ตมาตรฐานวรรณกรรมแปลในไทย

1.จำเลยโต้แย้งว่าฉบับที่สำนักพิมพ์สามัญชนตีพิมพ์และจำหน่าย ปณิธานและร.จันเสน แปลจากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดของบทพูดหรือคำบรรยาย จึงเป็นงานคนละชิ้นกับต้นฉบับภาษาสเปน เพราะไม่ได้แปลมาจากต้นฉบับภาษาสเปนที่โจทก์หรือสำนักพิมพ์บทจรได้รับลิขสิทธิ์ ขณะที่โจทก์มองว่านี่เป็นผลงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง ไม่ว่าภาษาใดก็ถือเป็นลิขสิทธิ์ตั้งต้น เพราะทุกภาษาแปลมาจากต้นฉบับภาษาสเปนเหมือนกัน และสำนักพิมพ์บทจรมีสิทธิ์ในโครงเรื่อง ตัวละคร ธีม โทน หรือการร้อยเรียงเรื่องราวเช่นเดิม

2.กรณีนี้เกิดขึ้นมาในช่วงที่มีการบังคับใช้กฎหมาย 3 ยุค คือ 
พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 ที่ให้สิทธิ์ในการแปลวรรณกรรมต่างประเทศได้โดยไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์หากไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยภายในระยะเวลา 10 ปีหลังจากมีการโฆษณาไปแล้ว หรือที่เรียกว่าการสิ้นสิทธิ์ไปของคำแปล

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ประกอบพระราชกฤษฎีกาประกอบกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ที่ยังคงคุ้มครองสิทธิ์การในการแปลวรรณกรรมต่างประเทศที่โฆษณาในไทยช่วงก่อนหน้า แต่ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยภายใน 10 ปี ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวรรณกรรมต่างชาติง่ายขึ้น ในช่วงเวลาที่การติดต่อสื่อสารกับต่างชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบันได้ยกเลิกการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้แปลวรรณกรรมต่างประเทศไปแล้ว เนื่องจากการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศง่ายขึ้น ทนายความของโจทก์จึงมีความเห็นว่าแนวทางการวินิจฉัยของศาลฎีกาคดี Agatha Christie จึงอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ความท้าทายคือศาลต้องพิจารณาถึงเงื่อนเวลาที่จะใช้ประกอบการตัดสินคดีว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคของกฎหมายฉบับใดบ้าง เพราะกฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ

เสียงสะท้อนจากเจ้าทุกข์ผู้มุ่งหวังให้คดีนี้เป็นมาตรฐานในสังคม

WE IP (วี ไอพี) ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ ดิ โอเพนเนอร์ ว่า จากมุมมองของคนภายนอกอาจคิดว่าโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยชดใช้เงินให้แก่โจทก์ แต่ความเป็นจริงแล้ว คดีนี้เป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งคำถามสำคัญกับผู้ร่างกฎหมายและศาลไทยว่าวงการวรรณกรรมของบ้านเราจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน - ลิขสิทธิ์ยังจะต้องไปซื้อจากเจ้าของอยู่ไหม?  ศาลจะคุ้มครองสิทธิของเจ้าของหรือไม่ หากงานนั้นมีการสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (แปลเป็นภาษาอื่น) ไปแล้ว? และเจ้าของสำนักพิมพ์บทจรมองว่าคดีนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดให้วงการวรรณกรรมไทยไปต่อได้จริงๆ ที่ปรึกษากฏหมายมองว่าคดีนี้ไม่ใช่การสู้กันเพราะไม่ถูกกันหรือขัดผลประโยชน์กัน แต่เป็นการต่อสู้เพื่อวางมาตรฐานวรรณกรรมแปลของไทยว่าหลังจากนี้การหยิบวรรณกรรมแปลที่ไม่ใช่ภาษาต้นทางมาแปลจะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และวรรณกรรมที่เคยแปลอยู่ก่อนที่จะมีกฎหมายปี 2537 นั้น ได้รับการตีความให้ ‘ลอยตัว’ เหนือความผิดเพราะบทยกเว้นความผิดเรื่อง ‘การสิ้นไปของลิขสิทธิ์ในส่วนคำแปล’ ที่บัญญัติในกฎหมายยุคเก่าหรือไม่ 

“มันเป็นเรื่องที่จะทำให้วงการวรรณกรรมไทย ไปต่อได้จริง เพราะว่าสรุปแล้ว ศาลไทยหรือกฎหมายไทยคุ้มครองคนที่ไปซื้อลิขสิทธิ์โดยตรงมาจากเจ้าของแค่ไหน ? วรรณกรรมต่างประเทศทุกวันนี้ยังต้องไปซื้อลิขสิทธิ์มาอีกไหม? ความเชื่อที่ว่าวรรณกรรมที่แปลก่อนปี 2537 สามารถพิมพ์ขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์มันจริงไหม? ศาลต้องขีดเส้นให้เห็นว่าข้อยกเว้นเรื่องการสิ้นไปของลิขสิทธิ์ในส่วนคำแปลตรงนี้มันหมดไปที่จุดไหนกันแน่” ธัชพร เนตรประเสริฐกุล หนึ่งในทีม WE IP ที่ปรึกษากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์ กล่าว