Skip to main content

สหรัฐฯ พบการระบาดของโปลิโอครั้งแรกในรอบ 10 ปี พร้อมแนะให้ประชาชนในบางเมืองเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น 

มีรายงานว่า ไวรัสโปลิโอชนิดหนึ่งกำลังแพร่ระบาดในร็อกแลนด์ รัฐนิวยอร์ก และในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้องค์การอนามัยโลกเพิ่มสหรัฐอเมริกาลงไปในรายชื่อประเทศที่มีการตรวจพบไวรัสโปลิโอที่คล้ายคลึงกันที่พบแล้วประมาณ 30 ประเทศในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา เช่น สหราชอาณาจักร, อิสราเอล, เยเมน, แอลจีเรีย และไนเจอร์ 

ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโปลิโอทุกโดสตั้งแต่เด็กต้องฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่ และควรทำอย่างไรหากไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานะวัคซีนที่ฉีดไป หรือจะรู้ได้อย่างไรว่ายังไม่ได้รับวัคซีนเลย และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำที่ครอบคลุมสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบว่าต้องฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่

ดร.วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ศาสตราจารย์ระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีคำแนะนำระดับประเทศหรือท้องถิ่นใดๆ สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนโปลิโอในตอนเด็ก แต่อาจมีบุคคลบางประเภทที่อาจต้องได้รับเข็มกระตุ้น แต่ตอนนี้ ความกังวลหลักของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอเลย แต่ชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ทำวัคซีนโปลิโอครบตั้งแต่เด็ก และไม่แนะนำให้รับเข็มกระตุ้น เพราะถือว่าจำนวนวัคซีนที่ได้รับไปแล้วเพียงพอต่อการป้องกันโรคโปลิโอแล้ว

ตามข้อมูลจาก CDC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000 สหรัฐฯ ใช้วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตายเป็นวัคซีนปกติที่ฉีดเข้าร่างกายทางแขนหรือขา และวัคซีนป้องกันโปลิโออีกประเภทหนึ่งคือ วัคซีนโปลิโอในช่องปาก ซึ่งมีประสิทธิภาพทำนองเดียวกัน แต่การใช้วัคซีนดังกล่าวถูกระงับในสหรัฐฯ เนื่องจากโรคโปลิโอได้อ่อนแอลง ซึ่งไวรัสที่อ่อนแอเหล่านี้สามารถหลั่งออกมาในอุจจาระของผู้ที่ได้รับวัคซีน และในบางกรณีที่ไม่ค่อยพบเจอ คือไวรัสสามารถพัฒนาให้เหมือนกับไวรัสโปลิโอที่เกิดตามธรรมชาติ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยและอาจเป็นอัมพาตในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกัน 

และเพื่อป้องกันโรคโปลิโอ CDC แนะนำให้เด็กในประเทศเข้ารับวัคซีนโปลิโอ 4 โดส คือตอนอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, ระหว่าง 6-18 เดือน และระหว่าง 4-6 ปี ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ควรได้รับวัคซีน 3 โดส ซึ่งสามารถเข้ารับวัคซีนเข็มแรกได้ตลอด รับเข็มที่สองหนึ่งหรือสองเดือนต่อมา และรับเข็มสาม 6-12 เดือนหลังจากนั้น โดย CDC แนะนำว่า หากผู้ใหญ่ที่เคยได้รับเพียง 1 หรือ 2 ครั้งในอดีตสามารถบอกกับเจ้าหน้าที่ได้เพื่อให้ได้รับวัคซีนในปริมาณที่เหมาะสม

การฉีดวัคซีนโปลิโอ ครบ 2 โดส สามารถป้องกันโปลิโอได้อย่างน้อย 90% ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากมีไวรัสแทรกซึมเข้าไปในระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรืออัมพากที่แขน ขา หรือทั้งสองอย่าง นำไปสู่ความทุพพลภาพและเสียชีวิตได้ แต่ตามข้อมูลจาก CDC ระบุว่า หากได้รับวัคซีน 3 โดส จะมีการป้องกันอย่างน้อย 99%

แต่มีบางกรณีที่ผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว อาจได้รับพิจารณาให้ฉีดเข็มกระตุ้มได้อีก 1 เข็ม ก็ต่อเมื่อ พวกเขาทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการหรือสถานพยาบาลที่จัดเก็บตัวอย่างโปลิโอไว้ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโปลิโอ หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อไวรัส หรือกำลังจะเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงกับโปลิโอ เช่น อัฟกานิสถานและปากีสถาน ที่ยังมีโรคโปลิโอในธรรมชาติแพร่ระบาดอยู่ 

และจนถึงขณะนี้ มีการตรวจพบโรคโปลิโออัมพาตเพียงกรณีเดียวในการระบาดของสหรัฐฯ โดยเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนใน ร็อกแลนด์ เคาน์ตี้ ต่อมาตรวจพบไวรัสโปลิโอในตัวอย่างน้ำเสียจาก ร็อกแลนด์ เคาน์ตี้, ออเรนจ์ เคาน์ตี้, ซัลลิแวน เคาน์ตี้, นิวยอร์ก ซิตี้, และนาสเซา เคาน์ตี้ 

ส่วนหน่วยงานด้านสุขภาพแนะนำชาวนิวยอร์กให้เข้ารับเข็มกระตุ้นได้หาก เป็นบุคคลที่จะหรือมีการติดต่อกับบุคคลที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโปลิโอ, บุคคลให้บริการด้านสุขภาพที่ทำงานในสถานที่ที่มีการตรวจพบไวรัส และอาจจัดเก็บตัวอย่างที่มีโปลิโอหรือผู้รักษาผู้ป่วยที่อาจเป็นโปลิโอ, และบุคคลที่สัมผัสกับน้ำเสียจากการทำงาน 

ด้าน วินเซนต์ แรคาเนลโล ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโปลิโอ จากมหาวิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่า ประชาชนในรัฐที่ได้รับผลกระทบ ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจต้องพิจารณาเข้ารับเข็มกระตุ้น และหากไม่แน่ใจว่าต้องได้รับวัคซีนกี่โดสแล้ว ก็อาจพิจารณาเข้ารับเข็มกระตุ้นได้

ซึ่ง ดร.ลีนา เหวิน แพทย์ฉุกเฉิน และศาสตราจารย์ด้านนโยบายและการจัดการด้านสุขภาพของสถาบันสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวกับ CNN ว่า สิ่งสำคัญที่ควรรู้ไว้คือ วัคซีนโปลิโอ สามารถป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของโรคได้ แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนยังคงเป็นพาหะของโรคโปลิโอและสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ เพราะผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถแพร่เชื้อในอุจจาระได้หากพวกเขาสัมผัสกับเชื้อโรค โดยองค์การอนามัยแพนอเมริกา ให้ข้อมูลว่า นั่นเพราะวัคซีนโปลิโอสร้างการตอบสนองของแอนติบอดีที่แข็งแรงมากในเลือด แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้

ข้อมูลจาก CDC ระบุ ไวรัสโปลิโอ มักแพร่กระจายผ่านการสัมผัสอุจจาระของผู้ติดเชื้อ น้อยกว่าแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยที่ปล่อยออกมาเมื่อผู้ติดเชื้อจามหรือไอ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระจายไวรัสได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อโปลิโอได้

คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโปลิโอจะไม่แสดงอาการใดๆ ประมาณ 25% จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเจ็บคอ มีไข้ เหนื่อยล้า ปวดท้อง และคลื่นไส้ ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยจะมีอาการรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อของเนื้อเยื่อรอบไขสันหลังและ/หรือสมอง หรืออัมพาตซึ่งอาจนำไปสู่ความทุพพลภาพถาวรและเสียชีวิตได้ และบางครั้ง คนที่เหมือนจะหายจากโรคโปลิโอแล้วอาจเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตในทศวรรษต่อมา นี้เรียกว่า กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ

ที่มา : Polio is spreading in the US for the 1st time in decades. Do you need a booster?