Skip to main content

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกรัฐประหาร เสนอแนวคิดแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย ในงาน ‘คนไทย ไร้จน’ ซึ่งจัดขึ้นโดย CARE คิด เคลื่อน ไทย ที่ลิโด้ คอนเนค วันนี้ (14 ก.พ.)

อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นตำนานจากนโยบายเศรษฐกิจและสังคม และถูกรัฐประหารพร้อมถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเมื่อปี 2549 ได้ออกมาพูดถึงแนวคิดในการดูแลคนระดับฐานรากอีกครั้ง โดยเสนอปัจจัยที่จะทำให้การแก้ปัญหาความยากจน และแนวคิดเรื่องรายได้ขั้นพื้นฐาน และการดูแลคนที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน

::ถ้าประชาชนพยายามแล้วแต่ยังยากจน- นั่นคือความรับผิดชอบของรัฐบาล::

โดยเขาเริ่มต้นด้วยการหยิบยกยกคำพูดของ บิล เกตส์ ว่า ถ้าเราเกิดมาจน มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ถ้าเรายังตายจน มันเป็นความผิดของเรา ที่ไม่พยายามจะดิ้นรนแก้ปัญหา แต่ว่าถ้าเรายังไม่อยากตายจน แต่ยังต้องตายจน คือหมายความว่าเรามีความพยายามแล้วอะไรแล้ว เราไม่อยากตายจน แต่เรายังต้องตายจน มันเป็นความผิดของรัฐบาล หมายความว่ารัฐบาลมีหน้าที่สร้างโอกาสให้กับประชาชนของตัวเองทุกคน เพื่อจะได้มีโอกาสได้สร้างฐานะและก็ปรับตัวเองจากคนยากจนเป็นคนไม่ยากจน สิ่งเหล่านี้พูดง่ายแต่ทำยาก

::จะแก้ปัญหาต้องมีความลงตัว 3 ข้อ - การสนับสนุนทางการเมือง - ความเป็นผู้นำ – รู้วิธีทำ::

ทักษิณได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีว่า ช่วงนั้นอเมริกาเริ่มเกิดทำเรื่องของฐานข้อมูลทางด้านพิมพ์ลายนิ้วมือครั้งแรก เขาใช้คำว่า spirit of times แต่ภาษาเยอรมันใช้คำว่า Zeitgeist แปลว่า spirit of times แปลว่าช่วงจังหวะของเวลาที่มีความลงตัวทุกอย่าง ความลงตัวในที่นี่เนี่ย ก็คือ เขามี 3 ข้อ หนึ่งคือ การสนับสนุนทางการเมือง (Political Support) สอง มีความเป็นผู้นำ (Leadership) ในการที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ อันที่สามบอกว่ามี วิธีการ (Know-How) มีความรู้ในเรื่องนั้น

เมื่อพิจารณา การสนับสนุนทางการเมือง (Political Support) เราถือว่าความยากจน ไม่ใช่คนจนนะ ความยากจนเป็นการบ่อนทำลายประเทศ เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ให้มีความยากจนเหลืออยู่ เพราะความยากจนมีผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย จึงได้ประกาศทำสงครามกับความยากจนเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ

“สงครามยังไม่เกิดเลยยังซื้ออาวุธ แต่วันนี้สงครามมันเกิดแล้วก็คือสงครามความยากจน มันต้องซื้ออาวุธเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ซื้ออาวุธไปใช้สำหรับสงครามที่ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นวันนี้ การสนับสนุนทางการเมือง จึงเป็นหัวใจสำคัญข้อหนึ่ง” ทักษิณ กล่าว

ข้อที่สองก็คือ มีภาวะการเป็นผู้นำในการจะแก้ไขปัญหาความยากจนจริงหรือเปล่า อันนี้ต้องถาม พร้อมจะนำไหม ท่านมีความมุ่งมั่นไหม มีความต้องการจะขจัดมันจริง ๆ ไหม ถ้ามีต้องลงมือ และทุ่มเทเต็มที่

ส่วนเรื่องวิธีการ เราจะใช้สูตรเดิมมาแก้ปัญหาโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ต้องปรับสูตรหรือใช้บางส่วน ซึ่งอาจจะใช้ได้ไม่มากนัก เพราะของใหม่มันเปลี่ยนไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยอยากจะเน้นพูดเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลัก แต่มันทำไม่สำเร็จ ถ้าไม่มี 2 สิ่งข้างต้น

ไม่เพียงเท่านี้ การแก้ไขความยากจน ทักษิณยังแนะนำถึงสิ่งสำคัญว่า ต้องรู้เท่าทัน เศรษฐกิจทุนนิยม ชอบหรือไม่ชอบ เราอยู่ในเศรษฐกิจทุนนิยม เราจะต้องหาทางเข้าใจแล้วสู้กับมันให้ได้ อยู่กับมันให้ได้ แล้ววันนี้ที่ผมในอดีตหรือปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม หลังจากที่ผมพยายามแก้ แต่วันนี้ก็กลับไปที่เดิมก็คือว่า ชาวบ้านไม่มีเงินในการจะมาทำทุน ถ้าไม่มีเงินจะทำทุน มันก็ลำบากที่จะไปทำอะไร ไม่ว่าจะทำทุกอย่างมันต้องใช้ทุนหมด จะเลี้ยงไก่ก็ใช้ทุน จะไปขายข้าวโพดในตลาดก็ต้องใช้ทุน การเข้าหาแหล่งทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง ก่อนที่จะคิดว่าจะเพิ่มรายได้อย่างไร

::คิดเรื่อง Negative Income Tax – คนที่รายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ต้องเติมให้เขาไป::

นอกจากนี้ ทักษิณ ยังเสนอถึงโมเดลทางเศรษฐกิจในการแก้ไขความยากจนอย่าง รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าและภาษีเงินได้ติดลบว่า

“UBI - Universal basic income ก็ดูว่า เออ รายได้เขาควรจะมีเท่าไหร่ ทีนี้ อีกอันหนึ่งก็พูดถึงเรื่อง Negative Income Tax ผมก็นั่งคิด เออ วันนี้ต้องเสริมให้เขาอยู่ได้ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงนั่งคิดว่า แล้วจะเอาตังค์ที่ไหน โอ้ว เราให้ทุกคนรายงานรายได้ ทำบัญชี ทำแบบฟอร์มสรรพากร ถึงแม้ว่าคุณจะมีรายได้ต่ำยังไงก็ทำแบบฟอร์มมา เราจะเห็นเลยว่า ใครมีรายได้เท่าไหร่ คนมีรายได้สูงก็โดนภาษี โดนภาษี เราก็ Tax ก็เลยเป็น Positive Income Tax แต่คนมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่จะไม่สามารถอยู่อย่างมนุษย์ได้เนี่ย เราก็เติมให้เขาไป เขาเรียกว่าเป็น Negative Income Tax”

“คิดตั้งแต่วันนี้ครับ ถ้าคิดช้ากว่านี้ คนชั้นกลางก็จะเป็นคนจนต่อไป ไม่ใช่ว่าเอาคนจนขึ้นมาพ้นจากความยากจนนะ คนชั้นกลางเราจะตกชั้นด้วย ถ้าหากว่าเราไม่คิดล่วงหน้า ถึงเวลาแล้วครับ คิดล่วงหน้า ตามให้ทันโลก” อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวทิ้งท้าย