การศึกษาล่าสุดในเกาหลีใต้ คนเกาหลีใต้ที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองนั้น มีความสัมพันธ์กันระหว่างปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) รัฐบาลเกาหลีใต้ เปิดเผยรายงานพบว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประชาชน 1 ใน 5 ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้ เปิดเผยผลการชันสูตรทางจิตวิทยาที่รวบรวมระหว่างปี 2558 - 2564 ผ่านการวิจัยร่วมกันกับมูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตายของเกาหลี เป็นชุดการวิเคราะห์ที่ดำเนินการเพื่อตรวจสอบสภาพจิตใจของผู้ตายก่อนเสียชีวิต จากการเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ครอบครัว เพื่อน และคนอื่นๆ ที่เคยติดต่อกับบุคคลนั้นก่อนเสียชีวิต ตลอดจนรายงานทางการแพทย์และการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
รายงานพบ 132 เคสที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายตั้งแต่มกราคม 2563 มี 29 ราย หรือคิดเป็น 22% พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีส่วนเกี่ยวข้อง และใน 29 รายนี้เป็นผู้ชาย 19 ราย และผู้หญิง 10 ราย ทั้งหมดประสบปัญหาความไม่มั่นคงในสถานะการทำงาน, ปัญหาความสัมพันธ์ และปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรงก่อนเกิดการระบาด อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สภาวะเหล่านี้แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พวกเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด
ขณะที่มี 23 ราย ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน และในนั้นมี 10 รายประสบปัญหาหนี้สิน และอีก 8 รายแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และในจำนวนนี้มี 9 คนทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ เช่น การท่องเที่ยว บันเทิง และการศึกษา คนสองคนซึ่งไม่ได้เปิดเผยอาชีพการงาน ได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานหนักเกินไปซึ่งเกิดจากวิกฤตสุขภาพ
ระหว่างปี 2558-2563 ทางการได้ทำการชันสูตรทางจิตวิทยาในคดีฆ่าตัวตาย 801 คดี และทำการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัว 952 คน พบ 67% เป็นผู้ชายและ 32% เป็นผู้หญิง และผู้เสียชีวิตแต่ละคนมีปัจจัยความเครียดโดยเฉลี่ย 3 ข้อ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ความยากลำบากทางการเงิน และการตกงาน
นักวิจัยเน้นว่า 94% ของผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแสดงสัญญาณเตือนทางพฤติกรรม ทางวาจา และอารมณ์ เช่น นอนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แยกตัว หรือพูดถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งหมายความว่าการเสียชีวิตของพวกเขาสามารถป้องกันได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลเปิดผลการศึกษาการชันสูตรทางจิตวิทยาประจำปีเพื่อหาทางแก้ไขอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ซึ่งยังคงสูงที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD
ที่มา : Study finds correlation between pandemic-induced socio-economic difficulties and suicide