เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะ 10 คน ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้แก่
- ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
- อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
Rocket Media Lab ชวนสำรวจข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในวันที่ 2 ส.ค. 2478 ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นการเปิดอภิปรายเพื่อให้มีการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ในสภา ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่านักการเมืองไทยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นอะไรมากที่สุด และมีประเด็นอะไรน่าสนใจอีกบ้าง
อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2478-ปัจจุบัน
จากข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นตลอด 90 ปี ที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมทั้งหมด 44 ครั้ง (ยังไม่นับรวมครั้งล่าสุดที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565) พบว่าเป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะ จำนวน 9 ครั้ง และแบบรายบุคคล จำนวน 36 ครั้ง ซึ่งในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในเดือนมิถุนายน 2536 มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งสองแบบในคราวเดียว โดยพรรคชาติไทยของประมาณ อดิเรกสาร ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล และพรรคชาติพัฒนาของชาติชาย ชุณหะวัณ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ โดยอาศัยข้อ 39 (2) ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535 กล่าวว่า “ขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน” โดยฝ่ายค้านอ้างว่าทั้ง 2 ญัตติมีเนื้อหาการอภิปรายไม่เหมือนกันจึงยื่นขอเปิดอภิปรายทั้งสองแบบ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรรับรองญัตติทั้งสอง
ในจำนวนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะทั้ง 9 ครั้ง พบว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง 7 ครั้ง และไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2481 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา อันเกิดมาจาก ขุนชำนิอนุสาส์น ผู้ยื่นขอเปิดอภิปรายตัดสินใจถอนญัตติในวันอภิปรายทำให้ไม่มีการอภิปรายเกิดขึ้น และในปี 2530 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ อันเกิดจากในวันอภิปราย มีผู้ขอถอนญัตติจำนวน 15 คน ทำให้ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมีจำนวนผู้รับรองไม่ถึง 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติต่อไปได้
ขณะที่ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคลทั้ง 36 ครั้ง จะพบว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง 33 ครั้ง ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2523 สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภา ทำให้ไม่มีการอภิปรายเกิดขึ้น ต่อมาในปี 2527 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ประมาณ อดิเรกสาร ผู้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ออกมาชี้แจงญัตติ ทำให้ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจถูกตีตกไป และในปี 2528 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของประมาณ อดิเรกสาร ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีไม่ชอบตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521
และเมื่อพิจารณาผลการลงมติจะพบว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะ มีผลการลงมติไว้วางใจ 5 ครั้ง ผ่านญัตติในที่ประชุม* 1 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยในที่ประชุมมีมติให้ผ่านระเบียบวาระ* และไม่มีการลงมติ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดในปี 2538 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในวันที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ไม่มีการลงมติเกิดขึ้น
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล มีผลการลงมติ ไว้วางใจ 32 ครั้ง และผ่านญัตติในที่ประชุม 1 ครั้ง ในปี 2526 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ โดยสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ผ่านระเบียบวาระตามมติในที่ประชุมสภาตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521
โดยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 44 ครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะมากที่สุด คือ รัฐบาลชวน หลีกภัย 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่งนายกฯ 2 สมัย, รัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนา 2 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 5 สมัย และรัฐบาลของถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลละ 1 ครั้งเท่ากัน
ส่วนรัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคลมากที่สุด คือรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ 8 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 3 สมัย, รัฐบาลชวน หลีกภัย 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย เท่ากับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย และรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ 3 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 1 ครั้ง
และหากรวมทั้งแบบทั้งคณะและรายบุคคล จะพบว่า รัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุดก็คือรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ 9 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 3 สมัย รองลงมาคือรัฐบาลชวน หลีกภัย 7 ครั้ง (เนื่องจากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2536 มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 แบบ ในคราวเดียวกัน ทำให้เวลานับจำนวนครั้งแบบแยกทั้งคณะและรายบุคคลต้องแยกการยื่นญัตติครั้งนี้ออกเป็น 1 ครั้งเสมอ) จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัยและรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้งจากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย
หากพิจารณาจากกระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุด โดยนับเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคล จะพบว่า กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 32 ครั้ง กระทรวงคมนาคม 24 ครั้ง กระทรวงพาณิชย์ 20 ครั้ง กระทรวงการคลัง 18 ครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 13 ครั้ง และกระทรวงอุตสาหกรรม 11 ครั้ง ในขณะที่รัฐมนตรีที่ยังไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยมี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทั้ง 4 กระทรวงเพิ่งก่อตั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรายบุคคล จะพบว่า ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนักการเมืองที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด 6 ครั้ง แบ่งเป็นขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 3 ครั้ง เมื่อปี 2536 และ 2537, ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ครั้งในปี 2540 และขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 ครั้ง ในปี 2545 และปี 2547 ตามลำดับ
อภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายประเด็นอะไรมากที่สุด
จากเนื้อหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 44 ครั้งที่ผ่านมา Rocket Media Lab ได้จำแนกหมวดหมู่ประเด็นออกเป็น 1. การบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ 2. การใช้อำนาจโดยมิชอบ 3. การทุจริต 4. การดำเนินนโยบายผิดพลาด และ 5. การคุกคามสิทธิเสรีภาพ
หากพิจารณาจากการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะทั้ง 9 ครั้ง ที่ผ่านมา จะพบว่าการบริหารไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 41 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ณ วันที่ 12 ต.ค. 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา มีการอภิปรายถึงการไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ละเลยการดำเนินนโยบายที่ควรทำ และไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรครินเดอร์เปสต์และบาโบนในสัตว์พาหนะของราษฎรได้
รองลงมาคือ การทุจริต ร้อยละ 23 ซึ่งถูกพูดถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2530 ในสมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ในประเด็นที่รัฐมนตรีลงนามในใบอนุโมทนาบัตรและใบเกียรติคุณรับรองการบริจาคเงินอันเป็นเท็จ และใช้หลักฐานเท็จขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระมหากษัตริย์
ตามมาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือคนอื่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ ในวันที่ 19 พ.ค. 2490 ในสมัยรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยมีรายละเอียดเรื่องการโยกย้ายข้าราชการตามอำเภอใจ และประเด็นที่องค์การสรรพาหารนำเงินไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากสภาอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.งบประมาณ
การดำเนินนโยบายผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายที่เคยแถลงต่อรัฐสภา แต่ในการดำเนินตามนโยบายนั้นกลับไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.5 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2533 ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในประเด็นการไม่ปฏิรูปที่ดินและออกเอกสารสิทธิ์เพื่อให้ประชาชนมีที่ทำกิน และการเก็บค่าผ่านทาง กรณีเส้นทางเข้าภาคอีสานทั้ง 4 ด่านสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
และการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุกคามประชาชนผ่านอำนาจหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีสัดส่วนร้อยละ 13.5 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2533 สมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างสันติ กรณีต่อต้านการทำนาเกลือในลุ่มน้ำเสียว และการสร้างเขื่อนปากน้ำมูล
ขณะที่เมื่อพิจารณาจากการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล ทั้ง 36 ครั้งที่ผ่านมา จะพบว่า การบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 34 โดยถูกพูดถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2517 ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายประเด็นการไม่สามารถรักษานโยบายทางการเงิน จากกรณีการเร่งรัดพิมพ์ธนบัตรกับบริษัทโธมัส เดอลารู 4,000 ล้านบาท
รองลงมาคือ การทุจริต มีสัดส่วนร้อยละ 27 ถูกพูดถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2517 ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายประเด็นรับสินบนในการเปิดประมูลโรงเหล้า 100 ล้านบาท
ตามมาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2517 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายในประเด็นการใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองในข้าราชการประจำ กรณีการย้ายสวัสดิ์ อุทัยศรี ออกจากอธิบดีกรมธนารักษ์ เพราะเป็นผู้เอาหลักฐานการทุจริตไม้เถื่อนให้กับหนังสือพิมพ์ ส่วนเกษม ศิริสัมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และขุนทอง ภูผิวเดือน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกอภิปรายในประเด็นไร้สมรรถภาพในการจัดหาที่เรียนให้เพียงพอ เกิดการวิ่งเต้นและการคอรัปชั่นในวงการศึกษา และอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถูกอภิปรายในประเด็นที่รัฐมนตรีรู้เห็นเป็นใจกรณีที่กรมสรรพสามิตร่วมมือกับกลุ่มสุราทิพย์ในการขายเหล้าข้ามเขต
ประเด็นเรื่องการดำเนินนโยบายผิดพลาด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2488 สมัยรัฐบาลควง อภัยวงศ์ โดยเล้ง ศรีสมวงศ์ และอุดม สนิทวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายในประเด็นที่กระทรวงการคลังขึ้นค่าเช่าอาคาร และเรียกเก็บเงินกินเปล่ากับผู้เช่าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เกินขนาด ส่งผลกระทบกับประชาชนผู้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน
และสุดท้าย การคุกคามสิทธิเสรีภาพ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ในวันที่ 9 มิ.ย. 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกอภิปรายในประเด็นสลายการชุมนุมม็อบชาวนาที่กำแพงเพชร ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ไม่อาจถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ดังกล่าว อีกร้อยละ 6 เช่น ประเด็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา, ประเด็นเจ้าหน้าที่การทูตไทยถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จับกุมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลในวันที่ 2 มิ.ย. 2525 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์, ประเด็นการบรรยายหัวข้อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ของกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อ 1 มิ.ย. 2553 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
และเมื่อนำเอาข้อมูลกระทรวงที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาพิจารณาร่วมกันก็จะพบว่า ในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย 18 ครั้ง ส่วนการทุจริต กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 21 ครั้ง ประเด็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 14 ครั้ง ประเด็นการดำเนินนโยบายผิดพลาด กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงการคลัง 4 ครั้ง และประเด็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงกลาโหม 3 ครั้ง
กลับกันหากพิจารณาจากรายกระทรวงก็จะพบว่า กระทรวงมหาดไทย ซึ่งถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่กระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพและการใช้อำนาจโดยมิชอบมากที่สุดเท่าๆ กัน ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพและการทุจริตมากที่สุดเท่าๆ กัน และกระทรวงอุตสาหกรรม ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด
ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ตลอด 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 23 คน ที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 44 ครั้ง แต่ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ซึ่งจะกำหนดว่าต้องมีสมาชิกรับรองการยื่นจำนวนเท่าไหร่ถึงจะสามารถเปิดอภิปรายได้ จำนวนสมาชิกในสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่จะมีผลต่อการรับรองในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่มาของรัฐบาล
การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะ ถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยในฉบับพ.ศ. 2475 ระบุในมาตรา 26 ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณของสภาผู้แทนราษฎร (ในข้อ 24 วรรคสองแห่งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477 ระบุว่าในการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องมีสมาชิกรับรองไม่ต่ำกว่า 15 คน)
ส่วนในฉบับพ.ศ. 2489 - 2490 ได้บัญญัติไว้ว่าการยื่นเสนอญัตติต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่ต่ำกว่า 24 คน ขณะที่ฉบับ พ.ศ. 2492 - 2495 ปรับจำนวนผู้ยื่นเสนอญัตติต้องมีสมาชิกรับรอง 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาฉบับพ.ศ. 2511 เป็นครั้งแรกที่ให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมในการรับรองญัตติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร โดยต้องมีผู้รับรองไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 ของรัฐสภา หลังจากนั้นในฉบับ พ.ศ. 2517 - 2534 ปรับให้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรองในการเสนอญัตติเท่านั้น โดยต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ในขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแยกรูปแบบการอภิปรายไว้ชัดเจน กำหนดให้การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ปรับสัดส่วนการยื่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ โดยการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ระบุไว้ในมาตรา 151 ว่าการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะจะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรอง 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล กับรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มีผลต่อการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกฝ่ายรัฐบาลมากกว่าสมาชิกฝ่ายค้าน อาจทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามที่ต้องการได้
ที่มาของรัฐบาลก็มีส่วนต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นกัน โดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แต่ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของสภานิติบัญญัติในการปกครอง เมื่อไม่มีกลไกของรัฐสภา จึงไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น
ดังเช่นกรณีของถนอม กิตติขจรหลังทำรัฐประหารตัวเองใน พ.ศ. 2514 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ทำให้กฎหมายสูงสุดของประเทศในเวลานั้นคือธรรมนูญการปกครองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้มีการบัญญัติข้อกฎหมายเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นการตรวจสอบกันเองในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้ต่อมาถนอม กิตติขจรลาออกจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และมีสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่การมีอยู่ของสภานิติบัญญัติทำให้ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้ง
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยของสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในปี 2517 โดยเป็นการอภิปราย สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาเหตุเนื่องจากในช่วงนั้นมีการคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่ สมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากถนอม กิตติขจร ลาออกเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถเปิดประชุมสภานิติบัญญัติได้ มีการคัดเลือกสภานิติบัญญัติใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการพลเรือน ประจวบเหมาะกับได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 มีบทบัญญัติในมาตรา 159 ที่ทำให้สามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ จนทำให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสภานิติบัญญัติ
นายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จากข้อมูลพบว่าตลอด 90 ปีที่ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 23 ครั้ง โดยมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด 4 ครั้ง แต่ขณะเดียวกันมีนายกรัฐมนตรีอยู่ 17 คนที่ยังไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบ่งออกเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร 12 คน ได้แก่
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (พ.ศ. 2475 - 2476)
- แปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481 - 2487, พ.ศ. 2491 - 2494 และ พ.ศ. 2500)
- ควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2487 - 2488, พ.ศ. 2489 และ พ.ศ. 2491)
- ทวี บุณยเกตุ (พ.ศ. 2488)
- เสนีย์ ปราโมช (พ.ศ. 2488 - 2489, พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519)
- ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2489)
- ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2512 - 2514)
- คึกฤทธิ์ ปราโมช (พ.ศ. 2518 - 2519)
- สุจินดา คราประยูร (พ.ศ. 2535)
- อานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2535)
- ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544 - 2549)
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (พ.ศ. 2551)
นายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะรัฐประหาร 10 คน
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (พ.ศ. 2476)
- แปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2495 - 2500)
- ควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2490 - 2491)
- พจน์ สารสิน (พ.ศ. 2500 - 2501)
- ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2506 - 2512 และ พ.ศ. 2515 - 2516)
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502 - 2506)
- สัญญา ธรรมศักดิ์ (พ.ศ. 2516 - 2518)
- ธานินทร์ กรัยวิเชียร (พ.ศ. 2519 - 2520)
- อานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2534 - 2535)
- สุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549 - 2551)
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น โดยแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ หนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490 แต่ก็ไม่เกิดการยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย สอง รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหารแทบทั้งหมด (ยกเว้นรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490) ก็ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการยื่นขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจระบุไว้
ส่วนนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร แม้จะมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้อยู่ และเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ สัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาล ก็มีผลต่อการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นกัน
ยกตัวอย่างกรณีของทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรถึง 4 ครั้ง แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะในมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดไว้ว่า ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นสมัยแรก โดยมีที่นั่งในสภาสูงถึง 326 ที่นั่ง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน ในขณะที่ในสมัยที่ 2 พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภาสูงขึ้นเป็น 375 ที่นั่ง เท่ากับว่าหากฝ่ายค้านต้องการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่ต่ำกว่า 200 คน จึงจะสามารถขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้น ฝ่ายค้านซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภารวมกันไม่เกิน 125 ที่นั่งจึงไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้
ด้านระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาล และวิกฤติทางการเมืองนั้น มีกรณีที่น่าสนใจคือ รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็ตาม แต่เนื่องจากระยะเวลาดำรงตำแหน่งไม่นานนักคือ สมัยแรก 136 วัน สมัยที่สอง 27 วัน และสมัยที่สาม 169 วัน ก่อนถูกรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของสงัด ชลออยู่ จึงทำให้ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากมติสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 75 วัน
และกรณีของเปรม ติณสูลานนท์ แม้จะดำรงตำแหน่งนานถึง 8 ปี 154 วัน และรัฐบาลเคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วถึง 9 ครั้ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการยื่นขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2528 แต่ก็ยังถูกตีตกไปเนื่องจากญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ผู้ยื่นญัตติขอเปลี่ยนรูปแบบการอภิปรายจาก ‘นายกรัฐมนตรี’ เป็น ‘นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล’ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติว่า ญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
อภิปรายไม่ไว้วางใจมีผลแค่ไหน เมื่อบทสรุปไว้วางใจตลอด
จากข้อมูลจะเห็นว่ายังไม่เคยมีผลลงมติไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้จะมีข้อหาที่ร้ายแรงถึงขนาดที่ฝ่ายค้านอาจโน้มน้าวให้สภาผู้แทนราษฎรในสภาร่วมโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่เกิดขึ้น
เหตุที่เป็นเช่นนี้ อิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายในบทความ 'พูดไปสองไพเบี้ย?: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ' โดยอ้างถึงงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองหลายคน แล้วสรุปว่า
“...ในระบอบรัฐสภา รัฐบาลได้รับอำนาจฝ่ายบริหารจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านการรับรองโดยสภาผู้แทน (ซึ่งต่างจากในระบอบประธานาธิบดีซึ่งรัฐบาลได้รับอำนาจโดยตรง) อำนาจฝ่ายบริหารของรัฐบาลนี้จะคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐบาลสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ชะตาชีวิตของรัฐบาลย่อมกลับไปขึ้นอยู่กับผลการลงมติโดยสมาชิกสภาผู้แทน ด้วยเหตุนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงสร้างภาวะ ‘ลงเรือลำเดียวกัน’ (legislative cohesion) ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่ยินยอมร่วมมือกัน ผลการลงมติไม่ไว้วางใจก็อาจกลายเป็นวิกฤตของรัฐบาล และนำไปสู่การยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในที่สุดแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนเองก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย…”
อาจเรียกได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมและตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติที่รุนแรงที่สุดในการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะมีกลไกและเงื่อนไขที่สามารถนำไปสู่การถอดถอนการดำรงตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทนได้ ในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารมีสิทธิที่จะประกาศยุบสภา เพื่อล้มฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ นำไปสู่การคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ถึงอย่างนั้น รัฐธรรมนูญของไทย อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่ห้ามยุบสภาระหว่างยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจนกว่าจะมีการอภิปรายเสร็จโดยเริ่มบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดย จิรากิตติ์ แสงลี กล่าวถึงในบทความ “ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการ ‘ยุบสภา’ ในฐานะที่เป็นกลไกของระบบรัฐสภาในรัฐธรรมนูญไทย” ในหนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ในประเด็นนี้ว่า
“ข้อห้ามของการไม่ให้ยุบสภาภายหลังจากการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทย อันเป็นบทบัญญัติที่เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่ได้มีการลอกเลียนข้อความคิดนี้จากต่างประเทศ”
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีต และเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติยังประสบปัญหาเรื่องการมีมติของพรรคที่อยู่เหนือความเป็นปัจเจกในอุดมการณ์ของนักการเมือง ตระกูล มีชัย และชมพูนุท ตั้งถาวร อธิบายไว้ใน การศึกษาอนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน : ในมิติของสถาบันการเมือง (2563) ต่อกรณีที่ไม่มีสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลคนใดลงชื่อกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านเลยว่า
“ถึงแม้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระ ไม่ผูกมัดกับมติพรรค ซึ่งส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ หรือไว้วางใจ จะเป็นการลงคะแนนตามที่วิปของรัฐบาล และวิปพรรคฝ่ายค้านกำหนด ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นที่คาดหมายล่วงหน้าว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องลงคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐมนตรีโดยไม่ต้องพิจารณาข้อมูลจากการอภิปรายว่ารัฐมนตรีมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดในการบริหารหรือไม่ มาตรการควบคุมเสียงของวิปรัฐบาล และมติของพรรคการเมืองที่ถือเป็นกฎเหล็กในการควบคุมระเบียบวินัยในการลงมติใดๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงหุ่นยนต์ ที่ถูกโปรแกรมไว้ให้ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ห้ามทำในเรื่องใด จากพรรคการเมืองที่ตนสังกัด”
ทั้งหมดจึงนำมาสู่คำถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นกลไกในกระบวนการรัฐสภาที่ใช้ได้จริงหรือไม่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นเดียวกันนี้ในบทความ 'บทบาทและสถานะของการอภิปรายไม่ไว้วางใจของการเมืองรัฐสภาในปัจจุบัน' ในเว็บไซต์มติชน ว่า
“แม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจมีบทบาทและสถานะของมันในการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนให้เห็นความแตกต่างในทางอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง และจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน”
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เคยมีกลไกที่สามารถมีบทลงโทษโดยตรงต่อผู้ถูกอภิปรายหากพบความผิดจากประเด็นที่ถูกอภิปรายมีมูลพอ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2550 ระบุขั้นตอนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในกรณีที่มีหัวข้อการมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะต้องยื่นคำร้องถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อประธานวุฒิสภาก่อน จึงจะสามารถเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในหัวข้อนี้ได้ โดยในระหว่างการตรวจสอบ สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
แม้ผลการลงมติจะออกมาว่า ไว้วางใจ แต่ในกระบวนการถอดถอนและดำเนินคดีหากพบว่ามีความผิดจะถูกส่งเรื่องไปศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวถูกถอดออกจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
จากข้อมูลพบว่า ถึงแม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งจะได้รับการลงมติไว้วางใจทุกครั้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อให้เกิดผลตามมา เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 19 พ.ค. 2490 แม้ผลจะออกมาว่าไว้วางใจ แต่หลังการอภิปรายนายกรัฐมนตรีและคณะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐมนตรีใหม่ ก่อนที่ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จะกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แม้ผลอภิปรายครั้งแรกใน พ.ศ. 2522 สภายังไว้วางใจรัฐมนตรี แต่ต่อมาในช่วงต้นปี 2523 รัฐบาลได้ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่
นอกจากผลที่เกิดตามหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ก็ยังมีผลทางอ้อมที่เกิดก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เช่น เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2523 เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯ ในขณะนั้นประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงปลาย พ.ศ. 2537 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 2 คน คือ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ทั้งสองคนลาออกก่อน ต่อมาฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ในวันที่ 17-18 พ.ค.2538 และยังไม่ทันมีการลงมติ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภา และในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ผลการลงมติจะออกมาไว้วางใจก็ตาม
สถานะเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในไทย แม้จะเป็นกลไกควบคุมฝ่ายบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญต่อความงอกงามของประชาธิปไตย แต่ในเมื่อเสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติยังถูกฝ่ายบริหาร หรือพรรคการเมืองรัฐบาลควบคุมอยู่ สถานะที่สามารถนำไปสู่การตรวจสอบและถอดถอนผู้ถูกอภิปรายตามกลไกประชาธิปไตย ถูกลดลงมาเป็นเพียงการแสดงจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ และนโยบาย ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำให้การไว้วางใจที่แท้จริงกลับไปอยู่ในมือของประชาชนแทนว่า รัฐบาลชุดนี้สมควรที่จะได้ไปต่อในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่
ที่มา : การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ศ. 2478-2565 [ข้อมูลดิบ]