Skip to main content

 

ครั้งหนึ่ง จีนเคยขึ้นชื่อว่า เป็น “อาณาจักรแห่งจักรยาน” แต่การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวจีนจำนวนนับล้านให้พ้นจากความยากจน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษอันเลวร้าย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอากาศพิษไม่ต่ำกว่าปีละ 1.1 ล้านคน

ย้อนหลังไป 20 ปีของการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันรายได้ประชาชาติของจีนโตขึ้นจาก 2 ทศวรรษที่แล้ว 1078% ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 74% และจำนวนยานยนต์เพิ่มขึ้น 335%

เมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภครถยนต์รายใหญ่ของโลก ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นนอกจากนี้ ยังมีการใช้ถ่านหินในปริมาณสูงโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ต้องการความอบอุ่น ส่งผลให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ลง ในปี 2013 ปักกิ่งมีปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเฉลี่ยถึง 101.56 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

หายนะจากมลพิษอากาศสร้างความไม่พอใจให้กับพลเมืองจีน รัฐบาลจึงเริ่มต้นแก้ไขคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆ โดยสั่งห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และให้โรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่มีมลพิษสูงหยุดดำเนินการ รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดเล็กตามเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย รวมทั้งจำกัดจำนวนรถยนต์บนถนนในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น และกวางเจา และเริ่มนำเอารถโดยสารขนส่งมวลชนระบบไฟฟ้ามาใช้ รวมทั้งให้ลดกำลังการผลิตเหล็ก และปิดเหมืองถ่านหิน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเริ่มโครงการปลูกสวนป่าและฟื้นฟูพื้นที่ป่า เช่น โครงการกำแพงยักษ์สีเขียว (Great Green Wall) ที่มีการปลูกต้นไม้มากกว่า 3.5 หมื่นล้านต้นในพื้นที่ 12 จังหวัด ใช้งบประมาณมากกว่า 1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าของจีนเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 3 เท่า

ในปี 2013 จีนประกาศใช้แผนปฏิบัติการมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้จีนปรับปรุงคุณภาพอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงระหว่างปี 2013 ถึง 2017 สามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่งลงได้ร้อยละ 33 และที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ร้อยละ 15 ในปักกิ่งปริมาณ  PM2.5 ลดลงจาก 89.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.มาอยู่ที่ 60 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 52 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีเมืองใดเลยที่ค่าฝุ่น PM2.5 เข้าใกล้มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งอยู่ที่ 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ปลายปี 2017 มี 107 จาก 338 เมืองของจีนที่ระดับ PM2.5 สูงกว่าหรืออยู่ในค่ามาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลกที่ 35 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

หลังประกาศสงครามกับควันพิษ และเริ่มแผนปฏิบัติการคุณภาพอากาศ 5 ปีในปี 2013 การต่อสู้กับมลพิษทางอากาศระยะที่ 2 ของจีนเริ่มขึ้นในปี 2018 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปีในการต่อสู้เพื่อนำท้องฟ้าสีฟ้ากลับคืนมา

แผนปฏิบัติการปี 2013 เป็นการตั้งเป้าลดปริมาณ PM2.5 ในเมืองปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล แต่แผน 3 ปีที่ประกาศใช้ในปี 2018 บังคับใช้กับทุกเมืองของจีน โดยสั่งให้ลด PM2.5 ลงอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 18 จากการที่ค่าเฉลี่ยของเมืองต่างๆ ในปี 2015 ยังไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 35 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ในปักกิ่ง เริ่มมีการใช้แผนควบคุมมลพิษทางอากาศที่ครอบคลุม โดยมุ่งเป้าไปที่แหล่งกำเนิดมลพิษ หัวใจ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางในเมืองจากรถยนต์มาเป็นขนส่งสาธารณะระบบราง ในปี 2016 มีการจัดทำเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในการสร้างเครือเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง และเรดาห์ตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนด้วยเลเซอร์ เพื่อเฝ้าระวัง PM2.5 มีการติดตั้งตัวรับส่งสัญญาณมากกว่า 1,000 แห่งทั่วปักกิ่ง ซึ่งจะทำหน้าที่ระบุพื้นที่และช่วงเวลาที่จะเกิดมลพิษในระดับสูงได้อย่างแม่นยำ

คุณภาพอากาศตามเมืองใหญ่ๆ ของจีนเริ่มดีขึ้นในตอนต้นปี 2020 จากสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เริ่มจากเมืองหวู่ฮั่น มาตรการล็อกดาวน์ การลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มีผลทำให้การผลิตก๊าซเรือนกระจกลดลง และคุณภาพอากาศในช่วงตรุษจีนดีขึ้น ทั้งในหวู่ฮั่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

ล่าสุด ทางการจีนเผยว่า ในปี 2024 ปักกิ่งมีวันที่สภาพอากาศมีระดับมลพิษสูงเพียง 2 วัน ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยตลอดทั้งปีมีวันที่อากาศดีถึง 290 วัน คิดเป็นร้อยละ 79.2 ของทั้งปี

สี จินไค ผู้อำนวยการสำนักงานบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของจีน กล่าวว่า มีการใช้มาตรการใหม่เพื่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศในปักกิ่ง เช่น การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า การยกระดับมาตรฐานมลพิษอุตสาหกรรม และการปิดคลุมการก่อสร้างอาคารแบบมิดชิด ซึ่งช่วยให้ลดปริมาณมลพิษทางอากาศได้มาก


อ้างอิง
How China Is Winning Its Battle Against Air Pollution
Clearing the skies: how Beijing tackled air pollution & what lies ahead
Beijing sets historic records for air quality in 2024