Skip to main content

 

ผู้ควบคุมเนื้อหาบนเฟสบุ๊กในเคนยา มากกว่า 140 คน ได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการป่วยทางจิตจากการดูภาพและวิดีโอจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีทั้งการฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การชำเราศพ และการก่อการร้าย เพื่อลบหรือปิดกั้นเนื้อหาเหล่านั้น

ดร.เอียน กานยานยา หัวหน้าแผนกสุขภาพจิต โรงพยาบาลเคนยัตตาในไนโรบี กล่าวว่า ผู้ควบคุมเนื้อหาเหล่านี้ ทำงานวันละ 8 ถึง 10 ชั่วโมงในบริษัทที่ทำสัญญาจ้างกับบริษัทยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดีย และพบว่า มีอาการ PTSD (post traumatic stress disorder) และมีภาวะวิตกกังวลร่วมกับซึมเศร้า

การตรวจสอบของ ดร.เอียน พบว่า มีผู้ควบคุมคอนเทนต์ 144 คนที่มีอาการ PTSD วิตกกังวล และซึมเศร้า โดยร้อยละ 81 มีอาการป่วยด้วย PTSD

ภาพและวิดีโอต่างๆ ที่ผู้ควบคุมเนื้อหาในเคนยาต้องรับมือ รวมไปถึงพฤติกรรมที่วิตถาร เช่น การชำเราศพ การข่มขืนสัตว์ หรือการทำร้ายตัวเอง ซึ่งทำให้คนคุมคอนเทนต์บางรายเป็นลมล้มพับ หรือไม่ก็อาเจียน กรีดร้อง และบางคนวิ่งเตลิดจากโต๊ะทำงาน

มีผู้ควบคุมเนื้อหามากกว่า 40 รายที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์จัด ใช้สารเสพติด อย่างกัญชา โคเคน ยาบ้า และพึ่งพายานอนหลับ ยังมีรายงานการเลิกราของคู่แต่งงาน รวมถึงคนที่หมดความเสน่หาทางเพศ และตัดขาดตัวเองจากครอบครัว ผู้ควบคุมเนื้อหาบางคนซึ่งมีหน้าที่ลบวิดีโอที่อัพโหลดโดยผู้ก่อการร้ายและกลุ่มกบฏ เกิดความกลัวและวิตกกังวลว่า ตัวเองและครอบครัวจะตกเป็นเป้าการตามล่าและลอบสังหารของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้

การตรวจวินิจฉัยครั้งใหญ่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชุดกฎหมายต่อสู้กับ Meta บริษัทแม่ของเฟสบุ๊ก และซามาซอส เคนยา บริษัทที่รับจ้างดูแลคอนเทนต์ให้กับ Meta ซึ่งใช้แรงงานจากประชากรจากทั่วแอฟริกาในการควบคุมเนื้อหา

เฟสบุ๊กและบริษัทโซเชียลมีเดีย รวมถึงบริษัทเอไอยักษ์ใหญ่ ต่างพึ่งพาบรรดาผู้ควบคุมคอนเทนต์ในการลบโพสต์ที่ละเมิดต่อมาตรฐานของชุมชน และเทรนระบบเอไอให้ทำในสิ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ฉายภาพของต้นทุนมนุษย์จากการที่โซเชียลมีเดียบูมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งต้องการคนควบคุมเนื้อหาที่มากขึ้นและมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นคนจากภูมิภาคส่วนที่ยากจนที่สุดของโลก ในการปกป้องผู้ใช้งานแฟลตฟอร์มจากเนื้อหาที่เลวร้ายซึ่งโพสต์โดยคนจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ คนที่ทำงานควบคุมคอนเทนต์โซเชียลมีเดียจากเคนยาและประเทศแอฟริกาอื่นๆ ที่ทำงานตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 ในการตรวจสอบโพสต์จากแอฟริกา และในภาษาถิ่นต่างๆ ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าคนที่ทำงานแบบเดียวกันในสหรัฐถึง 8 เท่า

ผู้ควบคุมคอนเทนต์ 190 ราย กำลังนำข้อกล่าวหาต่างๆ รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องเจตนาสร้างความเสียต่อสุขภาพจิต การจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสยุคใหม่ และการทำผิดกฎหมายซ้ำซ้อน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ขณะที่แหล่งข่าวจาก Meta และบริษัทซามาซอส ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นและปฏิเสธความรับผิดชอบจากการฟ้องร้องคดีที่เกิดขึ้น

ทางด้าน Meta กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ควบคุมเนื้อหาอย่างจริงจัง และสัญญาที่ทำกับบริษัทที่รับทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนเฟสบุ๊ก และอินสตาแกรม ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพส่วนตัว Meta กล่าวด้วยว่า บริษัทจ่ายค่าจ้างในราคาสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมในตลาดที่ดำเนินการอยู่ และบริษัทได้ใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การเบลอภาพ การปิดเสียง และการแปลงเป็นภาพขาวดำ เพื่อจำกัดการสัมผัสเนื้อหาที่รุนแรงสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนทั้งสองแพลตฟอร์ม

ที่มา
More than 140 Kenya Facebook moderators diagnosed with severe PTSD