หนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากรู้สึกว่า พวกเขาไม่สามารถเชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์อันดีกับพ่อแม่ของตัวเองได้ จึงหันไปหา "อินฟลูเอนเซอร์" ในโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นที่พึ่งพิงทางใจ และมอบความรักแบบครอบครัวที่พวกเขาปรารถนา
ฟ่าน เซียวถง เด็กหญิงชั้นมัธยมต้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ บอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างของเธอให้พ่อแม่ได้รับรู้ เมื่อไหร่ที่เธอรู้สึกเครียดกับการสอบ หรือได้กินขนมอร่อยๆ เด็กหญิงวัย 13 ปีจะเอาโทรศัพท์ออกมาส่งข้อความถึงพ่อแม่ของเธอ
แต่ทว่า พ่อแม่ที่เซียวถงส่งข้อความหากลับไม่ใช่พ่อแม่จริงๆ ของเธอ แต่พวกเขาคือ "อินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย" ที่เซียวถงก็ไม่รู้ว่าชื่อจริงของพ่อแม่ที่เธอติดตามในโลกโซเชียลชื่อแซ่อะไรด้วยซ้ำ
เซียวถง กลายเป็นแฟนตัวยงของคู่รักอินฟลูเอนเซอร์ในเน็ต และคลั่งไคล้พวกเขามากจนมองว่าพวกเขา คือ “พ่อแม่ดิจิทัล” ของตัวเอง ด้วยความที่อินฟลูเอนเซอร์ทั้งสองมีรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบเชิงบวก และให้ความรักกับผู้ติดตามอย่างอบอุ่น ซึ่งสำหรับเซียวถงแล้ว เธอไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้นกับพ่อแม่จริงที่บ้านมาก่อน และถึงแม้เธอจะรู้ดีว่า อินฟลูทั้งสองไม่รู้ว่าเธอคือใคร แต่เธอก็ไม่สนใจ เพราะเธอชอบการที่ได้แบ่งปันความรู้สึกกับพวกเขาทั้งคู่ และดีใจอย่างมากเมื่อได้รับการตอบกลับข้อความ
เซียวถง ค้นพบอินฟลูเอนเซอร์ทั้งสองคนในช่วงปลายปี 2023 หลังเธอได้ดูคลิปวิดีโอของทั้งคู่ที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก เช่น การไปซื้อของ วิดีโอคอล หรือปฏิกิริยาเมื่อลูกไม่ทำการบ้าน เป็นต้น ซึ่งตอนท้ายคลิปของทุกคลิป อินฟลูทั้งสองจะพูดถึงการเลือกความรักมากกว่าวิธีการเลี้ยงดูแบบดั้งเดิมที่ต้องอยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งคลิปเหล่านี้โดนใจชาวเน็ตในจีนอย่างมาก และมีคนมากมายเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวกับครอบครัวดิจิทัลของตัวเองให้พวกเขาได้รู้ และหนึ่งในนั้นก็คือ เซียวถง
“มันเหมือนกับการค้นพบเส้นทางใหม่ เพื่อให้ตัวเองได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ที่ไม่สามารถหาได้ในชีวิตจริง” เซียวถงกล่าว
เซียวถงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ในประเทศจีน ที่เด็กๆ รุ่นใหม่ต่างนิยมชมชอบกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ในการเลี้ยงดูลูกบนโลกโซเชียล โดยเด็กเหล่านี้มักชื่นชอบทัศนคติที่เปิดกว้างและรูปแบบการเลี้ยงดูที่เอาใจใส่ลูกๆ ของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ซึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึกไม่สนิทสนม หรือไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับพ่อแม่ของตัวเอง และอินฟลูเอนเซอร์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการเสาะแสวงหาความรักแบบครอบครัว
วู คุณแม่วัย 43 ปี ผู้ผันตัวมาเป็นคุณแม่ดิจิทัลบนโลกออนไลน์ เล่าว่า เธอได้รับข้อความส่วนตัวมากมายจากบรรดาลูกดิจิทัลของเธอ หลายคนเป็นเด็กที่กำลังต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาครอบครัว
“การเกิดขึ้นของพ่อแม่ดิจิทัล เป็นเรื่องน่าเศร้ามากสำหรับสังคมเรา ผู้คนหันไปพึ่งพ่อแม่ในโลกโซเชียล ก็เพราะพ่อแม่ที่แท้จริงไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง” วูกล่าว
ขณะที่ หยู เจ๋อหาว นักจิตวิทยาในเมืองหวู่ฮั่น กล่าวว่า จำนวนพ่อแม่ดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะพวกเฃาเข้ามาอุดช่องโหว่ในชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ ในขณะที่พ่อแม่ตัวจริงเคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัย พ่อแม่ดิจิทัลเหล่านี้กลับให้การสนับสนุนด้านอารมณ์ที่เด็กต้องการ แต่เขาก็กังวลว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อการรับรู้ความเป็นจริงของคนรุ่นใหม่เหล่านี้
ขณะเดียวกัน ชาวจีนส่วนหนึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน และชี้ว่า ความต้องการพ่อแม่ดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ในจีนกำลังแสดงให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวในสังคมจีน
อ้างอิง
Starved of Affection at Home, Young Chinese Seek Out ‘Digital Parents’