สถาบันการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น เผยมีการตรวจพบว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัสเซียปล่อย "ก๊าซมีเทน" ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณสูงกว่าที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี ถึง 2.4 เท่า การค้นพบนี้ ชี้ว่าข้อมูลที่รัสเซียรายงานนั้นอาจจะไม่ถูกต้องตามจริง
สถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น คำนวณการปล่อยมลพิษในพื้นที่ขนาด 100 ถึง 400 ตร.กม.ที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณเข้มข้นสูง ซึ่งตรวจจับได้โดยดาวเทียมสังเกตการณ์ก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2020 โดยพบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษหลักๆ ของประเทศต่างๆ มาจากภาคอุตสาหกรรม เช่น การกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล และภาคเกษตรกรรม เช่น นาข้าว และการทำปศุสัตว์ โดยไม่นับรวมก๊าซเรือนกระจกที่เกิดตามธรรมชาติจากพื้นที่ชุ่มน้ำและบึงน้ำต่างๆ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมของญี่ปุ่นพบว่า รัสเซียมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ระหว่าง 24 ถึง 31 ล้านตันต่อปี โดยคิดเป็นค่าเฉลี่ย 29 ล้านตัน แต่รายงานของรัฐบาลมอสโก ระบุว่า แต่ละปีมีการปล่อยก๊าซที่สร้างมลภาวะเพียง 12 ล้านตัน ผลการวิเคราะห์เผยว่า ก๊าซมีเทนส่วนใหญ่ของรัสเซียมาจากการกลั่นและการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ก๊าซมีเทน ส่งผลต่อการเกิดภาวะเรือนกระจกได้สูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 27 ถึง 30 เท่า สำหรับประเทศหลักๆ ที่มีการปล่อยก๊าซนี้ในปริมาณมาก อย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และบราซิล การวิเคราะห์ไม่พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ระบุไว้ในรายงานกับที่พบจากการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม
ทั้งนี้ แต่ละประเทศตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นกรอบที่นานาชาติร่วมกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และกำหนดให้ต้องส่งรายงานต่อสหประชาชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อความโปร่งใสและทำให้รายงานมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ตั้งใจที่จะเสนอแนวทางการพิสูจน์ความถูกต้องโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมใน การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 ถึง 22 พฤศจิกายนนี้ เพื่อทำให้วิธีดังกล่าวเป็นมาตรฐานของนานาชาติ