ห้องสมุด มีประวัติศาสตร์ที่ยืนยาวมานานนับพันปี แต่ปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจมองบทบาทของ “ห้องสมุด“ ว่า มีความสำคัญลดน้อยลงไป แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเห็นคุณค่าของห้องสมุดว่า ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งรวบรวมหนังสือที่เป็นเล่มเพียงนั้น แต่ยังทำหน้าที่เชื่อมร้อยผู้คนในท่ามกลางยุคสมัยที่ความโดดเดี่ยวกัดกินจิตใจของคนในสังคม
ห้องสมุดเยลลามุนดี ในมหานครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ห้องสมุดยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชนและสังคม
“ถ้าคุณมาที่นี่ตอนบ่ายสาม คุณจะหาที่นั่งว่างแทบจะไม่ได้เลย” อิลิซา เดนนิส ผู้จัดการห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เยลลามุนดี บอก
ที่ห้องสมุดเยลลามุนดี มีผู้มาเข้าใช้บริการอย่างคับคั่ง นอกจากบริเวณที่เป็นห้องสมุดแล้ว ยังมีพื้นที่ที่จัดไว้ให้สามารถนั่งทำงานได้ และมีโซนที่จัดไว้สำหรับเด็กๆ รวมถึงมีพื้นที่ที่เป็นหอศิลปะ ขณะที่จำนวนหนังสือบนชั้นวางของห้องสมุดสามารถนำมาวางเรียงต่อกันได้เป็นระยะทางยาวมากกว่า 2 กิโลเมตร
“มีเด็กๆ เต็มไปหมดทุกที่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการสุดๆ และเด็กๆ เองก็มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของอาคารนี้จริงๆ มีเสียงตอบรับมากมาย โดยเฉพาะจากเด็กๆ ว่า พวกเขาไม่อยากเชื่อว่าจะมีอะไรแบบนี้ในเมืองนี้ พวกเด็กๆ ภูมิใจกันมาก” อิลิซากล่าว
ห้องสมุดเยลลามุนดี เปิดให้บริการในปี 2023 และได้รับรางวัลห้องสมุดแห่งปีประจำปี 2024 จากสมาคมและสถาบันห้องสมุดนานาชาติร่วมกับห้องสมุดอีก 3 แห่ง โดยได้รับการยกย่องในเรื่องของการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีไอที และการมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
อะนาสตาเซีย หนึ่งในผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดเยลลามุนดี เธอมาพร้อมลูกสาววัย 18 เดือน เธอบอกว่า ห้องสมุดยังมีความสำคัญอย่างมาก แม้ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตกันแล้ว
“ฉันเพิ่งสังเกตเห็นจากการอ่านหนังสือให้ลูกสาวฟัง ว่าลูกสาวของฉันก็อ่านหนังสือด้วย เธอมีพัฒนาการด้านภาษา และชอบหนังสือมากกว่าการดูการ์ตูนในทีวีเสียอีก” อะนาสตาเซีย บอก
เช่นเดียวกับชายชาวซาอุดิอาระเบียที่มาใช้บริการห้องสมุดเยลลามุนดีบอกว่า ห้องสมุดยังคงสำคัญมากกว่าที่เราคิด และประสบการณ์จากห้องสมุดเป็นสิ่งที่โลกออนไลน์ลอกเลียนแบบไม่ได้ เขาคิดว่า คนส่วนใหญ่ยังอยากที่จะสัมผัสกับหนังสือที่เป็นเล่มอยู่
ระหว่างปี 2021 ถึง 2022 มีชาวออสเตรเลียเดินทางมาเข้าใช้บริการห้องสมุดมากกว่า 55 ล้านคน ขณะที่มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการห้องสมุดทางออนไลน์ในจำนวนที่น้อยกว่า คือ 50.3 ล้านคน
“ดิจิทัลให้ความสะดวกสบายได้อย่างเหลือเชื่อ แต่ก็มีบางอย่างที่ดิจิทัลทำไม่ได้แบบหนังสือที่เป็นเล่ม โดยเฉพาะเมื่อคุณพูดถึงการสอนการอ่านให้กับเด็กๆ หนังสือเล่มสามารถเปิดพลิกหน้าได้ มันช่วยประสานการเรียนรู้กับกระบวนการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะในโซนพื้นที่เด็ก จะมีจุดที่มีหนังสือภาพอยู่เสมอ” อิลิซากล่าว
ทริช เฮปวอร์ธ รักษาการณ์ผู้บริหารสมาคมหองสมุดออสเตรเลีย กล่าวว่า ตอนนี้การเดินทางมาใช้บริการห้องสมุดเริ่มกลับมาสูงขึ้นเท่าๆ กับช่วงก่อนการระบาดของโควิด ขณะที่การใช้บริการในระบบดิจิทัลก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เราเห็นการเพิ่มขึ้นของการใช้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ แต่เราก็เห็นคนกลับมาใช้ห้องสมุดทางกายภาพด้วยเช่นกัน” ทริชกล่าว เธอกล่าวว่า ความท้าทายของห้องสมุดคือ การมีงบประมาณที่จำกัดโดยเฉพาะกับห้องสมุดสาธารณะ
“ห้องสมุดยินดีต้อนรับทุกคน คุณไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลพิเศษอะไรในการมาห้องสมุด แค่มีบางอย่างที่อยากจะเรียนรู้ซึ่งมีอยู่ในห้องสมุดที่มีไว้สำหรับสมาชิกทุกคนในชุมชน นั่นคือสิ่งที่ห้องสมุดเยลลามุนดีพร้อมจะสนับสนุนจริงๆ” อิลิซากล่าว
อิลิซาบอกว่า ในยุคที่ผู้คนต่างรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเช่นปัจจุบันนี้ การมีสถานที่สักแห่งที่ให้ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ได้อย่างอิสระ และได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
“เชื่อว่าห้องสมุดจะยกระดับผู้คน และเชื่อว่าเป็นการมอบโอกาสให้ผู้คน เป็นพื้นที่ในการเชื่อมต่อผู้คนในการสร้างมิตรภาพและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในเรื่องของการศึกษา รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางให้กับชุมชน” อิลิซากล่าว
อ้างอิง
'Education, connection and heart': Why libraries still matter in the age of the internet
เว็บไซต์ Liverpool City Library Yellamundie