ถ้าพูดถึง "หนี้ครัวเรือน" หลายคนอาจนึกถึงเรื่องต่างๆ กัน แต่ในภาพรวม ไม่มีสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนจะไม่มีหนี้สิน เพราะไม่ว่าสังคมที่บ้าใช้บัตรเครดิตเก็บ Credit Score อย่างอเมริกา หรือสังคมที่คนส่วนใหญ่ยังใช้เงินสด คนก็ล้วนแต่เป็นหนี้กันทั้งนั้น และจริงๆ นี่ก็อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ด้วย ตราบเท่าที่คนยังมีปัญญาใช้หนี้ เพราะอย่างน้อยๆ ประเทศที่คนมีหนี้โดยเฉลี่ยสูงสุดตลอดกาลอย่างสหรัฐอเมริกา เค้ามองว่าตราบใดที่เศรษฐกิจยังโตต่อไป คนก็ยังจะ "เอาเงินในอนาคต" มาใช้ชำระหนี้ได้อยู่
ดังนั้น เวลาเค้ามอง "หนี้ครัวเรือน" ในประเทศต่างๆ โดยทั่วไปจะไม่ดูว่าคนเป็นหนี้กันเท่าไร แต่เค้าจะดูสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ประชาชาติ หรือ GDP เพราะถ้าอัตราส่วนคงที่ ก็ยังถือว่าทุกอย่างปกติ
กลับกัน ถ้าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ นี่น่าจะไม่ใช่เรื่องปกติ และจากสถิติของ IMF ที่เป็นเจ้าข้อมูลด้านนี้ "ความผิดปกติ" นี้พบที่ประเทศไทย
เราอาจได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่าหนี้ครัวเรือนไทยเราสูง แต่เวลาได้ยินคำว่า "สูง" แค่นี้ เราไม่รู้ว่ามันสูงแค่ไหน มันไม่ชวนให้ขนลุก
จากสถิติ IMF ถ้าดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP เราอยู่ในอันดับ 23 ของโลกเท่านั้นเองในปี 2005 แต่ปัจจุบัน เราอยู่ใน Top 10 และนี่ไม่ใช่เรื่องปกติ
เหล่าบรรดาประเทศที่หนี้ครัวเรือนติด Top 10 ทั้งหลาย เป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาไปมากแล้ว ซึ่งหมายความก็คือ เศรษฐกิจของประเทศพวกนี้ไม่โต ดังนั้น ขนาดของ GDP ก็ไม่ขยายเท่าไร เลยทำให้สัดส่วนของหนี้ต่อ GDP ไม่ลดลง แต่ตราบเท่าที่ตัวเลขคงที่ เศรษฐกิจก็ยังดำเนินไปได้อย่างที่มันเคยเป็น
ในทางกลับกัน ถ้าหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวแน่ๆ และในกรณีของไทย ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ไทยอาจมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไปติด Top 5 ของโลกในไม่ถึงอีก 10 ปีก็เป็นได้
มันเกิดอะไรขึ้น?
เราต้องอธิบายหลายส่วน บางคนจะมองว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเป็นปกติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่ถูก แต่มันก็ยังไม่อธิบายการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่ขยายสูงกว่าแทบทุกประเทศ ทั้งๆ ที่ "พัฒนาการทางเศรษฐกิจ" ของไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าแย่ทีเดียว
ถ้าไปดูในหลายประเทศทั่วโลก รอบ 20 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก็ลดลง ที่ชัดมากก็เช่น สเปน และโปรตุเกส ดังนั้น เราไม่สามารถบอกได้ง่ายๆ แน่ว่า การที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน
การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หมายถึงอะไร?
คำตอบที่ชัดสุดในภาษาชาวบ้านก็คือ เพราะรายจ่ายขยายตัวเร็วกว่ารายได้ หรือพูดอีกแบบก็คือ สังคมไหนที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยายตัวเรื่อยๆ มันแสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นมีศักยภาพในการประเมินการขยายตัวของรายได้ของตัวเองผิด เพราะ "หนี้" คือ การเอารายได้ในอนาคตมาใช้ และหนี้ที่ขยายตัวต่อเนื่อง มันเกิดจากการประเมินรายได้ในอนาคตที่ผิดทำให้คนไม่มีเงินมาใช้หนี้เมื่อเวลาผ่านไป
พูดง่ายๆ ก็คือ การที่หนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง มาจากการที่คนไทยโดยภาพรวมประเมินศักยภาพรายได้ในอนาคตของตัวเองสูงเกินจริง และทำให้หนี้ครัวเรือนในระบบขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
แน่นอน ถึงตรงนี้ หลายคนอาจถามว่า แล้วปัญหานี้จะแก้ยังไง? คือในแบบจารีต เค้าก็ถือว่าก็ต้องทำให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้น ให้มันเร็วกว่าความคาดหวังรายได้ แล้วหนี้ครัวเรือนจะลดลงเอง
แต่ในกรณีไทย คำถามคือถ้าเศรษฐกิจไทยอาจโตต่อเนื่องเร็วๆ ไม่ได้อีกแล้ว ด้วยหลายๆ เหตุผล (ตั้งแต่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จนถึงการตกขบวนการเป็นฐานอุตสาหกรรมมูลค่าสูงจำนวนมาก) สิ่งที่เราอาจต้องการเพื่อลดหนี้ครัวเรือนให้ลงมาอยู่ในระดับที่ "สมเหตุสมผล" ก็คือการทำให้คนประเมินรายจ่ายที่เหมาะสมของตนให้สอดคล้องกับรายได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการ "ลดการบริโภค" ในประเทศลงอย่างมหาศาล
นั่นก็เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจโตช้าลงอีกถ้าเราเพิ่ม "การส่งออก" มาทดแทนการบริโภคในประเทศที่ชะลอลงไม่ได้
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนอันใหญ่โตของไทย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะโยนความผิดให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ "ตั้งดอกเบี้ยสูงเกินไป" แน่ๆ เพราะปัญหาพื้นฐานมันเกิดจากการประเมินศักยภาพในการสร้างรายได้ของตัวเองผิดๆ ของคนไทยเอง
อ้างอิง
Household debt, loans and debt securities
Credit card ownership (% age 15+)
List of countries by household debt