Skip to main content

 

"การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ" กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นมากในผู้สูงอายุ อาจเกิดภาวะซึมเศร้า ความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนรัก ไปจนถึงการเจ็บป่วยเรื้อรัง

การฆ่าตัวตายกำลังกลายเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น จากสถิติศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐ พุ่งไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 และแม้ว่าเกือบทุกกลุ่มอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น แต่ชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับปี 2021

ไม่ใช่แค่ในสหรัฐเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ ในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี เป็นกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสูงที่สุด โดยมีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อ 100,000 รายในกลุ่มผู้ชาย และ 10.6 รายต่อ 100,000 รายในกลุ่มผู้หญิง

พฤติกรรมการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุเกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุปัจจัย  ประการหนึ่งคือ หากคู่สมรสเสียชีวิตไปก่อน  ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง และไม่มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนคอยอยู่ใกล้ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุขาดการมีปฏิสัมพันธ์และการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต

“ฉันเชื่อว่าการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุมีรากฐานมาจากความเหงา เรามีการแพร่ระบาดของความเหงา ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาถูกตัดขาดจากคนอื่น” ดร.เทีย โดล หัวหน้าเจ้าที่ของสำนักงาน 988 Suicide and Crisi Lifeline กล่าว

นอกจากความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวแล้ว ผู้สูงอายุจำนวนมากอาจกำลังตกอยู่ในห้วงความเสียใจจากการสูญเสียคนรัก ซึ่งการเห็นคนรักเจ็บป่วยและจากไป ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนเกิดความวิตกกังวลเรื่องการตายของตัวเอง และอาจทำให้ความรู้สึกเหงา เศร้าโศก และสิ้นหวังรุนแรงมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น การถดถอยของภาวะร่างกายก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ จากคนที่เคยแต่งตัวสวยหล่อหรือสามารถขับรถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน ซึ่งทำให้คุณค่าในตัวเองลดลง ส่งผลต่อความมั่นใจ และกลายเป็นสิ่งกัดกินหัวใจของผู้สูงอายุได้

แม้ตัวเลขการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น แต่ ศาสตราจารย์ดิเอโด เดอ ลีโอ แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ชี้ว่า ตัวเลขเหล่านี้อาจเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการเสียชีวิตของผู้สูงอายุมักไม่มีการสอบสวน หรือหาสาเหตุการตาย บ่อยครั้งที่การเสียชีวิตของผู้สูงอายุถูกระบุว่าเป็นการใช้ยาผิด หรือจากอุบัติเหตุลื่นหกล้ม โดยเจ้าหน้าที่มักสันนิษฐานว่า เป็นผลมาจากความชราภาพหรือความอ่อนแอของร่างกาย

“มีรายงานมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า มีความสนใจที่จะพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตของคนหนุ่มสาว มากกว่าการเสียชีวิตของคนชรา”

ศาสตราจารย์เดอ ลีโอ กล่าวว่า มีสมมติฐานที่แตกต่างกันระหว่างการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ โดยการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวมักถูกมองว่าเป็นโศกนาฏกรรมและเป็นปริศนา แต่การฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุมักถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล

ปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุถือเป็นภัยเงียบที่ใครหลายคนอาจไม่ทันได้นึกถึง ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ ดังนั้น คนใกล้ชิด ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ควรหมั่นดูแลและตรวจสอบความรู้สึกของผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น


อ้างอิง
Senior suicide: the silent generation speaking up on a quiet killer
Suicide Rates Are High And Rising Among Older Adults In The US
Suicide and Older Adults: What You Should Know