คนรุ่นใหม่ของไทยมักจะบ่นกันมากว่า ทำไมค่าแรงขึ้นช้ากว่าค่าครองชีพ? ทำไมบริษัทใหญ่ๆ กำไรขึ้นเอาๆ แต่พนักงานเงินเดือนไม่ขึ้นในระดับเดียวกัน? ซึ่งถ้าจะถามคำถามนี้แบบจริงจัง เหตุผลหลักๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ใน "กรอบคิด" ของคนไทยเลย และเหตุมันน่าจะพูดรวมๆ ได้ว่า เป็นเพราะ "ขบวนการแรงงาน" บ้านเราอ่อนแอ
'สหภาพแรงงาน' สถาบันทางสังคมที่สังคมไทยไม่คุ้นเคย
คนไทยอาจไม่เข้าใจเลยว่า "ขบวนการแรงงาน" เกี่ยวพันอะไรกับค่าแรง อธิบายง่ายๆ คือ "ขบวนการแรงงาน" ที่แสดงออกมาในรูปของ "สหภาพแรงงาน" ในรูปแบบต่างๆ นั้น เป็น "สถาบันทางสังคม" ที่มีบทบาทหลักในการต่อรองค่าแรงของแรงงานในระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ซึ่ง "โลกตะวันตก" การมีสถาบันแบบนี้เป็นเรื่องที่ปกติมากๆ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และทุกวันนี้ก็ถือเป็น "สถาบันทางเศรษฐกิจ" ที่สังคมมองว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ตัดมาไทย คนไทยอาจงงว่าสิ่งที่ "จำเป็นต่อเศรษฐกิจ" แบบนี้ในยุโรป มันจำเป็นยังไง เพราะในไทย ไม่มีสิ่งเหล่านี้ เศรษฐกิจก็เดินไปได้
คำตอบง่ายมาก ประเด็นคือ ถ้าแรงงานไม่มีการรวมตัวกันเป็นขบวนการหรือสหภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ "ค่าแรง" จะขึ้นช้ากว่า "กำไร" ของบริษัท และหน้าที่ของสหภาพแรงงาน คือ สร้างแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ เอา "กำไร" มาเปลี่ยนเป็น "ค่าแรง" ให้กับพนักงานในอัตราที่มากขึ้น (มากขึ้นกว่าไม่มีการกดดัน)
พูดง่ายๆ ถ้าประเทศไหนสหภาพแรงงานแข็งแรง แรงงานในประเทศก็มักจะไม่มีคำถามว่า ทำไมค่าแรงตัวเองขึ้นช้า เพราะสหภาพจะต่อสู้ให้ค่าแรงของคนทำงานขึ้นไปตามผลกำไรของบริษัทนั่นเอง
เรื่องทั้งหมดอาจเป็นเรื่องนามธรรม คำถามคือจะมี "ตัวชี้วัด" ยังไงว่า “สหภาพแรงงาน” หรือขบวนการแรงงานในประเทศแข็งแรงแค่ไหน?
ตัวชี้วัด 'ความแข็งแรง' ของสหภาพแรงงาน
ในระดับสากล ตัวชี้วัดที่เค้าใช้กันมี 2 ตัว คือ Trade Union Density กับ Collective Agreement Coverage Rate ตัวแรกคือ สัดส่วนของ "ลูกจ้าง" ในระบบที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน (สหภาพแรงงานใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพของบริษัท หรือสาขาอาชีพ) ส่วนตัวที่สอง คือ สัดส่วนของ "ลูกจ้าง" ในระบบเศรษฐกิจที่ "ค่าจ้าง" ได้รับอานิสงส์จากการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน เพราะโดยทั่วไปการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ไม่จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อแค่คนในสหภาพเท่านั้น แต่อาจสู้เพื่อพนักงานทั้งบริษัท สู้เพื่อคนทั้งสาขาอาชีพ หรือสู้เพื่อแรงงานทั้งระบบก็ได้
ดังนั้น ถ้า "แปลแบบเอาความ" แล้ว Trade Union Density ก็คือ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่เข้าร่วมสหภาพ ส่วน Collective Agreement Coverage Rate ก็น่าจะแปลได้ว่า เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่ได้ประโยชน์จากการต่อรองของสหภาพ
ข้อมูลตรงนี้เป็นข้อมูลสาธารณะที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศมีเผยแพร่อยู่แล้ว และถ้าเอามากางดูเราจะเห็นอะไรบางอย่าง
สวัสดิการของแรงงาน คือ สวัสดิการของประชาชน
อย่างแรกที่เราจะสะดุดตาก็คือ พวกกลุ่มประเทศนอร์ดิก มีเปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่เข้าร่วมสหภาพสูงมาก น่าจะสูงกว่าทุกที่ในโลก เพราะไม่มีที่อื่นอีกแล้วที่แรงงานในระบบเกิน 50% เป็นสมาชิกสหภาพ และหลายๆ คนก็จะบอกว่านี่เป็นหนึ่งใน "ความลับ" ที่เป็นรากฐานของรัฐสวัสดิการ เพราะขบวนการแรงงานที่แข็งแรง จะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้อง "สวัสดิการ" ต่างๆ ของแรงงาน และถ้าทุกคนในระบบเศรษฐกิจ คือ แรงงาน "สวัสดิการ" ที่ว่า มันก็คือสวัสดิการของประชาชนนั่นเอง
ประเด็นคือ นี่ก็ไม่ใช่อัตราที่เราพบทั่วไปในโลกตะวันตก เพราะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD นั้น โดยเฉลี่ย เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่เข้าร่วมกับสหภาพอยู่ที่ราวๆ 15% เท่านั้นเอง แต่กลับกัน ถ้าเราไปดูสัดส่วนของแรงงานที่ค่าแรงได้ขึ้นเพราะการต่อสู้ของสหภาพในประเทศตัวเอง เราจะพบว่ามันสูงถึง 32% นั่นหมายความว่า แรงงานไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของทั้งระบบเศรษฐกิจได้ประโยชน์จากการต่อสู้ของสหภาพ ซึ่งถ้าไปดูตัวเลขจริงๆ ในแต่ละประเทศจะพบว่า มันโหดกว่านั้นมาก เช่นอิตาลี แรงงานแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นสมาชิกสหภาพ ส่วนฝรั่งเศสแรงงานไม่ถึง 10% เป็นสมาชิกสหภาพ แต่สองประเทศนั้น แรงงานเกือบ 100% หรือแทบทั้งระบบ ได้ผลประโยชน์ด้านค่าแรงจากการต่อสู้ของสหภาพ
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เหล่าประเทศยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญกับสหภาพแรงงานมาก บางคนแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพ แต่ก็ได้ประโยชน์จากการต่อสู้ และคนเหล่านี้ก็สนับสนุนการต่อสู้ของแรงงานอยู่ห่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า คนพวกนี้เห็นประโยชน์ว่าสังคมควรจะมีขบวนการแรงงาน เพราะเค้าเห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้จากตัวเงินเดือนของเค้านั่นเอง
เราจะเห็นได้ว่านี่เป็นภาพแบบคนละโลกกับประเทศไทย ที่บ้านเราคนส่วนใหญ่ไม่คุ้นภาพเหล่านี้แน่ๆ และทำให้คนไทยไม่เข้าใจว่าสหภาพมีความสำคัญอย่างไร
ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอ แรงงานไทยแทบไม่ได้รับประโยชน์จากการเจรจาค่าแรง
เอาจริงๆ แล้ว ไทยเป็นเคสที่เฉพาะมาก เพราะประเทศที่แรงงานในประเทศแทบไม่ได้รับผลจากการต่อรองเรื่อง "ค่าแรง" เลยเอาจริงๆ มีน้อยมาก เพราะในโลกนี้ ประเทศที่สหภาพแรงงานต่อรองค่าแรงให้แรงงานได้ไม่ถึง 5% ทั้งระบบมีแทบจะนับประเทศได้ เช่น เอลซัลวาดอร์ (4.6%) ศรีลังกา (3.2%) โมรอคโค (3%) เปรู (2.6%) ปานามา (2%) ฮอนดูรัส (1.9%) บังคลาเทศ (1.6%) ฟิลิปปินส์ (1.4%) ไทย (1.1%) เอธิโอเปีย (1%) ปารากวัย (0.7%)
ใช่ครับ ไทยเป็นประเทศที่แรงงานแค่ 1.1% ของทั้งระบบได้อานิสงส์ด้านค่าแรงจากการต่อสู้ของสหภาพ ซึ่งน้อยมาก และในโลกนี้ประเทศที่แรงงานได้ประโยชน์จากสหภาพน้อยกว่าไทย น่าจะมีแค่เอธิโอเปียและปารากวัยเท่านั้น นั่นหมายความว่า พวกประเทศแอฟริกาส่วนใหญ่ที่ระบบเศรษฐกิจเจริญน้อยกว่าไทยแน่ๆ เค้ายังมี "ขบวนการแรงงาน" ที่แข็งแรงกว่าไทยเลย
แล้วทำไมไทยเป็นแบบนี้?
บางคนก็จะเล่าย้อนไปถึงยุคที่ขบวนการแรงงานในไทยโดนปราบปรามตอนช่วงสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง ในโลกนี้ประเทศที่ขบวนการแรงงานโดนปราบปรามก็มีไม่น้อย หรือจริงๆ การโดนปราบปรามในช่วงสงครามเย็นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สุดท้ายในหลายประเทศ ขบวนการก็กลับมาได้
นี่เลยอาจทำให้คำอธิบายที่สำคัญ มันน่าจะเป็นเรื่องบทบาททางวัฒนธรรมมากกว่า คือตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นถึงปัจจุบันไทยรับวัฒนธรรมต่างชาติหลักๆ มาจากประมาณ 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ล้วนเป็นประเทศที่ถือว่าขบวนการแรงงานอ่อนแอหมดในมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว เพราะแรงงานในทั้ง 3 ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการต่อสู้ของขบวนการแรงงานมีไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำ
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนึ่งในนั้น คือ สหรัฐอเมริกา อีกสองประเทศ คือ ประเทศที่สหรัฐอเมริกาส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมไปอย่างหนักหน่วง ซึ่งเอาจริงๆ ก็แทบจะไปดูได้เลยว่าประเทศใดก็ตาม รับ "อิทธิพลอเมริกัน" ไปหนักๆ ขบวนการแรงงานก็จะอ่อนแอทั้งนั้น และนี่เป็นสิ่งที่เกิดมาก่อนสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า "ลัทธิเสรีนิยมใหม่" ด้วยซ้ำ
ดังนั้น ถ้าจะให้สรุป เมืองไทยเราขบวนการแรงงานอ่อนแอ เพราะเราไม่เห็น "ตัวอย่าง" ของสิ่งเหล่านี้ในประเทศที่มันมีความสำคัญจริงๆ ซึ่งเอาง่ายๆ ถ้าเราบริโภคข่าวต่างประเทศ ข่าวด้านแรงงานในอเมริกาที่ "น่าตื่นเต้น" จะเป็นข่าวทำนองพนักงานของบริษัทดังๆ รวมตัวกันตั้งสหภาพให้สำเร็จ (ไม่ว่าจะเป็น Starbucks หรือ Amazon)
แต่ถ้าเราดูข่าวฝั่งยุโรป ข่าวเรื่องสหภาพนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่ "เป็นธรรม" เป็นเรื่องปกติมากๆ แบบถ้าตามข่าวเศรษฐกิจฝั่งยุโรป เรื่องพวกนี้มีให้เห็นทุกเดือน หรือกระทั่งทุกอาทิตย์ แต่นี่ก็ไม่ใช่ข่าวสารที่ชาวไทยส่วนใหญ่รับเข้าไปนัก แม้ผู้นิยมบริโภค "ข่าวต่างประเทศ"
ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้คนไทยต้องถามตัวเองวนๆ ไปว่า ทำไมค่าแรงขึ้นช้ากว่าค่าครองชีพ? ทำไมกำไรบริษัทขึ้นเอาๆ แต่เงินเดือนพนักงานไม่ขึ้นตาม? ทั้งๆ ที่คำตอบว่า มันมีอะไร "ผิดปกติ" ในระบบเศรษฐกิจไทยมันชัดมากถ้ามองจากสายตาคนยุโรป และนั่นคือการที่ในไทย ขบวนการแรงงานรวมๆ แล้วอ่อนแอมากๆ และก็ไม่มีผลงานใดๆ ในระบบเศรษฐกิจ จนเหมือนไม่ได้ดำรงอยู่นั่นเอง
อ้างอิง
Statistics on social dialogue
Trade Unions Worldwide
Collective bargaining and social dialogue