"แก่ไปจะเอาอะไรกิน" เป็นประเด็นที่หลายคนน่าจะมีคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งสำหรับคนไทยเรา อนาคตในยามแก่ ถ้าจะไม่หวังพึ่งพาลูกหลานให้ช่วยๆ เลี้ยงแบบคนยุคก่อนที่มีลูกหลานหลายๆ คนแล้ว เราก็ต้องเก็บออมเงินหรือเริ่มลงทุนให้เงินงอกเงยเพื่อให้มีเงินใช้ยามแก่ชรา
แน่นอนนี่เป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวไม่น้อย และหลายๆ คนที่อาจพอมีความรู้เรื่องต่างประเทศบ้างก็อาจคิดว่าจริงๆ แล้วในหลายๆ ชาติเค้าไม่ได้มีปัญหาแบบเราเพราะ "แก่ไปรัฐก็เลี้ยง" ดังนั้นมันไม่ต้องคิดเรื่องพวกนี้
การคิดแบบนี้ในแง่หนึ่งก็ถูก เพราะอย่างน้อยๆ ในภูมิภาคอย่างยุโรปก็เรียกได้ว่า "ทุกชาติ" มีระบบ "บำนาญคนแก่" (old age pension) บางรูปแบบ ซึ่งระบบนี้ส่วนหนึ่งก็จะเป็นการให้เงินแบบไม่มีเงื่อนไขสไตล์ "บำนาญประชาชน" อีกหลายๆ ส่วนก็จะเป็นระบบที่จะให้เงินเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญผู้สูงอายุเท่าไรในตอนทำงาน ดังน้น คนแก่แต่ละคนก็จะได้เงินไม่เท่ากัน ซึ่งระบบแต่ละประเทศก็ต่างกันและถ้าลงรายละเอียดก็คงจะปวดหัวแน่ๆ
แล้วแต่ละประเทศเค้าให้เงินส่วนนี้กัน "เฉลี่ยๆ" เท่าไร โชคดีมากที่ทาง Eurostat เค้าเคยทำสถิติเอาไว้ และเราก็อยากเอามาให้ดูเพื่อให้พอเห็นภาพว่าเหล่าผู้สูงอายุในวัยเกษียณของชาติยุโรปเค้าได้เงินเฉลี่ยๆ กันเท่าไรจากรัฐบาลของพวกเค้า
ถ้าจะพูดในภาพใหญ่ ค่าเฉลี่ยของเงินที่ได้รายเดือนจะอยู่ประมาณ 49,000 บาท แต่ความต่างก็มหาศาลมาก เพราะมันมีตั้งแต่ไอซ์แลนด์ที่ให้เงินส่วนนี้เฉลี่ยถึงราว 105,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึงแอลแบเนียที่ให้เงินส่วนนี้กับประชาชนราว 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งชาติที่ให้เงินส่วนนี้ระดับกลางๆ ก็ได้แก่ชาติขนาดใหญ่ ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี ที่ให้เงินคนแก่ของเค้าใช้ราวๆ 55,000 บาทต่อเดือน โดยชาติที่ให้มากกว่าก็คือ ชาติที่รายได้สูงแบบพวกประเทศนอร์ดิกและสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศที่ให้ต่ำกว่าก็คือพวกประเทศโซนยุโรปตะวันออกและคาบสมุทรบอลข่าน
ตรงนี้บางคนก็จะบอกว่าดูเป็นตัวเลขลอยๆ ไม่ได้ ต้องเทียบค่าครองชีพ จริงๆ เค้าก็เทียบมาและก็จะพบว่า "อันดับ" มันก็แทบไม่ต่าง คือปรับเทียบค่าครองชีพแล้วก็จะพบว่าจริงๆ คนสวีเดนที่ได้บำนาญเดือนละ 70,000 บาท พอเทียบค่าครองชีพก็มีกำลังซื้อสินค้าและบริการในประเทศพอๆ กับคน ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนีนี่แหละ ส่วนสวิสเซอร์แลนด์ที่ได้กว่า 80,000 บาท แต่ค่าครองชีพมหาโหด จริงๆ คือก็มีอำนาจการใช้สอยพอๆ กับคนแก่ในกรีซที่ได้เดือนละ 40,000 บาทน่ะแหละ
ซึ่งก็ต้องเน้นว่า แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวย เงินพวกบำนาญคนแก่ส่วนใหญ่ คือ ไม่เพียงพอจะให้พวกเค้ามีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ได้ เงินเท่านี้คือใช้แบบสมถะในชนบทพอได้ แต่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ นี่ไม่ต้องคิด และนี่คือเหตุผลที่ทำให้พวก "ฝรั่งแก่ๆ" ชอบมาเกษียณกันในชาติเอเชียที่ค่าครองชีพต่ำกว่า เพราะที่นี่ด้วยเงินที่เค้าอยู่บ้านตัวเองต้องใช้อย่างประหยัด มาอยู่เมืองรองๆ ที่สิ่งอำนวยความสะดวกครบ แต่ค่าครองชีพถูกหน่อยในเอเชียอย่างเชียงใหม่ หรือบาหลี เค้าสามารถอยู่ได้แบบคนร่ำรวยพอควรเลย
แน่นอนตัวเลขพวกนี้สำหรับคนไทยเป็นสิ่งที่ได้แต่ฝัน เพราะเอาจริงๆ จะจ่ายเงินคนแก่ให้คนไทยเดือนละสัก 3,000 บาทยังเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการจากการเมืองตอนนี้เลย ทั้งที่จริงๆ รายได้ต่อหัวของไทยคือเท่าๆ กับประเทศยุโรปที่ให้เงินคนแก่น้อยสุดอย่างแอลแบเนีย ซึ่งยังให้เงินคนแก่เฉลี่ยถึง 5,000 บาทต่อเดือนเลย (รายได้ต่อหัวของไทยต่ำกว่าแอลแบเนียประมาณ 10% เท่านั้น)
ก็ไม่แปลกที่ชาวไทยจะ "อิจฉา" ประเทศยุโรปและคิดว่าคนยุโรป "แก่ไปแล้วสบาย" แต่เอาความเป็นจริง แม้แต่ในชาติยุโรปเอง เค้าก็มีความกังวลว่า "เงินเกษียณจะไม่พอ" โดยชาติส่วนใหญ่มีคนแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่มั่นใจว่า เงินตอนเกษียณที่รัฐให้จะพอใช้ ซึ่งถ้าไปดูเฉพาะพวกยุโรปตะวันออกและชาติบาลข่าน ตัวเลขของคนที่รู้สึกว่าเกษียณได้อย่างมั่นใจจะมีแค่ 1 ใน 3
เราต้องไม่ลืมอีกว่า คนแก่ในยุโรปมีความกังวลแบบนี้ทั้งๆ ที่รัฐมีสวัสดิการที่สำคัญมากสำหรับคนแก่ อย่างการรักษาพยาบาลให้ฟรี และหลายๆ ชาติก็มีสวัสดิการคนแก่มากกว่านั้น
ดังนั้น ในแง่นี้ เราก็จะเห็นว่าแม้แต่พวกชาติที่รักษาพยาบาลฟรีและรัฐมีเงินเดือนให้คนแก่ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 บาท เค้าก็มียังความกังวลว่าเกษียณจะไม่มีเงินใช้เลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะกังวล และก็ไม่แปลกอีกที่แม้แต่คนยุโรปที่รัฐเค้ารับประกันว่าแก่ไปจะมี "บำนาญ" บางระดับกันทุกคน เค้าจะมีการเก็บออมเงินและลงทุนเองที่นอกเหนือจากนั้น เพื่อเป็น "รายรับเชิงรับ" (passive income) เพิ่มขึ้นไปจากเงินบำนาญของรัฐ ที่เค้ากังวลว่าอาจไม่พอใช้
ถามว่าทำไมกังวล ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องของค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมหาศาลหลัง COVID-19 ระบาด ซึ่งหลายๆ ชาติก็ไม่ได้มีการปรับเงินบำนาญคนแก่เพิ่มขึ้น และนั่นก็ทำให้คนแก่จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า ตัวเองมีเงินน้อยลงท่ามกลางสินค้าต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และทำให้หลายคนตระหนักเช่นกันว่า การพึ่งพารายได้จากเพียงบำนาญของรัฐมันก็อาจไม่พอใช้ และการวางแผนการเงินเพิ่มเติมเหนือกว่านั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น
อ้างอิง
Pensions in Europe: Which countries are best and worst for retirement?
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
https://theopener.co.th/topic/libertus-machinus