ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมเป็นต้นไป ผู้ที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ ภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร” ได้แล้ว โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร” ที่พร้อมให้การดูแล ปฐมภูมิตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
เว็บไซต์ Hfocus รายงานว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ถือสิทธิบัตรทอง สามารถเข้าถึงบริการจากร้านยา และคลินิกเอกชนจาก 7 วิชาชีพ ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมได้ นอกเหนือจากการไปรับบริการจากหน่วยบริการตามสิทธิ ซึ่งประกอบด้วย ร้านยาคุณภาพ, คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น, คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น, คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น, คลินิกการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น, คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร” ซึ่งจะได้รับบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ได้โดยสะดวก ลดเวลารอคิว รวมถึงยังไปรับบริการนอกเวลาราชการตามเวลาของร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมได้ด้วย
ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า ร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมเป็น “หน่วยบริการนวัตกรรม” ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีประมาณ 1,000 แห่ง โดยสภาเภสัชกรรมจะชวนให้ร้านยาเข้าร่วมให้บริการมากขึ้นอย่างน้อยจำนวน 2,000 แห่งภายในในปีนี้ เพื่อรองรับการผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น
ส่วนการเชื่อมโยงข้อมูลร้านยาที่ร่วมให้บริการ จะใช้ระบบ A-MED Care (เอเมด แคร์) ที่เชื่อมกับระบบ Health Link เพื่อดูประวัติของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยทุกครั้งที่มารับบริการ
ทางด้าน ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด เผยว่า มีคลินิกกายภาพบำบัดที่พร้อมให้บริการร่วมกับหน่วยบริการนวัตกรรมของ สปสช. ประมาณ 250 แห่ง และกำลังทยอยเพิ่มเติม โดยเชื่อว่า จะช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองทั้ง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลัง และผู้ป่วยสะโพกหักไม่ร้ายแรง เข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูจากนักกายภาพบำบัดในคลินิกกายภาพบำบัดที่อยู่ใกล้บ้านได้ ช่วยลดการเดินทางไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล และไม่ต้องรอคิวการรักษา
ในส่วนของทันตกรรม ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า คลินิกเทคนิคการแพทย์ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วประมาณ 35 แห่ง และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยากให้ภาครัฐส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ารับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในหน่วยบริการนวัตกรรมที่เข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ให้มากขึ้น เพราะถือเป็นหน่วยปฐมภูมิที่ดูแลสุขภาพในชุมชน
ก่อนหน้านี้ สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกประกาศเรื่อง 45 จังหวัดนำร่องที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยให้ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย สามารถพกบัตรประชาชนใบเดียว เข้ารักษาในสถานพยาบาลได้ ได้แก่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น, โรงพยาบาลของรัฐ, โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ว่าสิทธิอยู่จังหวัดไหน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยที่กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ 46 ที่ประชาชนเริ่มใช้สิทธิวันแรกได้ในวันที่ 26 สิงหาคม 2567
ที่มา
4 สภาวิชาชีพ เผย ใช้ “30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.” ได้แล้ว
เช็ก 45 จังหวัด ใช้สิทธิ “30 บาทรักษาทุกที่” แค่มีบัตรประชาชน