Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

คนปัจจุบันมีลูกกันน้อยลง และเหตุผลที่มักจะอ้างกันทั่วโลกก็คือ ต้นทุนการมีลูกทุกวันนี้มันสูงมาก แน่นอน นี่เป็นปัญหาอันเกิดมาจากหลายๆ มิติของระบบทุนนิยมที่ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ อันเกี่ยวกับการเลี้ยงมนุษย์คนอื่นให้โตขึ้นมามีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดที่หดตัวเล็กลงๆ

อย่างไรก็ดี เอาจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่แค่ "ทุนนิยม" ที่ทำให้คนมีลูกกันน้อยลง เพราะถ้ามองย้อนไปอีกสเต็ป ในสังคมทั่วไปในโลก ก่อนจะมีลูกย่อมต้องมีการแต่งงาน และการแต่งงานก็เป็นสิ่งที่มีพิธีรีตรองที่ต่างกันไปในแต่ละสังคม โดยกฎเกณฑ์แต่ละสังคมก็จะกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้แต่ละฝ่ายต่างกัน ซึ่งมิติที่สำคัญในประเด็นนี้ คือ มิติทางเศรษฐกิจของการแต่งงานที่กำหนดโดยวัฒนธรรม ตั้งแต่เรื่องว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายที่ต้องจัดงานแต่งงาน และจะต้องมีสินสอดหรือไม่ รวมถึงใครจะต้องให้สินสอดกับใครเป็นต้น

ในกรณีของโลกตะวันตก ตามจารีตครอบครัวเจ้าสาวจะต้องเป็นคนจัดงานแต่งงาน และในหลายๆ พื้นที่จะมีคอนเซ็ปต์เงินที่เรียกว่า Dower ที่ไม่ใช่ "สินสอด" แต่เป็นเงินสำรองสำหรับภรรยาในกรณีที่สามีตายและภรรยาเป็นหม้าย ส่วนในอินเดียก็จะต่างออกไป เพราะนอกจากครอบครัวฝั่งเจ้าสาวต้องจัดงานแต่งงานแล้ว ยังมีหน้าที่จ่ายสินสอดให้ครอบครัวฝั่งเจ้าบ่าวด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าขยับมาทางตะวันออก แนวคิดจะต่างออกไป เช่นในจีนและรัสเซีย ฝั่งเจ้าบ่าวจะต้องเป็นฝ่ายที่จัดงานแต่งงาน และในกรณีของจีน ฝั่งเจ้าบ่าวต้องจัดงานแต่งงานไม่พอ ยังมีหน้าที่จ่ายสิ่งที่เรียกว่า "สินสอด" ด้วย ซึ่งคำๆ นี้เป็นคำที่แม้ว่าคนไทยและจีนจะเข้าใจกันปกติ แต่มันไม่มีคำนี้ด้วยซ้ำในภาษาอังกฤษ จนยุคหลังๆ เค้าถึงบัญญัติศัพท์ใหม่อย่าง Bride Price มาเพื่อให้คนตะวันตกพอเข้าใจสิ่งนี้ ก่อนที่เหล่า "เขยฝรั่ง" จะต้องมาช็อคโดยไม่รู้มาก่อนว่าพ่อตาและแม่ยายชาวเอเชียต้องการอะไรจากเค้า ถ้าเค้าจะแต่งงานกับสาวชาวเอเชีย

อย่างไรก็ดี สินสอดไม่ใช่ปัญหาของคนตะวันตกที่จะมาแต่งงานกับคนเอเชียเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาร่วมสมัยในสังคมเอเชียเอง เพราะในหลายๆ สังคม (หรือให้ตรงอาจเป็นเพียง "หลายๆ พื้นที่" ในบางสังคม) แนวคิดเรื่องสินสอดก็ยังแข็งแรงอยู่มากๆ และพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็จะไม่ยอมให้ลูกสาวของตนแต่งงานกับฝ่ายชายโดยปราศจากสินสอด

ปัญหานี้หนักหนามากในจีน ประเทศที่ดันใช้นโยบายลูกคนเดียว จนทำให้ประชากรของผู้ชายรุ่นหนึ่งมากกว่าผู้หญิงอย่างมหาศาล และทำให้ผู้หญิงที่มีจำนวนน้อยกว่าในสังคมมีอำนาจต่อรองอย่างมหาศาล ซึ่งหน้าตาของอำนาจต่อรองนี้ในจีนแถบต่างจังหวัด คือ อำนาจของครอบครัวเจ้าสาวในการเรียกร้องสินสอดระดับพอๆ กับเงินเดือนครึ่งปีของเจ้าบ่าว หรือกระทั่งมากกว่านั้น

ถามว่าคนจีนก้มหัวรับหรือไม่ คำตอบ คือ “ไม่” และเอาจริงๆ ในสังคมที่ผู้คนวิจารณ์นโยบายรัฐไม่ได้ ประเด็นสังคมที่สร้างข้อถกเถียงในวงกว้างในสังคมจีนยุคปัจจุบันเสมอมา ก็คือเรื่องของเงินสินสอดตามชนบทของจีนที่ทำ "นิวไฮ" ไปเรื่อยๆ จนทำให้คนจีนสมัยใหม่เริ่มตั้งคำถามว่า นี่มันเลยเถิดไปหรือไม่? ซึ่งถามว่าสินสอดประมาณไหนที่คนจีนเห็นว่ามันเลยเถิด คร่าวๆ คือถ้าสินสอดไปถึง 200,000 หยวน (ประมาณ 1,000,000 บาท) คนจีนก็มองว่ามันเลยเถิดแน่ๆ

โดยทั่วไป สินสอดจะขึ้นสูงขนาดนี้ตามชนบททางตอนเหนือฝั่งตะวันออกของประเทศ เช่น แถวมณฑลเหอหนานและอันฮุย แต่ถ้าเป็นโซนทางใต้ฝั่งตะวันออกแถวมณฑลกวางตุ้ง เจียงซี ฝูเจี้ยนจะต่ำกว่ามาก ซึ่งนักวิจัยก็ได้วิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องของความต่างของวัฒนธรรมในการ "เก็บ" สินสอด ทางใต้ สินสอดจะเป็นของพ่อแม่เจ้าสาว ดังนั้น พ่อแม่จะไม่กล้าเรียกมาก เพราะจะถูกมองว่า "ขาย" ลูกสาว ส่วนทางตอนเหนือ สินสอดจะเป็นของเจ้าสาวทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวเจ้าสาวที่มีอำนาจในการเรียกสินสอด จะเรียกสินสอดหนักเลยเพื่อหน้าตาของครอบครัว และ "เหตุผลด้านหน้าตา" นี่แม้ว่าชาวตะวันตกจะเข้าใจยาก แต่ก็คงจะเป็นสิ่งที่ชาวไทยเข้าใจได้ไม่ยากเท่าไร

ปัญหาทั้งหมดก็ไม่ใช่ทางการจีนมองไม่เห็น แต่จริงๆ ทางการจีนในระดับท้องถิ่นมองเห็นเป็นปัญหาใหญ่เลย และมันโยงกับอัตราการเกิดที่น้อยของจีนด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีเงินเลี้ยงลูกหรือไม่ เพราะผู้ชายจีนยุคปัจจุบันไม่น้อยก็ล้มเลิกแผนแต่งงานไปเลย หลังโดนเรียกสินสอดก้อนใหญ่โดยเฉพาะจากพ่อแม่เจ้าสาวทางตอนเหนือ

นี่เลยทำให้พวกรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มออกมาตรการแทรกแซงเรื่องสินสอด มีตั้งแต่แคมเปญแต่งงานแบบ "ไร้สินสอด" ที่มณฑลเจียงซี ไปจนถึงการตั้งเพดานสินสอดให้ไม่เกิน 250,000-300,000 หยวน ของทางมณฑลหนิงเซี่ยและมณฑลกานซู่ โดยเรื่องพวกนี้เป็นข่าวใหญ่มากๆ ในช่วงปี 2023

แต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่มีรายงานแต่อย่างใดว่าการแทรกแซงราคาสินสอดเหล่านี้ จะทำให้คนแต่งงานกันมากขึ้น และนี่ก็น่าจะเป็นอีกนโยบาย "ล้อมคอก" ปัญหาเด็กเกิดน้อยลงที่ไม่ได้ผล เพราะสุดท้าย ไม่ใช่แค่การลดต้นทุนการแต่งงานที่จีนทำจะไม่น่าได้ผล แต่พวกนโยบายอัดฉีดเงินให้คนมีลูกกันเยอะๆ แบบที่หลายประเทศทำนั้น เอาจริงๆ ในภาพรวมก็ไม่ได้ทำให้คนมีลูกมากขึ้นเช่นกัน และนี่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นที่รัฐทั่วโลกต้องยอมรับว่ามันอาจไม่ใช่ปัญหาที่ "แก้ได้" หรือกระทั่ง "ต้องแก้" แต่เป็นภาวะที่ต้องยอมรับจะจัดการกับมันในฐานะสิ่งที่จะอยู่อย่างคงทนถาวร    


อ้างอิง
Refunds Allowed! China’s Top Court Clarifies When ‘Bride Prices’ Should be Returned
In China, Marriage Rates Are Down and ‘Bride Prices’ Are Up
In China, men pay rising dowries as ‘bride prices’ surge
Who’s Profiting Off China’s Bride Prices?
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน