Skip to main content

 

เด็กๆ ในนอร์เวย์เดินไปโรงเรียนเองตอน 6 ขวบ ทำอาหารง่ายๆ กินเอง ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ระหว่างที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน คุณครูเชียร์ให้เด็กๆ ปีนป่ายก้อนหิน หรือถ้าเล่นซนปีนต้นไม้แล้วตกลงมา พ่อแม่จะบอกให้ลูกๆ ปีนขึ้นไปใหม่ นี่คือการเลี้ยงดูเด็กสไลต์นอร์เวย์ที่ปลูกฝังความเป็นอิสระ ให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผิดพลาด และฝึกให้มีรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก

ครอบครัวของสองพี่น้อง นีลา และ อาริออน อาศัยอยู่ที่เมืองสตาวังเงร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์เวย์ บ่ายโมงครึ่ง เป็นเวลาที่ทั้งสองกลับถึงบ้านหลังโรงเรียนเลิก เด็กๆ จะทำอาหารง่ายๆ กินกันนิดหน่อย จากนั้นก็นั่งทำการบ้าน หรือไม่ก็จะฝึกเล่นเปียโนในระหว่างที่พ่อกับแม่ไม่อยู่บ้านราวสองสามชั่วโมง บางครั้งเด็กๆ จะออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ที่ถนนหรือที่สนามหญ้า

ทั้งนีลาและอาริออน ไปโรงเรียนเองตั้งแต่เข้าโรงเรียนปีแรกตอนหกขวบและต้องถือกุญแจบ้านเอง ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่เด็กๆ นอร์เวย์จะอยู่แบบผู้ใหญ่ตัวน้อยๆ

นอร์เวย์ ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูลูกให้มีอิสระ เด็กๆ จะกำหนดความต้องการของตัวเอง และรับผิดชอบต่อตัวเอง

มีหลักฐานย้อนกลับถึงยุคไวกิ้งในศตวรรษที่ 9 ว่าวิธีการเลี้ยงดูเด็กก็เป็นแบบเดียวกันนี้ โดยการปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนผู้ใหญ่ และคาดหวังว่าเด็กจะช่วยเหลือในการทำงาน

“เด็กๆ จะแข็งแรง เข้มแข็ง และถูกฝึกฝนให้เป็นอิสระและซื่อสัตย์” ทูเร มอร์ช ศาสตราภิชานด้านสุขภาพจิตเด็ก ที่มหาวิทยาลัยทรอมโซ กล่าว 

“ผมไม่คิดว่าใครๆ จะไม่มีพ่อแม่แบบนี้” จิอันคาร์โล นาโปลี คุณพ่อของนีลาและอาริออนบอก เขาเล่าว่ามีเพื่อนนักเรียนห้องเดียวกับนีลาที่พ่อแม่ย้ายบ้านไปอยู่เมืองอื่น แต่แทนที่จะย้ายโรงเรียนให้ลูก กลับปล่อยให้ลูกเดินเท้าราว 20 นาทีไปขึ้นรถไฟที่สถานี และนั่งรถไฟอีกราว 20 นาทีเพื่อไปโรงเรียน ซึ่งเด็กๆ จะเดินทางแบบนี้วันละสองเที่ยว แต่ก็ไม่มีใครประหลาดใจหรือรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยเลย

จิอันคาร์โล ย้ายจากอังกฤษมาที่เมืองสตาวังเงร์เมื่อปี 2006 หลังจากพบกับ ลีนา ภรรยาชาวนอร์เวย์ ขณะเดินทางท่องเที่ยว เขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยใกล้ๆ บ้าน และเป็นสมาชิกชมรมพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบอิสระ

แน่นอนว่า การเลี้ยงลูกแบบอิสระนั้นเข้ากับการรับรู้ของคนภายนอกที่มักมองว่า สังคมสแกนดิเนเวียมีความปลอดภัยสูง มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตสูงลิบลิ่ว และมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ โดยนอร์เวย์ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอันดับ 7 และติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีจีดีพีสูงที่สุดในโลก

เม็ตเท ทไว นักประวัติศาสตร์และภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์เมืองสตาวังเงร์ บอกว่า ผู้หญิงนอร์เวย์ส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ซึ่งนอร์เวย์มีความเท่าเทียมทางเพศของวัยแรงงานสูง โดยร้อยละ 73 ของวัยแรงงานเป็นผู้ชาย และร้อยละ 67 ของวัยแรงงานเป็นผู้หญิง

เม็ตเทบอกว่า เธอเคยไปที่อเมริกา และเห็นว่าพ่อแม่ที่นั่นจะคอยจัดแจงสิ่งต่างๆ ให้กับลูก ซึ่งแตกต่างจากที่นอร์เวย์

“ที่นอร์เวย์ เด็กๆ จะจัดการเรื่องทางสังคมเอง รวมทั้งจัดการเวลาว่าง เป็นเรื่องปรกติที่เด็กนอร์เวย์จะบอกพ่อแม่ว่าจะทำอะไร โดยไม่ต้องขออนุญาต พวกเขาเพียงแค่เชี่อว่าลูกจะมีการตัดสินใจที่ดี” เม็ตเท กล่าว

ลีน่า แม่ของนีลาและอาริออนบอกว่า “คุณสามารถจะให้เด็กๆ ติดจีพีเอส และเช็คได้ว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ที่ไหน แต่สิ่งสำคัญสำหรับฉันก็คือ มันไม่ใช่เสรีภาพจริงๆ ที่เราให้กับเด็กๆ”

เธอเล่าว่า มีครั้งหนึ่งที่นีลาเล่นกับเพื่อน และคุณยายของเพื่อนชวนเข้าไปกินขนมในบ้านจนเธอลืมเวลาและกลับบ้านช้า ลีน่าบอกว่า “สิ่งสำคัญสำหรับลูกก็คือ เธอเห็นว่าพวกเราเป็นห่วงมากแค่ไหน หลังจากนั้นเธอก็ไม่เคยทำแบบนั้นอีกเลย”

พ่อแม่ชาวนอร์เวย์ อิสระแก่ลูกๆ ที่จะทำผิดพลาด และเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ซึ่งเป็นแทกติกที่จะสร้างความเข้าใจให้กับเด็กๆ เช่น เมื่อลูกๆ ปีนต้นไม้ อาจตกลงมาและเจ็บตัว แต่นั่นก็อาจทำให้ปีนต้นไม้ได้เก่งขึ้นหลังจากนั้น

ศาสตราภิชานทูเรบอกว่า เราไม่สามารถเข้าใจพ่อแม่สไตล์นอร์เวย์ได้ หากปราศจากการประเมินทางด้านจิตวิทยา ออสเซ่ กรูดา สการ์ด ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนช่วงหลังสงครามโลก เธอเป็นนักจัดรายการวิทยุ และนักหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่แนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างอิสระ เพื่อโต้ตอบกับลัทธิเผด็จการที่ครอบงำนอร์เวย์ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

“เธอต่อต้านอย่างแข็งขันกับรูปแบบการเลี้ยงลูกโดยใช้วิธีลงโทษ ขณะเดียวกันก็สอนพ่อแม่ให้มองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของเด็ก ตั้งคำถามว่าเด็กๆ ได้ประสบการณ์อะไรจากสถานการณ์นี้ เด็กๆ เข้าใจอะไร และจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งจะช่วยเหลือเด็กๆ ได้อย่างไรในสถานการณ์นี้” ศาสตราภิชานทูเรกล่าว

มีคำกล่าวของชาวนอร์เวย์ว่า “ไม่มีหรอกอากาศเลวร้าย มีแต่แต่งตัวไม่พร้อม” ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล เด็กๆ จะมาพร้อมเครื่องอุปกรณ์และเสื้อผ้าที่พร้อมเผชิญกับทุกสภาพอากาศ และจะต้องออกไปกลางแจ้งในระหว่างวันไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร

“เมื่อเราอยู่ข้างนอก เราบอกให้เด็กๆ ลองเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ปีนก้อนหิน และเดินบนพื้นที่ขรุขระ” ฮานเน มีเร ครูโรงเรียนอนุบาลในเมืองสตาวังเงร์บอก “มันจะช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กๆ ซึ่งเราพบว่ามันช่วยให้เด็กแข็งแรงและมีอิสระ แม้บางครั้งเด็กๆ จะหล่นลงมาและเจ็บ แต่จะมีคนมาปลอบ และกระตุ้นให้เด็กๆ ลองทำซ้ำอีก”

ครูฮานเนบอกว่า เมืองสตาวังเงร์มีโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนขนาดเล็กอยู่มากในแต่ละย่าน ซึ่งเด็กๆ จะต้องไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียนคนเดียวในระยะเดินใกล้ๆ เธอบอกว่า 

“พวกเราเชื่อใจในผู้คน แต่ก็ไม่ถึงกับใสซื่อ เราสอนเด็กๆ ว่าห้ามไปไหนกับคนแปลกหน้า และฝึกการเดินข้ามถนนอย่างปลอดภัยให้กับเด็กๆ”


ที่มา
How to be a Norwegian parent: let your kids roam free, stay home alone, have fun – and fail