Skip to main content

โครงการเกษตรยั่งยืนในรัฐเท็กซัสของสหรัฐ ชวนเยาวชนมาปลูกพืชผักอินทรีย์ สร้างผู้นำคนรุ่นใหม่ และชุมชนผลิตอาหารปลอดภัย ที่สดใหม่ คุณภาพดี ราคาไม่แพง และมีความยั่งยืน เพื่อทำให้คนในเมืองเข้าถึงโภชนาการที่ดีได้โดยมีการกีดกันสีผิวหรือเชื้อชาติ

FunkyTown Food โครงการไม่แสวงผลกำไร ตั้งอยู่ในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ชื่อ โคนัมดรัมฟาร์ม ในเมืองฟอร์ทเวิร์ธ ของรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ โดยมีฐานความคิดเรื่องชุมชนแห่งเรียนรู้และการแบ่งปัน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนและคนวัยผู้ใหญ่ในการปลูกพืชอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อผู้คน และสิ่งแวดล้อม

FunkyTown Food มีความเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอาหาร ไม่ว่าจะโดยการซื้อหรือการเพาะปลูก ซึ่งความคิดตั้งต้นมาจากความต้องการให้กลุ่มคนที่หลากหลายมาร่วมกันสร้างชุมชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าการที่คนได้ทำงานร่วมกัน เหนื่อยร่วมกัน และปลูกพืชอาหารร่วมกัน จะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกันได้ โดยภารกิจของโครงการ คือ การสร้างชุมชนที่ผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับประชากรในเมือง เพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่สดใหม่ ดีต่อสุขภาพ จากภายในท้องถิ่นในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่กระตือรือล้น มีแรงบันดาลใจ ร่วมกับการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนของพวกเขาเอง

 

ภาพจากเฟสบุ๊ก FunkyTown Food Project

 

หนึ่งในแผนงานของโครงการ คือ การรับเยาวชนมาฝึกงานในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยจะพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำให้กับเยาวชน และฝึกทักษะการมีส่วนร่วมกับชุมชนผ่านการทำฟาร์ม

ในแต่ละปี FunkyTown Food จะจ้างงานเยาวชนฝึกงานมาเข้าร่วมในโครงการ มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน กินอาหารร่วมกัน ทำการเพาะปลูกร่วมกันโดยที่ไม่มีแบ่งแยกเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ หรือความแตกต่างอื่นๆ โดยกำหนดให้ทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจ่ายค่าแรงให้สัปดาห์ละ 360 ดอลลาร์ หรือประมาณ 13,000 บาท

ในช่วง 6 สัปดาห์ของการฝึกงาน เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปลูกพืชผัก และช่วยกันกระจายผลผลิตจำนวนหลายร้อยกิโลกรัมไปยังที่ต่างๆ ขณะเดียวกันทางโครงการก็จะพัฒนาทักษะที่สำคัญให้ เช่น ความเป็นผู้นำ ทีมเวิร์ค ทักษะการทำงาน และการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยแบ่งเวลาช่วงเช้าเป็นการทำงานในฟาร์ม และช่วงบ่ายเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรยั่งยืน การเข้าถึงแหล่งอาหาร ความเป็นธรรมทางสังคม และหัวข้ออื่นๆ

 

ภาพจากเฟสบุ๊ก FunkyTown Food Project

 

เอเวอร์แมน บีน เด็กมัธยมวัย 13 ปี เธอเป็นเด็กฝึกงานที่อายุน้อยที่สุดที่มาฝึกงานกับ FunkyTown Food บอกว่า ที่นี่เปลี่ยนแปลงวิธีที่พูดคุยหรือการปฏิสัมพันธ์ของเธอกับคนอื่นไปจริงๆ

ฉันทำงานกลางอากาศร้อน แต่จริงๆ ก็ไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้หรอก ฉันชอบการที่ได้ออกมาทำงานกับเพื่อนๆ มากกว่า” เอเวอร์แมนบอก

ทั้งนี้ ในเมืองฟอร์ทเวิร์ธ มีเด็กๆ ราว 1 ใน 4 ที่ขาดความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยครอบครัวไม่มีเงินมากพอสำหรับการซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับลูกๆ ขณะที่ ทุกสัปดาห์โครงการ FunkyTown Food จะบริจาคเงินร้อยละ 25 ของเงินลงทุนผ่านองค์กรที่เป็นหุ้นส่วน อย่าง Tarrant Area Food Bank และ Funky Town Fridge ซึ่งเป็นโครงการแจกจ่ายอาหารฟรีให้กับชุมชนต่างๆ

 

ภาพจากเฟสบุ๊ก FunkyTown Food Project

 

ผลผลิตจาก FunkyTown Food จะนำถูกไปจำหน่ายตามชุมชนต่างๆ ในราคาถูก โดยผ่านตลาดเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากรัฐ และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง รวมถึงเงินบริจาคผ่านเครือข่ายชุมชนที่เป็นหุ้นส่วนกัน

ส่วน Funky Town Fridge เป็นองค์กรที่ต่อสู้เรื่องความไม่มั่นคงทางด้านอาหารอันเนื่องจากความแตกต่างของสีผิว โดยจะจัดหาอาหารสดและของใช้จำเป็นมาใส่ไว้ในตู้เย็นที่วางอยู่ตามชุมชน เพื่อแจกจ่ายให้กับให้ครอบครัวในเมืองฟอร์ทเวิร์ธที่เข้าไม่ถึงโภชนาการที่ดีเนื่องจากความยากจน ให้สามารถมาหยิบเอาอาหารไปได้ฟรีจากในตู้เย็นเหล่านั้น


อ้างอิง
Students head to the farm for summer internship
We have served over 8,000 pounds of food to over 5,000 families through your support.
Funky Town Fridge, which provides free food, will open its fourth location in west Fort Worth
FunkyTown Food Project
FunkyTown Food Project’s executive director nourishes students’ dreams
‘I love coming out here.’ 13-year-old shines on FunkyTown Food Project farm