Skip to main content

นักวิจัยสร้างแบบจำลองเอไอแบบเรียนรู้เชิงลึก หรือ deep-learning เพื่อค้นหาว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เรา “แก่” เร็วในอัตราเร่งที่มากกว่าปรกติ โดยพบว่า “ความเหงา” หรือการมีชีวิตที่ “โดดเดี่ยว” นั้น ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิต และซ้ำร้ายยังส่งผลในทางกายภาพ โดยไปเร่งกระบวนการแก่ชราของร่างกายให้เร็วขึ้น

การศึกษาชิ้นใหม่นี้ใช้เทคโนโลยี deep-learning ในการจำลองนาฬิกาอายุ ทดสอบตัวอย่างเลือดและระบุอัตลักษณ์ของผู้ใหญ่ชาวจีนราว 12,000 คน และพบว่า “ความเหงา” เป็นตัวเร่งให้คนเราแก่เร็วขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงกว่าการสูบบุหรี่

นักวิจัยกล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจที่พบว่าปัจจัยด้านสุขภาพจิตมีผลกระทบต่อความแก่ได้มากเพียงใด เมื่อเทียบกับปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ อย่างเช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่

นาฬิกาอายุ คือ โมเดลทางด้านสถิติที่ใช้วัดอายุทางชีวภาพ มากกว่าการวัดอายุขัยตามเวลาที่นับจากวันเดือนปีเกิด

“นาฬิกาอายุ เป็นโมเดลดิจิทัลเกี่ยวกับการเทรนด์เรื่องอายุจากตัวอย่างมนุษย์นับพัน” ฟีออร์ กัลคิน หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

“มันเรียนรู้ที่จะระบุร่องรอยของอายุโดยการตรวจสอบตัวบ่งชี้ทางกายภาพ ประกอบกับอายุตามวันเดือนปีเกิด จากนั้นมันจะสามารถคาดการณ์อายุคนโดยดูจากตัวบ่งชี้ทางกายภาพ” ฟีออร์ กล่าว

การวิเคราะห์ข้อมูลคนวัยผู้ใหญ่ชาวจีนจำนวน 11,914 คน พบว่า การสูบบุหรี่ทำให้แก่เร็วขึ้นราว 1.25 ปี แต่ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว สามารถทำให้แก่เร็วขึ้นได้ถึง 1.65 ปี หรือ เท่ากับ 1 ปี 7 เดือน 24 วัน

นอกจากความรู้สึกเหงาแล้ว โมเดลนี้ยังรวมเอาปัจจัยอื่นๆ เช่น ความกลัว ความสิ้นหวัง การไม่มีความสุข และคุณภาพการนอนที่ไม่ดี เอาไว้ด้วย แบบจำลองยังพบด้วยว่า คนที่เป็นโสดจะแก่เร็วขึ้นราว 0.35 ปี ขณะที่คนที่อาศัยอยู่ในชนบทจะแก่เร็วขึ้น 0.39 ปี

มานูเอล ฟาเรีย หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า สภาวะของทางกายและจิตใจเป็นส่วนที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการคาดการณ์ถึงทางผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิต

เขากล่าวว่า ผลสำรวจเผยว่า ปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนทำงานชาวยุโรปมาจนถึงจุดแตกหักแล้ว และเมื่อระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ แนวทางของจิตวิทยาเกี่ยวกับความแก่จึงไม่ควรถูกละเลยในการวิจัย

นักวิจัยสรุปว่า มีการเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นระหว่างสภาพจิตใจและความแก่ และย้ำว่า ต้องตระหนักเสมอว่า สุขภาพจิตที่ย่ำแย่เป็นปัจจัยหลักในการทำให้ไปเราสู่ความแก่เร็วขึ้น

 

ที่มา
Feeling lonely and depressed could accelerate ageing more than smoking, study finds