Skip to main content

Libertus Machinus
 


 

ช่วงโควิดที่ผ่านมา และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ระดับราคาสินค้าและบริการต่างๆ สูงขึ้นแทบทั้งหมด ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกกันว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” ซึ่งตัวชี้วัดหลักที่เค้าใช้ก็คือ CPI หรือ Consumer Price Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาสินค้าโดยรวมๆ (ยกเว้นหมวดอาหารและพลังงาน และเค้ายกเว้นเพราะถือว่าราคาของพวกนี้ผันผวนมาก) และอัตราเงินเฟ้อ ก็คือการเปลี่ยนแปลงของ CPI ในรอบ 1 ปี

อะไรพวกนี้เป็นเรื่องของตัวชี้วัดแบบมหภาค ซึ่งบางทีผู้คนทั่วไปก็ไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงอะไรนักกับตัวเลขที่เป็น เพราะในไทย ตัวเลขเงินเฟ้อก็ต่ำซะเหลือเกิน และสำหรับคนจำนวนมาก สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าราคามันสูงขึ้นชัดๆ น่าจะเป็นเพียงราคาอาหารตามร้านที่ประกาศขึ้นราคาเป็นระยะ ราคาน้ำมันที่ขึ้นแบบเห็นๆ รวมถึงค่าไฟฟ้า ที่บางทีก็พูดยากว่า ขึ้นเพราะค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หรือโลกมันร้อนขึ้นแอร์เลยทำงานหนักขึ้น

ทั้งหมดนี้ก็อย่างที่บอก มันคือหมวด "อาหารและพลังงาน" ที่ไม่ได้ถูกคิดรวมในเงินเฟ้อด้วย ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ “อัตราเงินเฟ้อของไทยเราต่ำ”

คนไทยจะไม่ค่อยรู้สึกว่าราคาสินค้าอื่นๆ แพงขึ้น เพราะไปดูราคามันก็เท่าเดิม ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลให้อัตราเงินเฟ้อของเราต่ำ

แต่ความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้นเหรอ?

 

แม้ว่าจริงๆ ไม่ใช่เรื่องประหลาดในโลก และมันมีคำเรียกปรากฎการณ์นี้ด้วยซ้ำว่า Shrinkflation แต่คำถามคือ คนที่คำนวณอัตราเงินเฟ้อในไทยมองเห็นปรากฎการณ์ที่ว่านี้หรือไม่? ถ้าไม่ เป็นไปได้หรือเปล่าว่าที่อัตราเงินเฟ้อไทยค่อนข้างต่ำกว่าชาวบ้าน เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เลือกจะ "ไม่ขึ้นราคา" แต่เลือกจะ "ลดปริมาณ" กันหมด?


สัญญาณบ่งชี้ ข้าวของแพงขึ้น แต่เราไม่เอะใจ

 

เคยสังเกตมั้ยครับว่าในรอบ 2 ปีมานี้ สินค้าอุปโภคต่างๆ มีการเปลี่ยนแพคเกจ เหมือนทำทีจะรีแบรนด์ แต่ราคาไม่เปลี่ยน ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ความเป็นจริง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นถ้ามีการเปลี่ยนโฉมผลิตภัณฑ์ในรอบ 2 ปีนี้ แนวโน้มคือ เค้าจะลดปริมาณสินค้าลง แต่ขายราคาเท่าเดิม

จริงๆ เราอาจเคยได้ยินการทำอะไรแบบนี้กับมันฝรั่งทอดแบบถุง ที่ราคาเท่าเดิมมายาวนาน แต่ปริมาณลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์แบบนี้มันมาถึงสินค้าที่ใช้ทั่วไปแล้ว ซึ่งผลของการทำแบบนี้คือ เวลาเราไป "ซื้อของชำ" ที เราจะไม่รู้สึกว่าอะไรมันแพงขึ้นเลย เสียเงินก็เสียเท่าเดิม แต่แนวโน้มคือ "ปริมาณ" สินค้าได้ได้ลดลงไปแล้วโดยเราไม่ระแคะระคายเลย

บางคนอาจนึกออกทันทีว่ามันคืออะไร แต่ถ้านึกไม่ออก เราอยากยกตัวอย่างสินค้ายอดนิยมจำนวนหนึ่งที่มีการ "ลดปริมาณ" ลงแน่ๆ ที่เราไปสำรวจมา

อย่างแรก แชมพู ยอดฮิตยี่ห้อหนึ่งที่ชอบขายแพ็คคู่แบบ 1 แถม 1 พบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป หลายๆ คน แม้แต่คนที่ใช้ประจำ ก็น่าจะจำไม่ได้ว่าปริมาตรแต่ละขวดมันขนาดไหน ซึ่งถ้าไปค้นดูในอินเทอร์เน็ต เราก็จะพบทั้งไซส์ 450 มิลลิลิตร 410 มิลลิลิตร และ 370 มิลลิลิตร

แต่ความเป็นจริงก็คือ ถ้าไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ตตอนนี้เลย เราจะเจอแชมพูยี่ห้อที่ว่าแต่ขนาด 370 มิลลิลิตร

ถ้าคนใช้ประจำ ก็อาจรู้สึกว่าหลังๆ มันเหมือนใช้แล้วมันหมดเร็วขึ้น หรือรู้สึกขวดมันเบาๆ ลง ซึ่งคุณไม่ได้เข้าใจอะไรผิดเลยครับ สมัยก่อนแชมพูยี่ห้อนี้ขวดไซส์แบบหัวกดเล็กสุด มันคือขนาด 450 มิลลิลิตร ต่อมาลดเป็น 410 มิลลิลิตร และส่าสุดคือลดเป็น 370 มิลลิลิตร

เราจะไม่รู้เลยถ้าเราไม่ลองค้นดู และเราไม่รู้ด้วยว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ความเป็นจริงคือขนาดมันลดลง 20% แล้วในเวลาน่าจะไม่นานด้วย

นี่คือกรณีแรก

กรณีต่อมา ใครเคยใช้ ทิชชู่ม้วนยาว ยี่ห้อฮิตที่มักมีโปรโมชั่นแพ็คแบบ 6 แถม 2 ก็น่าจะพอจำได้ว่ามันมีการเปลี่ยนแพคเกจในช่วงราวๆ ต้นปี 2024 นี้เอง ซึ่งแพคเกจใหม่ก็รู้สึกใช้ได้เหมือนเดิมไม่มีอะไร แต่ถ้าใครบังเอิญได้เก็บ "แกนทิชชู่" สีน้ำตาลของอันเก่า มาเทียบกับอันใหม่ ก็น่าจะเห็นว่า จริงๆ แกนทิชชู่มันสั้นลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มันมีการ “ลดปริมาณ” โดยการ “ลดขนาดกระดาษทิชชู่” นั่นแหละ และแน่นอนราคาขายมันเท่าเดิม

กรณีสุดท้าย ล่าสุด อาหารสุนัข ยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดอาหารสุนัขน่าจะอันดับต้นๆ ในไทย กำลังจะลดขนาดอาหารไซส์ต่างๆ ซึ่งบางคนไปซื้อก็อาจไม่รู้สึกอะไร แต่ความเป็นจริง กระสอบขนาด 10 กิโลกรัมจะไม่มีแล้ว แต่จะมีกระสอบขนาด 8 กิโลกรัมแทน แน่นอนราคาเท่าเดิม โดยปริมาณลดลงไป 20% ซึ่งถ้าเราไปซื้อของตามร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงเจ้าประจำ สินค้าขนาดใหม่จะวางอยู่ที่เดิมเลย ราคาก็เท่าเดิม ถ้าเราไม่เอะใจถามคนขาย เราก็อาจไม่รู้ว่าขนาดมันเล็กลง

 

ถ้าใครบังเอิญได้เก็บ "แกนทิชชู่" สีน้ำตาลของอันเก่า มาเทียบกับอันใหม่ ก็น่าจะเห็นว่า จริงๆ แกนทิชชู่มันสั้นลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มันมีการ “ลดปริมาณ” โดยการ “ลดขนาดกระดาษทิชชู่” นั่นแหละ และแน่นอนราคาขายมันเท่าเดิม


การลดปริมาณแบบเงียบๆ ที่อาจไม่ถูกนับรวมในการคำนวณเงินเฟ้อ

 

ต้องย้ำว่าที่เล่ามา ไม่มีแบรนด์ดังไหนต้องการ "หลอกลวงผู้บริโภค" นะครับ เค้าก็เขียนบอกว่าปริมาณลด หรือไม่ก็ส่งสัญญาณโดยการเปลี่ยนแพคเกจ เราผู้บริโภคนี่แหละที่ "ไม่สังเกต" เองทั้งนั้น และก็ซื้อๆ ไปโดยรู้สึกว่าราคาเท่าเดิม และเต็มที่ก็อาจสะกิดใจนิดหน่อยว่ามันหมดเร็วขึ้น แต่ถ้าเค้าค่อยๆ ลดปริมาณ เราก็จะไม่รู้สึก และรู้ตัวอีกทีคือ ใช้สินค้าที่ปริมาณลดลง 20% โดยจ่ายราคาเท่าเดิม

ต้องย้ำว่าที่ยกมานี่เป็นแค่ "ตัวอย่าง" การ "ลดปริมาณสินค้าแบบเงียบๆ" และคงราคาเดิมเอาไว้จริงๆ น่าจะมีแพร่หลายมากในไทย แต่ไม่มีคนบันทึกเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราวเท่านั้นเอง และที่น่ากลัวก็คือ การลดขนาดสินค้าที่ว่านี้ ไปๆ มาๆ มันอาจไม่ส่งผลต่อการคำนวณเงินเฟ้อด้วย เพราะเค้าถือว่าสินค้าเป็นขนาดเดิม ที่ราคาไม่เปลี่ยน ทั้งที่ปริมาณจริงๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว ผู้บริโภคได้ เสียเงินซื้อสินค้า "แพง" ขึ้นเรียบร้อย โดยราคาไม่เปลี่ยน แต่ปริมาณลด

ถ้าใครบังเอิญค้นพบว่าสินค้าที่ตัวเองบริโภคเป็นประจำมีการลดปริมาณลงแล้วคงราคาเอาไว้ ก็นั่นแหละครับ คุณกำลังโดนกระบวนการที่เราเล่าให้ฟังอยู่ มันเกิดกับสินค้าหลายชนิดมาก ไม่ใช่แค่ที่เราไปค้นและยกตัวอย่างให้ดู ซึ่งถ้าเจอและเล่าให้คนอื่นฟังด้วยก็จะเป็นวิทยาทาน

 

การลดขนาดสินค้าที่ว่านี้ ไปๆ มาๆ มันอาจไม่ส่งผลต่อการคำนวณเงินเฟ้อด้วย เพราะเค้าถือว่าสินค้าเป็นขนาดเดิม ที่ราคาไม่เปลี่ยน ทั้งที่ปริมาณจริงๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว ผู้บริโภคได้ เสียเงินซื้อสินค้า "แพง" ขึ้นเรียบร้อย โดยราคาไม่เปลี่ยน แต่ปริมาณลด

เราเชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกบ้างแหละว่า สินค้าต่างๆ ในยุคหลังๆ ใช้ๆ ไปแล้วรู้สึกมัน "หมดเร็ว" ต้องเปลี่ยนอันใหม่เร็วขึ้น แต่ก็ไม่คิดอะไร เพราะราคามันไม่เท่าไร และรู้สึกว่า "อาจคิดไปเองก็ได้"

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า ถ้ารู้สึกแบบนั้น คุณอาจไม่ได้คิดไปเองครับ ลองไปพลิกดูปริมาณสินค้าดีๆ ถ้ามีสินค้าที่ค้างอยู่ตั้งแต่สักปี 2022-2023 แล้วเทียบกับปีนี้ก็อาจจะเห็นเลยว่า เออ ปริมาณมันลดจริงๆ

สุดท้าย สิ่งที่น่าสนใจและเป็นคำถามใหญ่ก็คือ ปรากฎการณ์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แม้ว่าจริงๆ ไม่ใช่เรื่องประหลาดในโลก และมันมีคำเรียกปรากฎการณ์นี้ด้วยซ้ำว่า Shrinkflation แต่คำถามคือ คนที่คำนวณอัตราเงินเฟ้อในไทยมองเห็นปรากฎการณ์ที่ว่านี้หรือไม่? ถ้าไม่ เป็นไปได้หรือเปล่าว่าที่อัตราเงินเฟ้อไทยค่อนข้างต่ำกว่าชาวบ้าน เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เลือกจะ "ไม่ขึ้นราคา" แต่เลือกจะ "ลดปริมาณ" กันหมด?

นี่ไม่ใช่สิ่งทีเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าภาวะ Shrinkflation เป็นสิ่งที่อาจไม่เห็นใน “อัตราเงินเฟ้อ” ได้ ซึ่งผลก็คือ ผู้บริโภคไทยจริงๆ ในทางปฏิบัติก็อาจต้องเจอภาวะเงินเฟ้อที่ไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณออกมาน้อยกว่า กล่าวคือ ถ้าสินค้าราคาขึ้น 20% มันจะไปโผล่ในอัตราเงินเฟ้อแน่ๆ แต่สินค้าลดปริมาณลง 20% แต่ราคาเท่าเดิม มันมีโอกาสที่จะไม่ไปโผล่ในการคิดคำนวณอัตราเงินเฟ้อ นี่จะทำให้ผู้วางนโยบายไม่รู้สึกว่าอัตราเงินเฟ้อในไทยสูงอะไร ซึ่ง “ความเข้าใจผิด” ตรงนี้มันจะส่งผลต่อทั้งนโยบายการเงินและการคลังแน่ๆ

ต้องย้ำว่า ภาวะแบบนี้ในอีกแง่หนึ่ง อาจทำให้รัฐบาลตีเนียนว่าภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” ไม่มีจริงก็ได้ เพราะ อัตราเงินเฟ้อมันออกมาต่ำ ทั้งที่จริงๆ ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคชาวไทยอาจพบกับภาวะเงินเฟ้อสินค้าอุปโภคบริโภคเท่ากับประเทศอื่นๆ ในโลก เพียงแต่ชาวไทยเจอมันในเวอร์ชั่น “ลดปริมาณ” เท่านั้นเอง

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน