Skip to main content

Libertus Machinus

 

ทุกวันนี้ฟินแลนด์ มี "การศึกษาดีที่สุดในโลก" แต่รู้มั้ย "การศึกษาภาคบังคับ" ของประเทศนี้ เริ่มมีพร้อมกับไทยในปี 1921และในตอนแรกการศึกษาเค้าแย่กว่าไทยด้วยซ้ำ

ถ้าพูดถึง “การศึกษาภาคบังคับ” ของไทย คงมีน้อยคนที่มองว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี  ระบบการศึกษาภาคบังคับของไทยมีประวัติศาสตร์มายาวนานเป็น 100 ปีแล้ว เพราะเริ่มมีมาตั้งแต่ พรบ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ซึ่งก็คือปี ค.ศ. 1921 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ ‘ฟินแลนด์’ มีการศึกษาภาคบังคับพอดี และก็แน่นอน ทั้งสองประเทศก็น่าจะได้ฉลองครบรอบ 100 ปีของการศึกษาภาคบังคับกันในปี 2021

แม้ว่าจะมีอายุยาวนานพอๆ กัน แต่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ทางด้านการศึกษาของฟินแลนด์กันอยู่บ้าง บ้างก็ว่าเป็นระบบการศึกษาที่ "ดีที่สุด” ในโลก และเป็นฐานให้ฟินแลนด์เป็น "ประเทศทีมีความสุขที่สุดในโลก" ตามเกณฑ์ World Happiness Index


กว่าที่ฟินแลนด์จะมาถึงวันนี้

 

แน่นอน ถ้าพูดถึงการศึกษา ฟินแลนด์อาจไม่ได้ "ดีที่สุด” ในโลกในบางแง่ เพราะถ้าวัดจากคะแนน PISA หรือการวัดอะไรพวกนี้ นักเรียนฟินแลนด์มักจะได้คะแนนสูงมากๆ จริง แต่ก็ไม่ใช่ที่ 1 อย่างไรก็ดี การศึกษาฟินแลนด์ก็ถือว่า “ดีมาก” ในแง่ที่ทำให้เด็กสุขภาพจิตดี โตมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รวมไปถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

หรือพูดง่ายๆ ถ้าเราพูดไม่ได้ว่าการศึกษาของฟินแลนด์ถึงขั้น "ดีที่สุดในโลก" แต่เราก็น่าจะพูดได้ว่า นี่เป็นประเทศที่ประเมินรอบด้านแล้วเป็น "หนึ่งในประเทศที่การศึกษาดีที่สุดในโลก"

ประเด็นที่เราอยากพูดคุยคือ จริงๆ ฟินแลนด์ก็ไม่ได้เป็นเลิศมาตลอด มันมีปัจจัยและจุดหักเหต่างๆ ที่ทำให้ฟินแลนด์มาถึงจุดนี้ได้ และเราก็จะเล่าให้ฟังกัน

เมื่อ 100 ปีก่อน ฟินแลนด์เป็นประเทศยากจนที่เพิ่งเป็นเอกราชใหม่ๆ คนที่เรียนหนังสือที่ฟินแลนด์ในยุคนั้น คงจินตนาการไม่ออกว่าอีก 100 ปี การศึกษาในประเทศของตัวเองจะเป็นระดับท็อปของโลกได้

ในยุคนั้นการศึกษาภาคบังคับจะมีเพียง 4 ปีเท่านั้น หรือรัฐจะสนับสนุนค่าเล่าเรียนถึง ป. 4 เท่านั้น (โดยจะมีเรียนพรีสคูล และบังคับเรียนอีก 4 ชั้นปี) ถ้าจะเรียนต่อหลังจากนั้น ก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเอง และปกติครอบครับที่ยากจนก็จะให้ลูกที่จบแค่ ป. 4 ออกหางานทำ พูดง่ายๆ ก็แทบไม่ต่างจากไทยในยุคเดียวกัน และเผลอๆ จะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะในยุคแรก การศึกษาภาคบังคับของไทยนั้นผู้เรียนต้องเรียนยาวถึง 7 ปี หลายคนก็จะเคยได้ยินว่ามีถึงชั้น ป.7 นั่นแหละครับการศึกษาภาคบังคับยุคแรกของไทย คือ เค้าให้เรียนตั้งแต่ ป. 1 ถึง ป. 7 นั่นคือคนไทยได้ฟรีเรียนยาวกว่าฟินแลนด์ในยุคเดียวกันเสียอีก

ในช่วงทศวรรษ 1950 ฟินแลนด์มีการปฏิรูปการศึกษาและเพิ่มการศึกษาภาคบังคับอีก 2 ปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือเพิ่มจากบังคับเรียนแค่ถึง ป.4 มาให้เรียนถึง ป.6  โดยในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ฟินแลนด์มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ โดยในรอบนี้ นอกจากบังคับเรียน ป. 1-ป. 6 แล้ว ยังบังคับให้เรียน ม. 1-ม. 3 ต่อ ซึ่งนี่ก็คือระบบการศึกษาภาคบังคับที่ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้


ไม่ต้องเรียนนาน แต่มีคุณภาพ

 

ฟินแลนด์ไม่ได้มีระบบการศึกษาภาคบังคับที่ยาวนาน แต่ระบบการศึกษาฟินแลนด์เข้มข้น แน่นอนหลายคนคงเคยได้ยินว่า เด็กฟินแลนด์เรียนหนังสือแบบ ‘ไม่ต้องมีเกรด’ ตั้งแต่ประถมยันมัธยม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เด็กฟินแลนด์จะไม่ได้เรียนอะไรจริงจัง เพราะระบบการศึกษาฟินแลนด์ทุกวันนี้ทำให้เด็กที่จบ ป. 6 พูดได้ 3 ภาษาสบายๆ (ฟินนิช สวีเดน และอาจเป็นอังกฤษหรือเยอรมันอีกหนึ่งภาษา โดยบางคนก็อาจได้ทั้งอังกฤษและเยอรมัน) หรือพูดง่ายๆ คือ เด็กฟินแลนด์เรียนจบประถมมาก็มีคุณภาพแล้ว ดังนั้น เวลาไปต่อยอดตอนมัธยมมันก็เลยไปได้ไกลมาก

วิธีคิดของครูฟินแลนด์อาจต่างจากหลายประเทศ ครูฟินแลนด์จะไม่พยายามเสริมเด็กที่เก่งให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่จะไปเน้นหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะสอนเด็กที่ไม่เก่ง และวิธีคิดแบบนี้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาวได้มาก เพราะแม้แต่พวกลูกหลานผู้อพยพก็จะได้ "ความช่วยเหลือพิเศษ" จากครูของฟินแลนด์ไปด้วย


สัดส่วนครูต่อนักเรียนไม่ต่างจากไทย แตกต่างที่ปรัชญาการศึกษา เน้นความเท่าเทียม

 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าฟินแลนด์มีจำนวนครูเยอะหรือเปล่าถึงทำแบบนี้ได้? คำตอบ คือ ไม่ใช่

ฟินแลนด์มีจำนวนนักเรียนประมาณ 14-15 คนต่อครู 1 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนเฉลี่ยที่พอๆ กับประเทศไทย และก็พอๆ กับค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD และนั่นหมายความว่า ยังมีประเทศอื่นๆ ทีมีสัดส่วนนักเรียนต่อครูน้อยกว่านี้อีก (เช่น สเปน และนอร์เวย์) และนี่ก็ยิ่งพิสูจน์ว่า การมีครูจำนวนมากกว่า ไม่ได้ทำให้มีการศึกษาที่ดีกว่า

ดังนั้น คำตอบไม่ใช่เรื่องปริมาณครู แต่เป็นเรื่องพื้นฐานกว่านั้น อย่างเช่น 'ปรัชญาการศึกษา' เพราะที่ครูฟินแลนด์ที่เน้นช่วยเด็กเรียนอ่อนมากกว่าจะไปเสริมเด็กเรียนเก่ง ก็เพราะว่า หลักการศึกษาของฟินแลนด์ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ความเท่าเทียม”  และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมรัฐธรรมนูญฟินแลนด์จึงห้าม "คิดค่าบริการ" ในการให้การศึกษาพื้นฐาน ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หมายถึง การ ‘แบน’ โรงเรียนเอกชนทั้งหมด ทำให้นักเรียนในฟินแลนด์ต้องเรียนโรงเรียนแบบเดียวกันหมด คือ โรงเรียนรัฐ

นี่ทำให้ฟินแลนต่างจากชาติจำนวนมากที่อนุญาติให้มีโรงเรียนเอกชน (รวมท้ั้งไทย) เพราะชาติเหล่านี้ หากผู้ปกครองร่ำรวยก็จะส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งก็จะทำให้ลูกไปอยู่ในอีกสังคมที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ และได้รับการศึกษาที่ดีกว่า ซึ่งเป็นการ “ส่งต่อความเหลื่อมล้ำ” ในคนรุ่นต่อไป

ที่ฟินแลนด์ เด็กจากทุกชนชั้นต้องเข้าเรียนโรงเรียนรัฐเหมือนกันหมด ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงไม่เกิด ซึ่งการรักษามาตรฐานการศึกษาของฟินแลนด์ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนรัฐที่โด่งดัง ถึงจะได้รับการศึกษาที่ดี เพราะทุกโรงเรียนให้การศึกษาได้เท่ากันหมด ครูมาจากจากที่เดียวกัน และทำให้ผู้ปกครองสามารถส่งลูกเรียน "โรงเรียนแถวบ้าน" ได้แบบหายห่วง สร้างความสะดวกให้กับทั้งชีวิตผู้ปกครองและเด็กเป็นอย่างมาก

กล่าวโดยสรุปคือ ครูฟินแลนด์จะช่วยเด็กเรียนอ่อนตามปรัชญาการศึกษาของฟินแลนด์ ที่เชื่อว่าระบบการศึกษาจะต้องมีส่วนช่วยในการสร้างความเท่าเทียมในสังคมนั่นเอง ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ถูกกำหนดมาตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญแล้ว

แต่ก็อย่างที่เล่ามา แม้ว่าฟินแลนด์จะคิดแบบนี้มานานแล้วตั้งแต่เริ่มการศึกษาภาคบังคับ แต่ระบบการศึกษาก็ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษ ในการพัฒนาและปฏิรูปให้ขยายการศึกษาภาคบังคับถึง ม. 3 และจริงๆ ก็ใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าฟินแลนด์จะเฉิดฉาย เพราะฟินแลนด์ก็เพิ่งมีผลสอบ PISA โดดเด่นจนทั่วโลกต้องจับตามองก็ราวๆ ทศวรรษ 2000 นี่เอง และหลังจากนั้นนานาชาติก็มาตั้งใจ "ถอดบทเรียน" ของฟินแลนด์กันใหญ่

เลยนำมาสู่ "คำถามสุดท้าย" ว่าฟินแลนด์มีดีอะไร?


ปฏิรูปการผลิต ‘ครู’ เพิ่มศักยภาพการสอน สร้าง ‘เด็กเก่ง’ ที่โลกยอมรับ

 

คำถามที่ตรงกว่าก็คือ ทำไมฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาใหญ่ในทศวรรษ 1970 แต่กว่าฟินแลนด์จะสร้าง "เด็กเก่ง" ได้จริงๆ ก็ปาเข้าไปปี 2000 เป็นต้นมา?

คำตอบง่ายมาก คือ การปฏิรูปการศึกษาใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1970 ไม่ได้เปลี่ยนแค่ระบบการศึกษา แต่มันเปลี่ยนระบบการ "ฝึกครู" ด้วย อธิบายง่ายๆ ก็คือตั้งแต่ปี 1979 ฟินแลนด์เริ่มบังคับให้ครูทุกคนต้องเรียนจบปริญญาโทด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐก่อน ถึงจะมาสอนเด็กได้

พูดอีกแบบคือ บังคับให้ครูจบปริญญาตรีต้องเรียนเพิ่มเพื่อขยายศักยภาพด้านการสอนเด็กของตัวเอง ซึ่งมาตรการนี้ก็ไม่ใด้ใช้เวลาแค่ไม่กี่ปีจะแสดงผล เพราะฟินแลนด์ต้องใช้เวลากว่า 20 ปีหลังการบังคับให้ครูต้องเรียนสูงขึ้น กว่า "ผล" ของมันในการสร้างเด็กที่ภาพรวม "เก่ง" ให้โลกเห็นในที่สุด


นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของฟินแลนด์ ประเด็นไม่ใช่การยกเลิกการสอบ ประเด็นไม่ใช่ปริมาณครูที่ต้องมีเยอะ ประเด็นไม่ใช่การห้ามมีโรงเรียนเอกชน ประเด็นมันไม่ใช่แค่ "ความเชื่อ" ว่าการศึกษาควรจะผลิตคนที่เท่าเทียมกันออกมาให้ได้ 

แต่ประเด็นคือ ต้องปฏิรูปการฝึกสอนครูให้มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐานเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อจะบรรลุภารกิจด้านการศึกษาให้ได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเป็น 20 ปีกว่า "ผล" ของมันจะออกมาให้เห็นอย่างที่ฟินแลนด์ทำมาแล้ว


อ้างอิง
รัชกาลที่ 6 ต้นแบบการศึกษาภาคบังคับ

พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464
100 YEARS OF FINNISH EDUCATION SUCCESS STORIES
Why Are Finland’s Schools Successful?
Finland’s Education System: The Journey to Success
How the finnish education system came to be
Finland has no private schools – and its pupils perform better than British children
Compulsory education
Free education
Education in Finland
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน