Skip to main content

งานวิจัยชิ้นใหม่เผย คนเจน Z และเบบี้บูมเมอร์ มีมุมมองที่แตกต่างต่อประเด็นเรื่องการเป็น “ผู้สูงวัย” และอายุเท่าไรจึงจะเรียกว่า “คนแก่”

หลายคนอาจเชื่อว่าอายุ 30 ยังถือเป็นวัยรุ่น ถึงขนาดมีเพลง “30 ยังแจ๋ว” ออกมาปลุกใจผู้ใหญ่วัย 30 บวกกันถ้วนหน้า แต่สำหรับเหล่าเจน Z แล้ว พวกเขามีมุมมองที่ชัดเจนว่า คนอายุเท่าไรที่พวกเขาจะนับว่าเป็น “คนแก่” ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ใครหลายคนรู้สึกเคืองใจ

การสำรวจครั้งล่าสุดจาก Wellsoon โดยการสอบถามผู้ใหญ่จำนวน 2,000 คน เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัย โดยเฉพาะในหมู่คนเจน Z ที่เกิดระหว่างปี 1997 - 2012 และคนเจนเบบี้บูมเมอร์ หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1946 - 1964 ซ

ผลการสำรวจพบว่า คนที่มีอายุต่ำกว่า 27 ปี รู้สึกว่า “วัยชรา” หรือ “คนแก่” คือ คนที่มีอายุช่วง 50 ปลาย หรือราว 57 ปี ทั้งนี้ ร้อยละ 20 ของคนเจน Z เชื่อว่า การเกษียณอายุ คือ การได้ใช้เวลาพักผ่อนอยู่กับบ้าน ขณะที่ ร้อยละ 16  คิดว่า การเกษียณอายุ คือ การได้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัตต์กอล์ฟ เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ มีมุมมองที่ตรงข้ามกับคนเจน Z ผลการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นบูมเมอร์เชื่อว่า ตัวเองรู้สึกอ่อนกว่าวัย หลายคนระบุว่า อายุ 60 ก็เหมือนอายุ 40 โดยบางคนยกไลฟ์สไตล์ที่โฉบเฉี่ยวซึ่งทำให้พวกเขายังรู้สึกกระฉับกระเฉงอยู่ เช่นเดียวกับการรักษาจิตวิญญาณแห่งความอ่อนเยาว์ ที่ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกแก่ แม้จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลหลายแห่งชี้ว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ คือ กลุ่มที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุด โดยพวกเขาจะใช้เวลานอกบ้านมากกว่าเวลาทำงานโดยเฉลี่ย 4 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว ขณะที่การสำรวจพบว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เข้าร่วมการสำรวจ ร้อยละ 56 ระบุพวกเขาไปออกกำลังกาย ขณะที่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 - 27 ปี มีเพียงร้อยละ 39 เท่านั้น ที่ระบุว่าตัวเองใช้เวลาออกกำลังกาย

นอกจากออกกำลังกายแล้ว กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ยังมีแนวโน้มที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวและสำรวจสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นผลดีต่อชีวิตหลังเกษียณอายุ หรือสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อการทำงานของคนกลุ่มนี้อีกด้วย

“คนหนุ่มสาวเกือบครึ่งบอกว่าพวกเขายุ่งกับงาน และเหนื่อยเกินกว่าจะออกไปทำกิจกรรมอื่น ซึ่งผิดกับคนเจนเบบี้บูมเมอร์ ที่ตอนนี้พวกเขากำลังเข้าสู่วัยที่รู้จักยอมรับสภาพร่างกายของตัวเอง พร้อมชื่มชมร่างกายและสุขภาพของตัวเอง” โฆษกของ Wellsoon กล่าว

แม้เบบี้บูมเมอร์หลายคนจะบอกว่า ตัวเองยังเป็นวัยรุ่นและยังมีเรี่ยวแรง กระฉับกระเฉง แต่ผู้ตอบแบบสำรวจเจนบูมเมอร์ ร้อยละ 37 ก็ยอมรับว่า พวกเขาคงเคลื่อนไหวได้แอคทีฟมากกว่านี้ หากไม่ใช่เพราะปัญหาสุขภาพเรื้อรังและอาการปวดข้อ ปวดกระดูกต่างๆ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้เรียนรู้ที่จะชื่นชมร่างกายของตัวเองมากขึ้น โดยร้อยละ 80 บอกว่า เมื่อพวกเขาอายุ 38 ปี ก็เริ่มรู้สึกขอบคุณร่างกายของตัวเองที่ยังทำงานได้เป็นปกติ

เห็นได้ชัดว่าทัศนคติเรื่องอายุที่มากขึ้นในหมู่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว พวกเขาเริ่มต้นใช้ชีวิตที่สุขภาพดีและกระฉับกระเฉงมากขึ้น ซึ่งคนรุ่นหลังก็สามารถเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตที่สมดุลจากคนรุ่นก่อนได้เช่นกัน

 

อ้างอิง:
Gen Z reveals which age they consider someone to be old
"60 is the new 40" say the Boomer generation