Skip to main content

LIBERTUS MACHINUS

 


ท่ามกลางกระแส "ดิจิทัลวอลเลต" ในไทยที่รัฐบาลประกาศยืนยันในเดือนเมษายน 2024 ทำให้เกิดการวิจารณ์ต่างๆ นานาไม่ว่าจะในระดับ "เจตนา" ของนโยบายที่รัฐบาลบอกในตอนแรกว่าต้องการ "พายุหมุนทางเศรษฐกิจ" ไปจนถึง "เหตุผลแอบแฝง"

หลายฝ่ายคาดเดาว่าจริงๆ คือ แผนการพยายามเอา “เศรษฐกิจนอกระบบ” เข้ามาในระบบเพื่อเพิ่มฐานภาษี แต่รัฐบาลไม่พูดตรงๆ และยังรวมถึงการที่หลายฝ่ายคาดเดาว่า "ซุปเปอร์แอป" ที่รัฐบาลประกาศนั้นจะเป็นเครื่องมือช่วยรัฐบาลเก็บข้อมูลภาคธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ในทางนโยบายต่อไปอีก

ทั้งหมดวางอยู่บนความไม่ชัดเจน และก็ยากจะประเมินอะไรต่อไปก่อนที่ "ดิจิทัลวอลเลต" จะออกมาให้ใช้จริงๆ

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ หลายฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลพยายามจะเคลมว่า "เงินดิจิทัล" คือ กระแสโลก ประเทศไหนก็ทำทั้งนั้น ดังนั้น การที่ไทยทำบ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ต้องการคำอธิบายอะไรด้วยซ้ำ

การเคลมแบบนี้ "ผิด" แน่นอน แต่จะผิดอย่างไร ต้องว่ากันตอนประเด็นนี้เริ่มขึ้น

 


‘Bitcoin’ และ ‘บล็อคเชน’ การท้าทายอำนาจการเงินของรัฐ

 

เรื่องเริ่มตั้งแต่ปี 2017 ที่โลกเริ่มรู้จัก “คริปโตเคอเรนซี” ที่เรียกว่า Bitcoin ซึ่งก็คือ ระบบเงินที่วางอยู่บนการบันทึกข้อมูลในฐานะข้อมูลสาธารณะที่เรียกว่า "บล็อคเชน" ไอเดียก็คือ ถ้าเราสร้างฐานข้อมูลที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ เราก็จะสามารถสร้างฐานข้อมูลระบบการเงินได้ว่าใครมีเงินเท่าไร เพราะการที่ฐานข้อมูลไม่ถูกใครย้อนกลับไปแก้ไขได้ ก็แสดงว่าถ้าฐานข้อมูลเขียนว่าคุณมีเงินอยู่ 20 Bitcoin เงินก็จะเป็นของคุณ ใครมาแก้ไขโอนเงินนี้ไปให้คนอื่นไม่ได้ ระบบก็จะทำงานโดยคุณจะมี "รหัสลับ" ที่สามารถจะเคลื่อนเงิน 20 Bitcoin ได้แต่เพียงผู้เดียว

นี่เป็นการอธิบายสิ่งที่เรียกว่า "บล็อคเชน" อย่างลดทอนไปนิดหน่อย แต่หลักๆ แล้วการเกิด Bitcoin มันเป็น "การพิสูจน์แนวคิด" ว่า ถ้าเรามีระบบแบบนี้ เราก็สร้างระบบบัญชีเงิน และระบบการรับส่งเงินได้ โดยไม่ต้องการธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง หรือกระทั่งรัฐ และนี่คือจุดเริ่มต้องของสิ่งที่บรรดาคนซึ่งสนับสนุนคริปโตเคอเรนซีเรียกว่าการ "ปฏิวัติบล็อคเชน"

พูดง่ายๆ ไอเดียเรื่อง "บล็อคเชน" ถูกใช้เพื่อท้าทายอำนาจทางการเงินของรัฐ และหลังจาก Bitcoin ก็มีคริปโตเคอเรนซีเกิดขึ้นตามมามากมาย

ทีนี้ ก็มีคนเกิดไอเดียว่า ทำไมเราไม่ทำคริปโตเคอเรนซี่ที่มี "มูลค่าเท่ากับสกุลเงินของรัฐ" ออกมาใช้? ซึ่งมันก็จะมีกลไกต่างๆ ที่จะ "ตรึงมูลค่า" เงินเหล่านี้ให้เท่ากับสกุลเงินของรัฐ เช่น USDT, USDC ก็จะมีมูลค่าเท่ากับ USD หรือดอลลาร์สหรัฐ โดยศัพท์เทคนิคในโลกคริปโต จะเรียกสิ่งพวกนี้ว่า Stablecoin

บางคนอาจจะงงว่า ทำแบบนี้ "ไม่ผิดกฎหมาย" เหรอ คำตอบคือ ในมาตรฐานโลกตะวันตกถือว่าไม่ผิด เพราะมัน "ไม่มีกฎหมายห้ามไว้"

อย่างไรก็ดี พอ Stablecoin หรือเงินคริปโตที่มูลค่าเท่ากับเงินของรัฐพวกนี้เกิดมากขึ้นๆ ทางหน่วยงานกำกับดูแลการเงินของประเทศต่างๆ ก็เริ่มมองว่า เหมือนกับใครก็ "ออกเงินดิจิทัล" ของตัวเองได้ จนอาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน (อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าใครปั๊มเงินออกมาก็ได้ มันก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ) แต่ครั้นจะแบนก็ไม่ได้ เพราะพวกบริษัทที่ออก Stablecoin ก็พยายามจะทำตัว "ถูกกฎหมาย" เพิ่มความโปร่งใสและยืนยันว่ามีสินทรัพย์จริงๆ แบ็คอัพเมื่อจะออกเงินที่เป็นสินทรัพย์คู่ขนานบนบล็อคเชนจริง ดังนั้น จึงไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย รัฐก็ทำอะไรไม่ได้โดยเฉพาะกับพวกตัวใหญ่ๆ

แต่ในระยะยาวถ้ามีแบบนี้เยอะๆ อำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบของธนาคารกลางทั่วโลกโดนท้าทายแน่ๆ และนั่นจะส่งผลต่อหน้าที่หลักในการ "ควบคุมเงินเฟ้อ" ของธนาคารกลาง

ดังนั้น ธนาคารกลางเลยมีแผนส่ง "ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน" ของตัวเองมาสู้กับ Stablecoin และสิ่งนี้เรียกว่า CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency

 


‘ดิจิทัลยูโร’ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ของธนาคารกลางยุโรป

 

CBDC คือ ด้านกลับของคริปโต เพราะแม้ว่ามันจะเป็น "เงินดิจิทัล" แต่มันเป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางและคุมระบบทั้งหมดโดยธนาคารกลาง ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้ "บล็อคเชน" เพราะใช้ระบบบัญชีเงินปกติแบบธนาคารพาณิชย์ก็ได้ ซึ่งในแง่นี้ CBDC โดยพื้นฐานแล้วมันก็คือ บัญชีเงินที่ธนาคารกลางให้บุคคลทั่วไปเปิดนั่นแหละ

คำถามคือ แล้วจะไปเปิดทำไม? คำตอบเร็วๆ ที่คนไทยอาจไม่เข้าใจก็ได้ก็คือ ในประเทศส่วนใหญ่ในโลก เค้าไม่ได้มีระบบ PromptPay แบบไทย การโอนเงินข้ามธนาคารแม้แต่ในประเทศมีค่าธรรมเนียมเสมอ และในแง่นี้ระบบ CBDC ก็เลยจะทำให้การโอนเงินระหว่างบัญชี "ฟรี" ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ที่สะเทือนธุรกิจธนาคารและการโอนเงินระหว่างประเทศ

ถ้างง อยากให้คิดง่ายๆ ว่า สมมติคุณเป็นชาวยุโรป คุณไปเที่ยวอีกประเทศในสหภาพยุโรป ปัจจุบันคุณไม่มีวิธีจ่ายเงินแบบ "ไร้เงินสด" ที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ระบบ CBDC ของธนาคารกลางยุโรปนี่แหละที่จะทำให้คุณทำได้ เพราะคุณจะจ่ายเงินคุณก็แค่เปิดแอป "ดิจิทัลยูโร" แล้วโอนเงินให้ร้านค้าที่มีแอปเดียวกันก็จบ เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเป็นแรงงานข้ามชาติแอฟริกาที่มาทำงานยุโรป คุณจะส่งเงินกลับเข้าบัญชีธนาคารของญาติในแอฟริกา คุณต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมมากมาย แต่ถ้าคุณและญาติคุณมีแอป "ดิจิทัลยูโร" คุณก็แค่กดโอนเงิน ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่าง "บัญชีธนาคารเดียวกัน" (คือบัญชีธนาคารกลางยุโรป) ดังนั้น จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และในแง่นี้เลยทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศสะดวกขึ้นมากๆ

ทั้งหมดที่เล่ามา คือไอเดียของ "ดิจิทัลยูโร" ที่ประกาศว่าจะทำอย่างเป็นทางการแล้วในปลายปี 2023 โดยก่อนหน้านั้นวางแผนล่วงหน้ามา 2 ปีตั้งแต่ปี 2021 และจะใช้เวลาอีก 2 ปี ก่อนจะเปิดตัวจริงในปี 2025

 


รัฐบาลทำ "ดิจิทัลวอลเลต" เพื่อ?

 

ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ อยากให้สังเกตว่า ที่เล่าที่มาที่ไปของ CBDC และ "ดิจิทัลยูโร" มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ "พายุหมุนทางเศรษฐกิจ" ตามเจตนาของ "ดิจิทัลวอลเลต" ของไทยเลย โดยจริงๆ แล้วหน้าที่พื้นฐานของ CBDC (เว้นการโอนเงินระหว่างประเทศ) ระบบ PromptPay ของไทยก็ตอบโจทย์หมดแล้ว

ดังนั้น ถ้าเห็นระบบไทย หลายคนก็จะงงว่าจะทำ CBDC ไปทำไมกัน? และจะทำ "ดิจิทัลวอลเลต" ที่ฟังดูคล้ายๆ CBDC แต่เปลี่ยนจากทำโดยธนาคารกลางเป็นไปทำโดยรัฐบาลไปทำไมกัน?

ที่นี้เรามาต่อกันอีกหน่อย การออกระบบ "ดิจิทัลยูโร" ทางสหภาพยุโรปให้คำมั่นว่ามันจะเป็นระบบที่ "เหมือนเงินสด" คือ ผู้คุมระบบจะไม่รู้ว่าใครจ่ายเงินใครอะไรเท่าไร ความเป็นส่วนตัวทางการเงินจะเป็นแบบเดียวกับเงินสด ซึ่งตรงนี้ถึงเค้ายังไม่แจงชัดๆ ว่าจะทำยังไง แต่ไอเดีย คือ เค้าประกาศว่ามันไม่เหมือน "ดิจิทัลหยวน" ของรัฐบาลจีน ที่แน่นอนว่าไม่ยืนยันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อะไรทั้งนั้น

ต้องเข้าใจว่า นี่คือเรื่องใหญ่แบบใหญ่มากๆ ประชาชนในประเทศจำนวนมากมองว่า "เงินดิจิทัล" หรือ CBDC คือ เครื่องมือในการสอดส่องทางการเงินของรัฐ ที่ไม่ได้แค่จะทำให้ประชาชนโอนเงินไปมาข้ามประเทศแบบไม่เสียค่าธรรมเนียมได้เท่านั้น แต่มันให้อำนาจรัฐตรงๆ ในการ "สอดส่องทางการเงิน" หรือกระทั่ง "ปิดบัญชี" ไปดื้อๆ ซึ่งลองนึกภาพประเทศที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้อำนาจเผด็จการ อำนาจนี้คือ การใช้อำนาจในการปิดบัญชีระดมทุนประท้วงรัฐบาล หรือกระทั่งปิดบัญชีส่วนบุคคลพวกแกนนำการต่อต้านรัฐก็ได้

ต้องเน้นว่า "ความสงสัย" นี้เกิดขึ้นในบริบทที่ "ในทางหลักการ" รัฐบาลนั้นไม่มีอำนาจเหนือธนาคารกลางนะครับ หลักทั่วไปของธนาคารกลางเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้อยู่ใต้รัฐบาล แต่คนในหลายๆ ประเทศก็ยังไม่เชื่อใน "ความอิสระ" ของธนาคารกลางของตัวเอง

นี่เป็นเหตุผลที่สหรัฐอเมริกายังไม่มีโครงการ CBDC เพราะอย่างน้อยๆ นักการเมืองฝั่งรีพับลิกันจำนวนมากก็มองว่ามันเป็นการเพิ่มอำนาจและเปิดโอกาสให้รัฐ "ใช้อำนาจเผด็จการ" อย่างที่ว่าได้ และจริงๆ ก็มีการพยายามจะออกกฎหมายเพื่อยืนยันว่ารัฐบาลกลางสหรัฐจะไม่มีการออก CBDC ด้วยซ้ำ

ทั้งหมด คือ บทสนทนาของชาวโลกต่อ CBDC ที่เป็นคนละโลกกับบทสนทนาของชาวไทยที่ยังคุยกันอยู่ว่าเงินใน "ดิจิทัลวอลเลต" นั้นสามารถไปซื้อสินค้าใน 7-Eleven ว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่? เพราะในไทย บทสนทนาที่เป็นแกนกลางหลักของ "ความเหมาะสม" ของ CBDC เรื่อง "ความเป็นส่วนตัวทางการเงิน" มันไม่อยู่ในสารบบในการพูดคุยเรื่อง "ดิจิทัลวอลเลต" ด้วยซ้ำ

นี่ทำให้ภาพเหมือนราวกับว่า คนไทยรับไม่ได้เรื่องเงินให้เปล่าของรัฐบาลซึ่งจะสามารถเอาไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อของเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ มากกว่าประเด็นว่า "รัฐบาล" แทนที่จะเป็น "ธนาคารกลาง" กำลังพัฒนาระบบการเงินที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุม

เพราะแค่นี้คนในหลายชาติก็สยองแล้ว เพราะนั่นเป็นการ "ไว้ใจ" ให้อำนาจรัฐบาลมากเกินปกติไปมาก

ทั้งหมดนี้ราวกับว่า คนไทยความจำสั้นว่าการ "ยึดอำนาจ" ในประเทศนี้เกิดบ่อยแค่ไหน และไม่สยองเลยหากว่าวันหนึ่งเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจ รัฐบาลทหารใช้อำนาจในการสอดส่องและควบคุมทางการเงินผ่านระบบที่รัฐบาลก่อนหน้าตั้งขึ้นมา มันจะเกิดอะไรขึ้น

หรือไม่ต้องไปถึงขนาดนั้นก็ได้ เอาแค่เร็วๆ นี้ประเด็นเรื่องข้อมูลหลุดสารพัดที่โยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดูเหมือนไม่สอนอะไรคนไทยเลย เพราะไปๆ มาๆ การให้รัฐทำ "ซุปเปอร์แอป" ทางการเงินเอง มันอาจทำให้ประชาชนโดน "แฮกเงิน" ง่ายดายขึ้นอย่างมหาศาลก็ได้ โดยคนทำก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองที่มีอำนาจในการเข้าถึงเงินในบัญชีของประชาชน


อ้างอิง
Euroviews. European CBDC plans reveal diverse worldviews and peculiar bedfello
CBDC/digital euro: more than a token impact on banking profits
ECB starts preparation for digital euro in multi-year project
EU unveils plans for digital euro, promising complete privacy
Digital euro
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน