ทุกวันนี้ มีคนจำนวนมากอยู่ในภาวะ "เหงา" หรือ “อ้างว้างโดดเดี่ยว” แม้จะรายรอบไปด้วยผู้คนมากมาย แต่กลับรู้สึกเหงา โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่แออัด ยิ่งมีแนวโน้มการเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น
นักวิจัยพยายามหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดความรู้สึกเหงาของผู้คนจึงเพิ่มสูงขึ้น และพบหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอาจเกิดจาก ‘ความเป็นเมือง’ ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จนกระทั่งตอนนี้ นักวิจัยยังรู้น้อยมากเกี่ยวกับชีวิตในเมืองที่ส่งผลต่อความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวของผู้คน
ปัจจุบัน ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมือง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี คาดว่าในปี 2050 ร้อยละ 66 ของประชากรจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง
ในสหราชอาณาจักร ผู้คนในเขตเมืองเกือบร้อยละ 45 มีความรู้สึกเหงา และร้อยละ 5 รู้สึกว่าตัวเองเหงาหนักมาก ความรู้สึกลักษณะนี้เพิ่มสูงขึ้นนับแต่การระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดความกังวลว่า หากไม่ทำอะไรเลยภายในปี 2030 ความเหงาจะลุกลามใหญ่โตไปมากกว่านี้
นิยามของ 'ความเหงา' หรือ ‘ความอ้างว้าง’ หมายถึง ความรู้สึกเศร้าซึมจากการไม่ลงรอยกันของความต้องการส่วนตัวกับการปฏิสัมพันธ์กับสังคมจริง ซึ่งส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจหลายประการ ทั้งอาการซึมเศร้า วิตกกังวล การติดแอลกอฮอล์ ภาวะความจำเสื่อม และการเกิดโรคหัวใจ
ในขณะที่มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ร้อยละ 6 ภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยงร้อยละ 23 และการดื่มแอลกอฮอล์จัดเพิ่มความเสี่ยงร้อยละ 37 แต่ความเหงาสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตได้สูงถึงร้อยละ 45
ในการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการอาศัยอยู่ในเมืองและความรู้สึกเหงาผ่านแอพในสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ โดยแอปพลิเคชันจะคอยป้อนคำถามแบบสุ่มส่งให้กับผู้ใช้งานตอบคำถามถึงความรู้สึกขณะนั้น รวมถึงให้ระบุถึงสถานที่ที่ผู้ใช้งานแอพอาศัยอยู่มีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร จากการประเมินผู้ใช้งานแอพ 16,602 คน มีผู้ตอบคำถามครบสมบูรณ์ 756 คน โดยร้อยละ 50 ของผู้ตอบอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร และหลายประเทศในยุโรป รวมถึงในสหรัฐและออสเตรเลีย
ผลจากการสำรวจพบว่า การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกับคนทุกช่วงอายุ เพศ เชื้อชาติ ระดับการศึกษา และอาชีพ
ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ทางสังคมมีส่วนช่วยลดความรู้สึกเหงา หรือโดดเดี่ยวลงได้ จากการสำรวจพบว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีคุณภาพ สามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้คนลงได้ถึงร้อยละ 21 ซึ่งเป็นการย้ำว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงคุณภาพนั้นสำคัญกว่าความสัมพันธ์ในเชิงปริมาณ
สิ่งค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ร้อยละ 28 ของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว จะมีความรู้สึกเหงาน้อยลง เช่น เมืองที่มีต้นไม้ พืชพรรณ และสัตว์ เช่น นกชนิดต่างๆ
ความเหงานั้นเป็นสากล เกิดขึ้นได้กับคนทุกชาติทุกภาษา แต่การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองที่รายรอบด้วยผู้คน แต่การมีสังคมที่มีความหมาย และการมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาลงได้
หากการได้สัมผัสกับธรรมชาติทำให้ความโดดเดี่ยวเบาบางลง การปรับปรุงพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะและแม่น้ำเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นให้สวยงาม เข้าถึงง่าย ปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาจช่วยให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนๆ ที่ชี้ว่า ธรรมชาตินั้นส่งผลดีต่อสุขภาพทางจิตของเรา
ที่มา
People feel lonelier in crowded cities – but green spaces can help
The Healing Power of Green Spaces: Combating Loneliness, Loss, and Isolation