Skip to main content

“ข้าว” เป็นพืชอาหารที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 20 ได้รับพลังงานจากการทานข้าวเป็นอาหารหลัก แต่จุดอ่อนของข้าว คือ มีโปรตีนน้อย เราจึงต้องรับโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว

ขณะที่การเลี้ยงและฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร นอกจากมีต้นทุนแพง ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งหาแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีความยั่งยืนกว่า

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้คิดค้นข้าวผสมเซลล์เนื้อวัว ที่อาจเปลี่ยนแปลงอนาคตของการบริโภคโปรตีน โดยที่ข้าวชนิดใหม่นี้มีราคาไม่แพง และช่วยเพิ่มปริมาณโปรตีนได้มากถึงร้อยละ 8 โดยไม่ต้องพึ่งพาการทำฟาร์มปศุสัตว์เลย

Beef rice หรือ เนื้อวัวในข้าว ใช้เทคนิคการนำเซลล์เนื้อวัวที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ต้นกำเนิดในห้องทดลอง มาผสมเข้ากับเมล็ดข้าว โดยนำเซลล์เนื้อวัวไปเพาะภายในเมล็ดข้าว เพื่อทำให้ได้ข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น

ทีมวิจัยพบว่า เมื่อนำไปหุงแล้ว ข้าวชนิดใหม่นี้มีโปรตีนสูงขึ้นร้อยละ 8 และมีไขมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับข้าวทั่วไป เนื้อสัมผัสของข้าวผสมเนื้อวัวค่อนข้างแข็งและเปราะกว่าข้าวปกติ และมีกลิ่นคล้ายเนื้อสัตว์เล็กน้อย

ฮอง จินกี หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า ข้าวที่คิดค้นขึ้นนี้มีรสชาติที่แปลกใหม่และน่ารับประทาน  

"เราทดลองทานกับเครื่องเคียงต่าง ๆ และพบว่าเข้ากันได้ดีกับหลากหลายเมนู"

ส่วน พาร์ค โซฮยอน หัวหน้าทีมวิจัย วิศวกรชีวโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยยอนเซ กล่าวว่า

"คาดไม่ถึงว่าเซลล์เนื้อวัวจะเจริญเติบโตได้ดีในเมล็ดข้าว ตอนนี้ ฉันเห็นโลกแห่งความเป็นไปได้มากมายสำหรับอาหารผสมจากพืชชนิดนี้ ข้าวเนื้อวัว อาจกลายเป็นอาหารบรรเทาความอดอยาก เป็นเสบียงสำหรับทหาร หรือแม้แต่เป็นอาหารบนอวกาศในอนาคต"

พาร์ค กล่าวว่า "ลองนึกภาพว่าเราได้รับสารอาหารที่จำเป็นทั้งหมดจากข้าวผสมโปรตีนที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ ข้าวเองก็มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอยู่แล้ว แต่การเติมเซลล์จากสัตว์ลงไป ยิ่งช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ดียิ่งขึ้น"

นักวิจัยกล่าวว่า กระบวนการผลิตข้าวเนื้อวัวนี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 6.27 กิโลกรัมต่อโปรตีน 100 กรัม ในขณะที่การผลิตเนื้อวัวแบบเดิม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 49.89 กิโลกรัมต่อโปรตีน 100 กรัม

ทีมวิจัยวางแผนที่จะพัฒนาข้าวเนื้อวัวต่อไป เพื่อหาวิธีในการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับข้าวชนิดนี้  และพร้อมที่จะค้นหาประโยชน์อื่นๆ ของข้าวเนื้อวัว นอกเหนือจากการเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับมนุษย์ โดยคาดว่า จะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดการพึ่งพาเนื้อสัตว์จากรูปแบบเดิม แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคยอมรับและบริโภคข้าวชนิดใหม่นี้หรือไม่

ทีมวิจัยคาดการณ์ว่า หากผลิตข้าวเนื้อวัวจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ จะสามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ 2.23 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม หรือราว 80 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นราคาที่ย่อมเยาว์เมื่อเทียบกับคุณค่าทางโภชนาการที่เพิ่มขึ้น

 

ที่มา 
Korean scientists grow beef inside of rice