องอาจ เดชา
'ชุมชนบ้านนาเลา' เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 'ลีซู' ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านหลังของดอยหลวงเชียงดาวมาเนิ่นนาน เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ปัจจุบันต้องตั้งรับปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของมิติการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม หลังจากยูเนสโก ประกาศให้ดอยเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก
ประวัติศาสตร์เส้นทางของชาติพันธุ์ลีซู
เมื่อพูดถึงความเป็นชาติพันธุ์ในประเทศไทย ลีซู (Lisu) ถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีเสน่ห์ มีสีสัน ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และการแต่งกาย ที่น่าสนใจมากอีกชนเผ่าหนึ่ง ชนเผ่าลีซู เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต-พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ทางตอนเหนือหุบเขาสาละวิน ในเขตมณฑลยูนนาน และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า
ชนเผ่าลีซูส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเมื่อ 4,000 ปี ที่ผ่านมา พวกเขาเคยมีอาณาจักรเป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติ ต่อมาชนเผ่าลีซู จึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้ กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน
หลังจากนั้นได้อพยพลงมาทางใต้ เนื่องจากเกิดการสู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกันไป เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรก มีเพียง 4 ครอบครัว ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวลีซู ถึงเรื่องราวการอพยพว่า ได้อพยพมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ ของเมืองเชียงตุงประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านลีซูห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย และต่อมาได้โยกย้ายไปตั้งบ้านเรือน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่และสุโขทัย
ลีซูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ลีซูลาย กับลีซูดำ ชาวลีซูที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำนั้นจะอยู่ในประเทศพม่าและจีน
เมื่อพูดถึงเรื่อง ภาษาของลีซู ลีซอ อยู่กลุ่มเดียวกับ ลาหู่และอาข่า เรียกว่าโลโล กลุ่มโลโลมีความสัมพันธ์กับภาษาพม่า มีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ แต่ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับ ลีซูอที่นับถือศาสนาคริสต์ เป็นคริสเตียน ได้มีการใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่า และได้การใช้สืบทอดต่อๆ กันมา
ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ชนเผ่าลีซู ก็เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ไปตามดงดอยต่างๆ กระจายไปอยู่ในพื้นที่ครบทุกตำบลในเชียงดาว เช่น บ้านรินหลวง หนองแขม ป่าบงงาม ห้วยจะค่าน ห้วยน้ำริน ห้วยต้นโชค ห้วยโก๋ ห้วยน้ำฮาก บ้านน้ำรู ป่าเกี๊ยะ ฟ้าสวย นาเลา เป็นต้น
'อะลูมิ' ชาวลีซูรุ่นใหม่ กับธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน
'อะลูมิ' เป็นลูกคนเดียวของครอบครัว 'เลายี่ปา' ที่มีโอกาสลงไปเรียนหนังสือจนจบชั้นปริญญาตรี และถือว่าเป็นลีซูคนแรกของหมู่บ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ที่เรียนจบถึงปริญญาตรีได้ พอเรียนจบแล้ว อะลูมิก็ตัดสินใจนำความรู้กลับมายังบ้านดอย
หากใครเดินทางไปเที่ยวเชียงดาว บนเส้นทางภูเขา เชียงดาว-เมืองคอง แล้วแวะไปเยือนหมู่บ้านนาเลาใหม่ เดินไปยังจุดชมวิว “บ้านพัก เฮือนสุข” จะพบโฮมสเตย์เล็กๆ ของ “อะลูมิ เลายี่ปา” เธอแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าสีสันสวยสดงดงามคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว บางครั้งยืนขายสินค้าชนเผ่า บางครั้งก็สาละวนก่อไฟ ตั้งกา ต้มน้ำร้อน เตรียมชงชา กาแฟให้กับลูกค้า ที่มานั่งชมวิวดอยหลวงเชียงดาว
“อะลูมิ เลายี่ปา” เป็นลูกสาวของภูเขา เพราะลืมตาออกมาดูโลก ก็มองเห็นดอยหลวงเชียงดาว ตั้งตระหง่านเด่นชัด โอบกอดเธอไว้ทุกคืนและวัน
อะลูมิ ตัดสินใจร่วมกับพี่สาวและน้องสาว ปรับลานหน้าบ้าน ให้เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และจุดชมวิว เพื่อดึงดูดลูกค้า-นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมทิวทัศน์ความงามของดอยหลวงเชียงดาว โดยก่อนหน้านั้น เธอมีโอกาสเรียนต่อในตัวอำเภอเชียงดาวจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และตัดสินใจไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยว
“ครั้งแรกที่ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาการท่องเที่ยว ก็ไม่คิดอะไรมาก รู้แต่ว่าชอบเที่ยว ชอบเดินทาง แต่เริ่มคิด และถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็คือ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีสอง ปีสาม พอกลับมาบ้านบนดอยในช่วงปิดเทอม ตอนนั้นพี่สาวกับพี่เขยเริ่มทำที่พักโฮมสเตย์ชื่อ “ระเบียงดาว” ที่บ้านนาเลาใหม่ ก็ได้อยู่ช่วยงานโฮมสเตย์ แล้วรับจ้างเป็นคนนำทาง พานักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว ก็จะมีรายได้ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ตามแต่ละทริป ก็ได้เงินมาเป็นค่าเทอม ส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี ในปี 2458” อะลูมิบอก
อะลูมิ เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวเลายี่ปาที่มีโอกาสลงไปเรียนหนังสือจนจบชั้นปริญญาตรี และถือว่าเป็นลีซูคนแรกของหมู่บ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ที่เรียนจบถึงปริญญาตรีได้ พอเรียนจบแล้ว อะลูมิก็ตัดสินใจนำความรู้กลับมายังบ้านดอย
“พอเรียนจบกลับมา ก็ช่วยพี่สาวขายกาแฟ ที่ระเบียงดาว ก็สนุกดี ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอลูกค้านักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาทุกวัน”
ตอนนั้น อะลูมิ เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงตัดสินใจทำโฮมสเตย์ของตัวเอง ตั้งอยู่ภายในบริเวณระเบียงดาว โฮมสเตย์ ของพี่สาว ทำให้เธอมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักตลอดช่วงฤดูหนาว และนั่นทำให้เธอรู้ว่า สิ่งที่เธอได้ตัดสินใจลงจากดอยไปเรียนหนังสือ และเลือกเรียนชั้นปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยว นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างน้อยเธอสามารถนำเอาความรู้นี้มาปรับใช้กับการท่องเที่ยวในชุมชนลีซูแห่งนี้ได้
ที่น่าสนใจ ก็คือ อะลูมิ พยายามเรียนรู้และปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ในยุคโควิดแบบนี้ จึงได้ชวนพี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันทำ ‘น้ำพริกลีซูนรก’ ขายให้กับลูกค้าทางออนไลน์ สร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง
สิ่งที่เธอได้ตัดสินใจลงจากดอยไปเรียนหนังสือ และเลือกเรียนชั้นปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยว นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างน้อยเธอสามารถนำเอาความรู้นี้มาปรับใช้กับการท่องเที่ยวในชุมชนลีซูแห่งนี้ได้
“เราใช้ล่าจวึ๊...เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของลีซูดั้งเดิม จะมีเมล็ดอวบอ้วน รสชาติเผ็ดไม่ธรรมดา ชาวบ้านจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามไร่ตามสันดอย เราเอามาทำ ‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ต่อมา เราทำน้ำพริกให้ลูกค้านักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักโฮมสเตย์ ‘บ้านพักเฮือนสุข’ ของเรา แล้วลูกค้าชอบ ติดใจในรสชาติน้ำพริกนรก จึงขอสั่งซื้อนำกลับไปทานต่อที่บ้าน หลังจากนั้น ก็จะมีลูกค้าประจำกลุ่มนี้ สั่งซื้อจากเราเป็นประจำทางออนไลน์ เราก็แพ็คใส่กระปุก จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ”
อะลูมิ บอกว่าภูมิปัญญาชนเผ่า คือความมั่นคงทางอาหาร วิถีชนเผ่าลีซู นั้นจะมีการปลูกข้าวไร่ ไว้กินปีต่อปีอยู่แล้ว
“พันธุ์ข้าวไร่ของชนเผ่าลีซูมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ที่ยังมีปลูกอยู่ คือ ‘หย้า ด่า แหล๊ะ’ หรือข้าวพันธุ์ลาย ‘หย้า ด่า มา’ หรือข้าวเม็ดใหญ่ ‘หย้า บี้ ฉวิ’ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวเมล็ดสีเขียว”
ภายในไร่ข้าว หรือในสวนใกล้ๆ บ้าน ก็จะปลูกพืชผักต่างๆ แซมไว้ ไม่ว่าจะเป็น พริก แตงกวา แตงเปรี้ยว ผักกาด ถั่วดำ ถั่วแดง ฟักทอง ฟักเขียว เต็มไปหมด
“ที่เด่นๆ ของลีซู ก็คืออุพิ ผักกาดดอยรสชาติขมๆ แต่อร่อยมาก นอกจากเราจะเก็บกันสดๆ มาทำอาหารแล้ว พี่น้องลีซูจะเอามาแปรรูปโดยเอาไปตากแห้ง แล้วเก็บใส่ถุงมัดไว้ พอถึงเวลาก็เอามาทำกับข้าว เราก็เอามาแช่น้ำแป๊บหนึ่ง แล้วก็เอาไปผัดหรือแกงใส่หมู ไก่ ก็อร่อยเลย...อีกอันหนึ่งก็คือ ‘อะ ปวู แกว๊ะ’ หรือ แตงเปรี้ยว ลูกใหญ่ๆ เนื้อเยอะ รสชาติออกเปรี้ยวๆ หน่อย แต่ทำอาหารได้อร่อยมาก”
นอกจากจะมีข้าว พืชผักในไร่แล้ว ชนเผ่าลีซูยังมีสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ เอาไว้ทำอาหารอีกด้วย
“ในช่วงปีใหม่ลีซู ชาวบ้านเขาจะฆ่าหมู เอามาเลี้ยงดูญาติๆ ได้ทานด้วยกันแล้ว สิ่งหนึ่งที่พี่น้องลีซูจะต้องทำ คือการนำหนังหมู เนื้อติดมัน มาเทลงในกระทะที่ตั้งไฟร้อนๆ จากนั้นทำการเคี่ยวเอาน้ำมันหมู จากนั้นรอให้เย็น ชาวบ้านจะเทลงไปในไห แล้วปิดฝาเก็บไว้ แบบนี้ เราก็สามารถมีน้ำมันหมูไว้ทำอาหารได้ตลอดทั้งปีกันเลยทีเดียว”
ความฝันของอะลูมิ อยากให้ชุมชนเป็น ‘หมู่บ้านท่องเที่ยวแบบยั่งยืน’
อะลูมิ บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีความหวัง มีความฝันร่วมกันว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้ชุมชนของเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ที่ผ่านมา หลังจากเกิดปัญหาเรื่องโควิด-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อคดาวน์ อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับชาวบ้าน เรื่องการทำโฮมสเตย์ เริ่มผ่อนคลายลง ทำให้โฮมสเตย์ชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่ ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
อะลูมิ บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีความหวัง มีความฝันร่วมกันว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้ชุมชนของเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะที่ผ่าน เราเจอกับวิกฤติปัญหามากมาย ทั้งปัญหาภายในชุมชนเอง และปัญหาจากคนภายนอก จากภาครัฐด้วย
“มาถึงตรงนี้ เรามีกติกาชุมชนแล้ว ก็อยากให้พี่น้องชนเผ่าลีซูร่วมกันคิดเรื่องการท่องเที่ยวว่าทำอย่างไรให้มีความยั่งยืนจริงๆ ซึ่งในส่วนตัว อยากจะทำปฏิทินการท่องเที่ยวในชุมชนตลอดทั้งปี ว่าในแต่ละเดือน ชุมชนเรามีประเพณีวัฒนธรรมดีๆ อะไรบ้าง ที่จะนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมกันตลอดทั้งปี”
ถ้าไล่เรียงวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าลีซูในรอบปี นั้นถือว่าน่าสนใจในหลายๆ ด้านเลยทีเดียว นับจากงานปลูกข้าวไร่ ช่วงต้นฤดูฝน เกี่ยวข้าวไร่ ในช่วงปลายปี งานทำบุญถวายพืชผลแรก ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีปีใหม่ลีซู งานปีใหม่น้อย งานทำบุญบรรพบุรุษ รวมไปถึงการรื้อฟื้นเรื่องการแต่งกายประจำเผ่า การแสดงดนตรีประจำเผ่า กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนนำมากระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้เป็นอย่างดี
อะลูมิ ยังบอกอีกว่า เรามีความฝันกันว่าอยากจะให้มี ‘ตลาดชุมชนคนลีซู’ โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องลีซูทั้งหย่อมบ้านฟ้าสวย นาเลาเก่า นาเลาใหม่ นำผลผลิตการเกษตร พืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งทุกคนปลูกไว้กินในไร่กันอยู่แล้ว อย่างเช่น ข้าวไร่ข้าวดอย พริก ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา น้ำพริก รวมไปถึงเสื้อผ้า ถุงย่าม เครื่องดนตรีชนเผ่า ของดีๆ เหล่านี้เรามีอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาวางขายในตลาดชุมชนของเราได้
อะลูมิ บอกว่า พอรู้ข่าวบ้างว่า ‘ดอยหลวงเชียงดาว’ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘พื้นที่สงวนชีวมณฑล’ แห่งใหม่ของโลก ก็รู้สึกดีใจ และรู้สึกว่าเป็นสิ่งดี ถ้าจะมาช่วยหนุนเสริมให้ชาวบ้าน ได้มีการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยว ให้คนในชุมชนสร้างรายได้ ก็พร้อมจะสนับสนุน
“เพราะตอนนี้หมู่บ้านเราก็มีมติชุมชนกันอยู่แล้ว ว่าจะหักเงินจากค่าที่พักส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนช่วยกิจกรรม รวมไปถึงเรื่องการจัดการไฟป่า แต่ตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องพื้นที่สงวนชีวมณฑลเลย เพราะฉะนั้น อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาให้ความรู้แก่ชาวบ้านก่อนเป็นลำดับแรก จะดีมากๆ เลย”
ความเป็นชาติพันธุ์ลีซู อัตลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ
อะลูมิ พูดถึงอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าลีซู ว่า รู้สึกภูมิใจมาก ถึงแม้ว่าในวัยเด็ก เวลาลงดอยไปข้างล่าง ไปในตัวเมือง มักจะถูกล้อ ว่าเราเป็นคนป่า คนดอย ทำให้รู้สึกอาย เพราะถูกคนเขามองแบบนั้น
“แต่พอเราโตขึ้นมา ไม่รู้สึกอายแล้ว รู้สึกภาคภูมิใจมากๆ ตอนนี้ เวลาไปไหน จะใส่ชุดลีซูไปทุกๆที่เลย ไปเชียงใหม่ เดินทางนั่งรถ นั่งเครื่องบิน ไปกรุงเทพฯ ไปเที่ยวทะเล ภาคใต้ ก็ใส่ชุดลีซูให้คนเขามองไปเลย ทุกคนเริ่มสนใจ ก็แปลกดี”
เธอบอกอีกว่า รู้สึกดี และคิดถูกแล้ว ที่ชีวิตหวนคืนกลับมาบ้านเกิดบนดอยแห่งนี้
“ถึงแม้ว่าบนดอย ยังไม่มีไฟฟ้า แต่เรามีข้าวกิน เพราะพี่น้องลีซูทุกครอบครัวจะต้องทำไร่ข้าว ปลูกข้าวไร่ไว้กิน ต้องขอบคุณบรรพบุรุษของชนเผ่าลีซู ที่คอยสั่งสอนพวกเราเอาไว้ว่า...ชีวิตไม่มีอะไร ก็ขอให้มีข้าว ถ้ามีข้าว เราก็ไม่ตาย ส่วนพืชผักเราหาได้ง่ายๆ ตามไร่ตามดอย”
หากใครสนใจอยากชิมรสชาติ “น้ำพริกลีซูนรก” หรืออยากไปเยือนโฮมสเตย์“บ้านพักเฮือนสุข” ของเธอ สามารถติดต่อได้ที่เพจ บ้านฮัก เฮือนสุข Baanhug Hueansook
ข้อมูลอ้างอิง
1. ยูเนสโกประกาศ "ดอยเชียงดาว" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของไทย,ข่าวไทยพีบีเอส, 16 กันยายน 2564
2. หนังสือสารคดีชาติพันธุ์ “เด็กชายกับนกเงือก...ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง”,ภู เชียงดาว,สำนักพิมพ์วิถีชน,มกราคม 2547
3 .ลีซู นาเลา ผู้เฒ่าแห่งความสุข กับลูกสาวของภูเขา,ภู เชียงดาว, นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 442 ประจำเดือนมกราคม 2565
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความร่วมมือกับเว็บไซต์ ทุนท้องถิ่น ภายใต้ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวภูมิภาคในการสื่อสารนวัตกรรมและเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนโดย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)