Skip to main content

สังคมไทยยึดถือหรือใช้ฐานอะไรในการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการ? ดร.ธร ปีติดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามค้นหาคำตอบร่วมกับทีมวิจัย โดยพบว่า มีแนวคิดและอุดมการณ์ที่ส่งผลสำคัญกับระบบสวัสดิการไทยอยู่ 7 เรื่อง ในลักษณะเรื่องเล่าที่ผลิตซ้ำกันต่อมา ซึ่งไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการของไทย


ฐานคิดที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการสวัสดิการของไทย

 

คำถามหลักของงานวิจัย คือ แนวคิดและอุดมการณ์ใดที่มีอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการระบบรัฐสวัสดิการของไทย? และมีอิทธิพลอย่างไร?

ดร.ธร กล่าวว่า มีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสวัสดิการไทยอยู่ 3 แง่มุม ได้แก่ รัฐ, ชุมชนและครอบครัว และความเหลื่อมล้ำ โดยทั้งสามส่วนมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับระบบรัฐสวัสดิการของไทย

ดร.ธร กล่าวว่า เมื่อพูดถึงงานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทแนวคิดอุดมการณ์รัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาของไทยหรือต่างประเทศ จะพบว่ามีอยู่น้อยชิ้นมาก ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่สังคมอุตสาหกรรมได้สร้างช่องว่างอะไรที่ทำให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการ ตัวอย่างในสังคมไทย เป็นการศึกษาถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจว่าเกี่ยวโยงกับการเกิดขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการอย่างไร หรือการที่มีการลงทุนในมนุษย์มากขึ้น นำมาสู่ความสนใจเรื่องระบบรัฐสวัสดิการได้มากขึ้นแค่ไหน

ในบริบทของสังคมตะวันตก จะพูดถึงประเด็นสิทธิทางสังคม เช่น ระบบรัฐสวัสดิการในอังกฤษ แต่ในบริบทของไทย ดร.ธร ระบุว่า “เราจะหาเส้นทางของแนวคิดเรื่องสิทธิทางสังคมจากไหน เนื่องจากยังไม่มี เพราะฉะนั้น จึงต้องถอยมามองแนวคิดบางอย่างที่พื้นฐานกว่านั้น”


เรื่องเล่าที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบรัฐสวัสดิการของฝั่งตะวันตก

 

ดร.ธร กล่าวว่า มีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก “คนรับสวัสดิการ คือ คนขี้เกียจ” เป็นเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอในสังคม เรื่องที่สอง “คนที่รับสวัสดิการ คือ คนที่เอาเปรียบคนอื่น” และเรื่องที่สาม คือ “การใช้จ่ายไปกับรัฐสวัสดิการเป็นสาเหตุทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุล”

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ถูกเล่าและผลิตซ้ำอยู่เสมอในระบบรัฐสวัสดิการตะวันตก และนำมาสู่การพูดคุยเกี่ยวกับความชอบธรรม/ไม่ชอบธรรม การควร/ไม่ควรกับการที่รัฐใช้จ่ายเงินไปกับรัฐสวัสดิการ จะเห็นว่าในระบบตะวันตก เส้นแบ่งของเรื่องคุณค่าเป็นเรื่องที่ว่า ใครควรหรือไม่ควรจะได้สวัสดิการ


การศึกษาระบบรัฐสวัสดิการของไทย

 

ดร.ธร หยิบเรื่องเล่าหรือแนวคิดที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการของไทยใน 3 แง่มุม

แง่มุมแรก คือ คุณค่าที่โยงกับความชอบธรรมของอำนาจรัฐ, แง่มุมที่สอง คือ คุณค่าที่โยงกับบทบาทที่รัฐอาจจะมีในด้านสวัสดิการ แง่มุมที่สาม คือ คุณค่าที่อยู่โยงกับการทำหน้าที่ของชุมชนและครอบครัวในเรื่องสวัสดิการ และคุณค่าที่สัมพันธ์กับการให้/ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ดร.ธร ยกงานเขียนของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ขึ้นมาอภิปราย โดย อ.นิธิเขียนเรื่องการสร้างความเสมอภาคในสังคมไทยกรณีหนึ่งว่า มีองค์กรระหว่างประเทศนำผ้าห่มมาให้ผู้นำชุมชนคนหนึ่ง เพื่อเอาไปแจกให้ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนไปถามอาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ว่าจะแจกผ้าห่มยังไงดี อาจารย์อคินตอบว่า ถ้าจะแจกอย่างเป็นธรรม ต้องแจกให้กับคนจนก่อน เมื่อผู้นำชุมชนนำผ้าห่มไปแจกให้คนจน ปรากฏว่าถูกลูกน้องตำหนิว่า การเอาผ้าห่มไปแจกคนจนโดยตรง เป็นการไม่เห็นหัวพวกเขา เรื่องเล่านี้ เป็นความพยายามของ อ.นิธิ ที่สะท้อนว่า การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค มักจะไม่ไปด้วยกันกับระบบอุปถัมภ์

“ระบบอุปถัมภ์ คือ ผู้นำชุมชนต้องเอาผ้าห่มทั้งหมดกระจายผ่านลูกน้องของตัวเอง ซึ่งจะได้เครดิตของการอุปถัมภ์ลูกน้อง และลูกน้องก็เอาผ้าห่มไปให้กับคนที่เขาต้องการอุปถัมภ์ ความสำคัญของการเป็นคนอุปถัมภ์จะยังเป็นแบบนี้ แต่ถ้าผู้นำชุมชนแจกให้คนจนโดยที่ไม่สนใจเครือข่ายของตัวเอง จะทำให้ความสำคัญของระบบอุปถัมภ์ถูกตัดออกไป ซึ่งอาจจะดีก็ได้เพื่อเป้าหมายความเสมอภาค แต่อีกด้านหนึ่ง โดยตรรกะของระบบอุปถัมภ์ ถ้าทำอย่างนั้นก็จะถูกคนในระบบนี้โกรธ” ดร.ธรกล่าว

 

แนวคิดและอุดมการณ์ที่ส่งผลสำคัญกับระบบสวัสดิการไทย

 

ในการนำเสนองานวิจัย ดร.ธร พบว่ามีด้วยกันทั้งหมด 7 เรื่อง 3 แง่มุม ได้แก่ 
 

(1) ผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม ในโครงสร้างรัฐแบบลำดับขั้น (รัฐ)
(2) รัฐอุปถัมภ์-เอื้ออาทร (รัฐ)
(3) ชุมชนหมู่บ้านในฐานะอุดมคติที่ดีของคนชนบทไทย (ชุมชนและครอบครัว)
(4) ครอบครัวและความกตัญญู (ชุมชนและครอบครัว)
(5) ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปรกติธรรมชาติ (ความเหลื่อมล้ำ)
(6) คนชนบทที่ยากจนกับการตกอยู่ในวัฒนธรรมโง่ จน เจ็บ (ความเหลื่อมล้ำ)
(7) ความสำเร็จของชนชั้นกลางกับศีลธรรมแบบเสื่อผืน-หมอนใบ (ความเหลื่อมล้ำ)

"ถ้าผู้นำขาดศีลธรรม สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย มันเป็นคติที่โยงกับการปกครองของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วก็ยังวนเวียนอยู่ในเรื่องที่เราได้ยินอยู่เสมอ"

ดร.ธรกล่าวว่า ตามคำอธิบายของ อ.นิธิ รัฐ คืออำนาจอุปถัมภ์ที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย แนวคิดสำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับการปกครองของรัฐไทย คือ แนวคิดเรื่องผู้ปกครองมีคุณธรรม เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดซ้ำๆ ว่าคนที่ขึ้นมามีอำนาจรัฐ ต้องมี “คุณธรรม-ศีลธรรม” และต้องเป็น “คนดี” หรือต้อง “มีบุญบารมี” ซึ่งโยงอยู่กับความชอบธรรมของอำนาจรัฐเสมอ “ผู้นำมีบุญบาร มีศีลธรรม บ้านเมืองจะสงบสุข สังคมจะจะเจริญรุ่งเรืองได้”

“ถ้าผู้นำขาดศีลธรรม สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย มันเป็นคติที่โยงกับการปกครองของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วก็ยังวนเวียนอยู่ในเรื่องที่เราได้ยินอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น คุณธรรมของผู้นำ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เป็นหัวใจของแนวคิดเรื่องการปกครองไทย นอกจากนั้น ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างอื่นๆ ในลักษณะแบบที่เรียกว่าโครงสร้างแบบสูง-ต่ำ ก็จะมองว่าผู้นำต้องมีคนตาม ซึ่งเป็นตัวสะท้อนของอำนาจที่อยู่สูงกว่า เป็นโครงสร้างแบบพีระมิด ผู้นำอยู่สูงกว่า มีคนตาม สุดท้าย ฐานอำนาจ ก็คือ ชาวบ้าน ชาวบ้านควรอยู่ในที่ของตัวเอง ไม่ควรไปละเมิดโครงสร้างสูงต่ำแบบนี้” ดร.ธรกล่าว

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ในบทบาทแบบพ่อขุนอุปถัมภ์

 

เมื่อฐานของความชอบธรรมประกอบเข้ากับบทบาทของผู้นำ ดร.ธรกล่าวว่า ผู้นำไทยมีบทบาทที่จำเป็น หรือบทบาทที่ควรจะเป็น คือ ต้องแสดงความเอื้ออาทรต่อประชาชน ต้องแสดงบทบาทเป็นผู้อุปถัมภ์ประชาชน แสดงความเมตตาห่วงใยประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงคุณธรรมและศีลธรรมของผู้นำได้ดีที่สุด โดยเห็นภาพลักษณะนี้ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ คือ บทบาทแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ หรือบทบาทพ่อที่ดูแลลูก

"คุณธรรมของผู้นำ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เป็นหัวใจของแนวคิดเรื่องการปกครองไทย นอกจากนั้น ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างอื่นๆ ในลักษณะแบบที่เรียกว่าโครงสร้างแบบสูง-ต่ำ ก็จะมองว่าผู้นำต้องมีคนตาม ซึ่งเป็นตัวสะท้อนของอำนาจที่อยู่สูงกว่า เป็นโครงสร้างแบบพีระมิด ผู้นำอยู่สูงกว่า มีคนตาม สุดท้าย ฐานอำนาจ ก็คือ ชาวบ้าน ชาวบ้านควรอยู่ในที่ของตัวเอง ไม่ควรไปละเมิดโครงสร้างสูงต่ำแบบนี้”

ดร.ธรกล่าวว่า การที่พ่อดูแลลูกเรียกว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ปกครองยังต้องดูแลให้ประชาชนอยู่ในกรอบศีลธรรมที่ดีตามจารีตศีลธรรมไทย ส่วนประชาชนมีหน้ารับการอุปถัมภ์ รับความเอื้ออาทรมาและปฏิบัติตนไปตามความคาดหวังของรัฐ ตามกรอบศีลธรรมที่รัฐสร้างให้และอยากให้ประชาชนทำตาม

“จะเห็นความสัมพันธ์ประชาชนในฐานะผู้รับการอุปถัมภ์และความเมตตา แต่จะไม่ใช้ประชาชนในฐานะพลเมืองผู้มีอำนาจกับรัฐ แนวคิดนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการทำหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะโยงไปถึงว่า ระบบรัฐสวัสดิการของไทยออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน” ดร.ธรกล่าว

ดร.ธรกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นมาโดยตลอด เมื่อมีการพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการของไทย คือ ชุดแนวคิดเรื่องชุมชน ซึ่งมีพลังมากในการบอกว่า อะไรคือแนวทางพัฒนาที่เหมาะสมในประเทศไทย

“ทำไมแนวคิดเรื่องชุมชนจึงมีพลังขนาดนั้น ทั้งที่ภาพสังคมไทยปัจจุบันห่างไกลจากภาพชุมชนหมู่บ้านแบบเดิมไปมากแล้ว แต่เราก็ยังมีมุมมองเกี่ยวกับชุมชนหมู่บ้านในแบบที่เห็นวัฒนธรรมชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ การพึ่งพาอาศัยกัน การมีภูมิปัญญา ยังเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวังเสมอให้เป็นทางออกให้กับปัญหาของชาวบ้าน” ดร.ธรกล่าว

ดร.ธรระบุว่า เราไม่สามารถเข้าใจเรื่องชุมชนได้ ถ้าไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่การพูดถึงสิ่งที่เป็นอยู่ แต่คือการพูดถึงอุดมคติที่ควรจะเป็น แนวคิดเรื่องชุมชนหมู่บ้านที่ถูกเสนอมาในตอนแรกเหมือนเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับการพัฒนาของรัฐ รัฐสร้างปัญหา ชุมชน คือ ทางออก ดร.ธรกล่าวว่า แต่ในความเป็นจริง ชุมชนไปกันได้แบบกรอบอำนาจของรัฐไทย ที่อยากให้ชาวบ้านมีศีลธรรมบางอย่างตามจารีตไทย เพราะไม่ใช่แนวคิดที่ให้ชาวบ้านไปทำลายคุณค่าจารีตแบบเดิม

ขณะที่ครอบครัว คือ หน่วยของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นพื้นฐานที่สุด โดยมีคุณค่าเรื่องบทบาทหน้าที่ พ่อมีหน้าที่เลี้ยงดูลูก แม่มีหน้าที่ปรนนิบัติสามี ดูแลบ้าน ลูกมีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ซึ่งคุณค่าที่เป็นฐานในสังคมไทย คือ การให้ความสำคัญกับความกตัญญู

ดร.ธรตั้งข้อสังเกตว่า ในระบบอุปถัมภ์แบบครอบครัวไทย ซึ่งคนมีบทบาทไม่เท่ากัน และบทบาทของคนที่เสียเปรียบมักจะเป็นผู้หญิง


แนวคิดที่ทำให้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ไม่เป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทย

 

ดร.ธรกล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำว่า เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่มีอิทธิพลมากในสังคมไทย และไม่ค่อยได้รับความสำคัญ หรือไม่ได้รับความสนใจในสังคมไทย เนื่องจากมีแนวคิดเรื่อง “รัฐอินทรียภาพ” โดยเปรียบรัฐเหมือนร่างกายมนุษย์ มีส่วนประกอบอวัยวะต่างๆ มีส่วนที่สูงที่สำคัญกว่า คือ หัว ซึ่งเป็นส่วนที่สูงที่สุดและสำคัญที่สุดของร่างกาย รัฐไทย ศีรษะก็เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์  ส่วนประกอบอื่นของร่างกาย คือ ส่วนที่จะคอยรับการสั่งการมาจากส่วนหัว นั่นก็คือ ประชาชน เป็นส่วนประกอบที่ต้องทำตามการสั่งการ

“เมื่อมีแนวคิดแบบนี้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะคนก็คือส่วนประกอบที่ทำไปตามการสั่งการ ทำไปตามหน้าที่ของตัวเอง ประชาชนที่ดีของสังคมไทย คือ ต้องทำตามหน้าที่ แล้วต้องไม่มีความขัดแย้ง เพราะการขาดความสามัคคี ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย เพราะฉะนั้น สังคมไทยไม่ได้มองความเหลื่อมล้ำว่าเป็นปัญหา แต่มองว่าเป็นความปกติ” ดร.ธรกล่าว

ดร.ธรชี้ว่า ยังมีอีกสองเรื่องที่โยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำ คือ การอธิบายความ “จน-รวย” ที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ อันแรก คนจนมีลักษณะที่ด้อยกว่า คือ วงจร “โง่ จน เจ็บ” คนชนบทมักติดอยู่กับความไม่รู้ ขาดปัญญา ไม่ได้มีวัฒนธรรมที่ทำให้ตัวเองหลุดจากวงจรนี้ได้ โดยเป็นการถอยคำอธิบายว่า ความจนเกิดจากจากตัวของเขาเอง

"เมื่อมีแนวคิดแบบนี้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะคนก็คือส่วนประกอบที่ทำไปตามการสั่งการ ทำไปตามหน้าที่ของตัวเอง ประชาชนที่ดีของสังคมไทย คือ ต้องทำตามหน้าที่ แล้วต้องไม่มีความขัดแย้ง"

ขณะที่หากมองไปยังคนที่หลุดพ้นจากวงจรความยากจน และสามารถขยับเลื่อนชนชั้นขึ้นมาได้ ที่ผ่านมาในสังคมไทยมีกลุ่มคนที่ขยับทางชนชั้นกลุ่มที่สำคัญที่สุด ก็คือ คนชั้นกลางเชื้อสายจีน ซึ่งสังคมไทยให้คำอธิบายคนกลุ่มนี้ในลักษณะที่ถอยไปอีกว่า เป็นเพราะพวกเขามีคุณธรรม มีความขยันอดทน และความซื่อสัตย์ ดร.ธรกล่าวว่า เราจะเห็นเรื่องแบบนี้ถูกถ่ายทอดตลอดเวลาในการเล่าเรื่องของคนจีนที่ประสบความสำเร็จในไทย ถ้าไปอ่านนิยายของคนกลุ่มนี้จะพูดอย่างเดียวกัน ว่าเป็น self-made ethic ที่ทำให้เขาประสบสำเร็จขึ้นมาได้

“พอพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็ถอยไปว่าคนจะรวยจะจนเป็นเพราะตัวเอง สิ่งที่หายไป คือ การมองเห็นว่า โครงสร้างอะไรที่โยงกับความเหลื่อมล้ำบ้าง” ดร.ธรกล่าว


รัฐอุปถัมภ์ในฐานะผู้สงเคราะห์

 

ดร.ธรกล่าวว่า สุดท้ายบทบาทของรัฐไทยในการทำสวัสดิการจะโยงอยู่กับแค่ว่า การเป็นผู้สงเคราะห์ การเป็นผู้อุปถัมภ์คนยากจน เนื่องจากการมองบทบาทผู้ปกครองของสังคมไทยว่า คุณธรรมสำคัญที่สุด คือ ความเมตตา ความเมตตาทำให้ผู้ปกครองสามารถอยู่ในจุดที่ตัวเองเป็นคนที่มีคุณธรรมเหนือกว่าได้

เมื่อระบบรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นมาบนฐานของระบบอุปถัมภ์แบบนี้ สุดท้ายก็ยังติดอยู่ว่า นัยยะของการเป็นผู้ให้ด้วยคุณธรรมมีความสำคัญ ขณะเดียวกันคนที่รับสวัสดิการไม่ได้ถูกคาดหวังให้มีอำนาจหรือมีส่วนร่วมใดๆ กับกระบวนการให้สวัสดิการที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า มีการเทียบนโยบายสวัสดิการว่าเป็นประชานิยม ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยจำนวนมากของการวิพากษ์นโยบายประชานิยม สะท้อนถึงมุมมองความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนที่ดีในสังคมไทยว่าควรเป็นอย่างไร

“ประชานิยม ด้านหนึ่ง คือ นักการเมืองผู้ซึ่งขาดคุณธรรม เพราะนักการเมืองสนใจประโยชน์ที่ตัวเองได้ ไม่สนใจประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเพียงพอ นักการเมืองไปทำนโยบายที่ทำลายศีลธรรมบางอย่างของประชาชน ดึงวิถีชีวิตบางอย่างของคนยากจนไปทำลาย

“แต่อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ต่างไปจากนโยบายประชานิยมที่มองว่าทำลายความสัมพันธ์ที่ดี คือ นโยบายที่บอกว่าเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่จริงมันคือ ผู้นำที่มีคุณธรรม มีความเมตตา หวังดีต่อประชาชน ดูแลประชาชนตามแนวทางที่ถูกต้อง คือ แนวทางที่จะรักษาศีลธรรมที่ดีให้กับประชาชน” ดร.ธรกล่าว

 


แนวคิด ชุมชน-ครอบครัว คือทางออกของระบบสวัสดิการ และทุกปัญหา

 

ดร.ธรกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะถูกมองข้ามบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงรัฐสวัสดิการในสังคมไทย คือ รัฐ แม้กระทั่งคนที่ทำงานด้านสวัสดิการก็ไม่คาดหวังกับรัฐ แต่คาดหวังกับชุมชน คือ ทางออก คือ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะสร้างสวัสดิการได้ ถ้าลองย้อนดู ชุมชนถูกเสนอเป็นทางออกของทุกเรื่อง ทำให้เห็นว่าชุมชนยังมีพลังอยู่มากในสังคมไทย และเป็นพลังที่ยังมีบทบาทอย่างมากในการมองว่ารัฐสวัสดิการควรจะเป็นอย่างไร

เช่นเดียวกันกับพลังของแนวคิดเรื่องครอบครัว เมื่อพูดถึงระบบรัฐสวัสดิการ จะพบว่าเด็กกับผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดในเชิงช่องว่างของสวัสดิการไทย แต่จะแก้ปัญหานี้อย่างไรโดยที่ยังไปไม่ถึงบทบาทของรัฐ เรายังติดอยู่กับว่าจะใช้ครอบครัวมาเป็นกลไกแก้ปัญหานี้ แต่คำถาม คือ ครอบครัวสามารถแก้ปัญหาได้จริงขนาดไหน

“อุดมคติเรื่องชุมชนและครอบครัว ที่จริงห่างจากความจริงของครอบครัวและชุมชน ชุมชนแบบที่เป็นอุดมคติหายาก ครอบครัวก็เหมือนกัน ครอบครัวที่เป็นไปตามอุดมคติแบบที่จะทำหน้าที่ดูแลคนได้ในสังคมไทยก็น้อยลงๆ เรื่อยๆ ถ้าโยงกับเรื่องผู้หญิง ผู้หญิงต้องเป็นคนที่แบกรับภาระของอุดมคติกับความจริงที่ไม่ตรงมากที่สุดในสังคมไทย คือ คาดหวังให้ทำอย่างหนึ่ง แต่สังคมที่มันเป็นจริงทำให้เขาทำหน้าที่อย่างนั้นไม่ได้” ดร.ธรกล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องแนวคิดความเหลื่อมล้ำ ดร.ธรมีข้อสังเกตว่า แต่เดิมสังคมไทยไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ทุกวันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำถูกพูดถึงมากขึ้น ทางการเมืองก็มีการตั้งคนขึ้นมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ยังจำกัดเฉพาะการช่วยกลุ่มคนที่ยากจน

“ผมพยายามสำรวจสิ่งที่ถูกพูดถึงเวลาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะการช่วยคนยากจนเป็นหลัก โดยการไปปรับพฤติกรรมคนจน ก็คล้ายกับกรอบคิดที่ว่า คนจะรวยจะจนเป็นเพราะตัวเอง” ดร.ธรกล่าว

ดร.ธรกล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบไทยที่มองแต่เรื่องคนจน ก็มักจะติดอยู่ว่า สุดท้ายต้องไปปรับพฤติกรรมให้คนจนหายจนได้ แต่โครงสร้างอื่น เช่น ความไม่เสมอภาคด้านโอกาส การกระจายส่วนแบ่งเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ระบบกฎหมายการเมือง ถูกพูดถึงน้อยมากในกระแสที่รัฐสวัสดิการได้รับความสนใจมากขึ้น

 

บทสรุป

 

ดร.ธรสรุปตอนท้ายการนำเสนอว่า แนวคิดเรื่องอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยยังโยงอยู่มากกับเรื่องศีลธรรมความเมตตาของคนที่เป็นผู้ปกครอง ในขณะที่ประชาชนถูกคาดหวังให้รับทำตามอำนาจ ปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบจารีต ทำให้ระบบรัฐสวัสดิการไทยยังไปไม่พ้นกรอบการสงเคราะห์คนจน ประชาชนเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ที่ไม่มีอำนาจ

ในอีกด้านหนึ่ง ชุมชนและครอบครัวเป็นอุดมคติที่มีพลังที่สุดในสังคมไทยในเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิการ แต่ท่ามกลางปัญหาที่มีอยู่ อุดมคติเหล่านี้ไม่ได้แสดงถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และห่างไกลจากความจริงที่เป็นออกไปเรื่อยๆ แต่คนก็ยังหันไปหาอยู่เสมอ

ดร.ธรกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีการยอมรับที่เป็นปกติมากกว่าที่คิด การมองความสำเร็จ-ล้มเหลวในชีวิตว่ามาจากคุณลักษณะในระดับปัจเจก ทำให้การพูดถึงการมองการแก้ปัญหาในระบบสวัสดิการไปไม่ถึงการจัดการกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม

“ผมคิดว่าแนวคิดที่วนเวียนอยู่ในเรื่องรัฐสวัสดิการไทย ปัญหาก็คือ เราจะออกจากแนวคิดที่มันเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยเอื้อเหล่านี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าเราสามารถที่จะมีทางเลือกในการพยายามปรับวิธีคิดในสังคมไทยให้เอื้อกับพัฒนาการรัฐสวัสดิการได้มากกว่านี้” ดร.ธรกล่าว

 

หมายเหตุ: 
1.    งานวิจัยนี้นำเสนอในเวทีวิชาการ “อุดมการณ์ รัฐ และการลงทุนในมนุษย์ : แง่มุมสำคัญในการผลักดันระบบสวัสดิการในประเทศไทย” จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2565
2.    เวทีดังกล่าว ยังมีการนำเสนองานวิจัยอีก 2 ชิ้น คือ “ทางสองแพร่งรัฐสวัสดิการไทย: รัฐพัฒนาการถ้วนหน้าหรือรัฐสวัสดิการอำนาจนิยม” โดย ผศ.ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ“การลงทุนในการให้ความคุ้มครองทางสังคมสำหรับประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย