Skip to main content

การรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่ ‘อ่อนไหวต่อการวิจารณ์’ แม้คำวิจารณ์นั้นจะเต็มไปด้วยความปรารถนาดีและเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงตัวเองก็ตามที

เว็บไซต์ GoodTherapy เสนอบทความเกี่ยวกับ “ความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์” ว่า คำวิจารณ์นั้นอาจทิ่มแทงในบางสถานการณ์ แม้แต่กับคนที่เชื่อเรื่องการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ แต่คนจำนวนมากสามารถที่จะพิจารณา และรวบรวมเอาคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์เอาไว้ โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจแต่อย่างใด

แต่กับกลุ่มคนที่อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์ อาจเกิดความรู้สึกในทางลบไม่ว่าจะเป็นคำวิจารณ์ใดๆ แม้คำวิจารณ์เหล่านั้นจะสร้างสรรค์และมีเจตนาดีก็ตาม

บทความกล่าวว่า ภาวะวิตกกังวล ความกดดัน ความโกรธ ความอับอาย หรือการปกป้องตัวเองแบบสุดฤทธิ์ เมื่อถูกวิจารณ์ อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับความอ่อนไหวต่อการวิจารณ์ และเมื่อพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับมือกับคำวิจารณ์ หรือพบว่าตัวเองติดอยู่ในวังวนของคำวิจารณ์ อาจเป็นโอกาสดีสำหรับการบำบัดหรือไปพบนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญ

 

การที่บางคน “อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์มากเป็นพิเศษ” มีเหตุผลเบื้องหลังมากมาย 

 

บทความกล่าวถึง สาเหตุของการอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์มากเป็นพิเศษในระดับที่มากกว่าคนปรกติว่า เกิดขึ้นได้จากการที่พ่อแม่ตั้งความหวังไว้กับลูกสูงเกินไป หรือปกป้องลูกๆ จากความผิดหวังและการถูกวิจารณ์ใดๆ ซึ่งอาจทำให้ลูกกลายมาเป็นคนที่อ่อนไหวมากต่อคำวิจารณ์ได้

ประสบการณ์ในวัยเด็กบางอย่างอาจส่งผลให้กลายเป็นคนที่อ่อนไหวต่อการวิจารณ์มากขึ้น เช่น เด็กที่ถูกตำหนิด้วยคำหยาบคายและรุนแรงอยู่เสมอ หรือได้รับข้อความที่สับสนจากพ่อแม่และผู้ดูแล เด็กที่ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนๆ ได้ หรือเด็กที่มีความสามารถและมั่นใจในตัวเอง แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมหรือปล่อยให้เบ่งบาน เด็กเหล่านี้มักมีปัญหาในการรับมือและประมวลผลคำวิจารณ์ 

นอกจากนี้ การรับรู้ที่เต็มไปด้วยอคติ ยังทำให้ตีความหมายของคำวิจารณ์ไปในทางลบ และอาจมีส่วนทำให้กลายเป็นคนที่อ่อนไหวอย่างมากต่อคำวิจารณ์

 

ผลกระทบจากการวิจารณ์

 

การอ่อนไหวต่อการวิจารณ์ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ปฏิกิริยาที่มีต่อการวิจารณ์ แต่ยังรวมถึงความสามารถในการเข้าใจและตีความคำวิจารณ์ สำหรับคนที่อ่อนไหวต่อการวิจารณ์อย่างมากอาจจะประสบกับภาวะแรงจูงใจในการทำงานตกต่ำ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง และหลบเลี่ยงคำวิจารณ์ แม้จะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ก็ตาม

คำวิจารณ์ที่ถูกตีความว่ารุนแรง โหดร้าย หรือมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า บุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรคจิตเภท และโรคกลัวที่โล่ง เชื่อว่า หากถูกคนที่รักวิจารณ์ มักส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา และผลลัพธ์โดยรวมจะแย่ลงกว่าเดิม 

ผู้วิจัยเชื่อว่าบางคนอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์มากกว่าคนอื่น เนื่องจากอคติทางความคิดที่ทำให้พวกเขาตีความข้อมูลที่ไม่ชัดเจนไปในทางลบ แทนที่จะมองให้เป็นแบบกลางๆ หรือเป็นไปในทางบวก อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์จากคนใกล้ชิด อาจส่งผลให้บางคนมุ่งสนใจไปที่เฉพาะอารมณ์ด้านลบ และส่งผลให้พัฒนาเป็นอคติหรือความคิดแง่ลบได้

บทความระบุว่า คำวิจารณ์ที่ตั้งใจมุ่งโจมตีไปที่ตัวบุคคล อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เมื่อคำวิจารณ์รุนแรงเกินไป อาจถือได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือการบุลลี่ การรับมือกับคำวิจารณ์ที่ไม่ยุติธรรมหรือเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธแค้นอาจเป็นเรื่องยาก และคำวิจารณ์ที่รุนแรงต่อเนื่องอาจทำให้คนที่ถูกวิจารณ์เกิดความอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์มากขึ้น บทความเสนอว่า การพิจารณาคำวิจารณ์ประเภทนี้ ควรทำอย่างรอบคอบ ซึ่งอาจช่วยให้สามารถแยกแยะประเด็นที่เป็นความจริงออกจากการใช้ภาษาถ้อยคำที่สร้างความเจ็บปวด

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะว่า พ่อแม่ไม่ควรใช้ถ้อยคำรุนแรงวิจารณ์ลูกๆ การที่พ่อแม่ที่สื่อสารกับลูกด้วยข้อความเชิงลบตลอดเวลา ทำให้เด็กมองความสามารถของตัวเองในแง่ลบ ส่งผลให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กลัวว่าจะล้มเหลว มุมมองแบบนี้จะส่งผลเสีย เพราะเด็กอาจมองตัวเองว่าไม่ฉลาด ไร้ความสามารถ หรือไม่คู่ควรกับการได้รับความรัก

 

ฝึกฝนทักษะเพื่อเพิ่มความทนทานต่อคำวิจารณ์

 

คนที่อ่อนไหวมากต่อคำวิจารณ์ อาจแสดงออกในลักษณะของการชอบตำหนิผู้อื่น และเมื่อถูกวิจารณ์ มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธคำวิจารณ์นั้น หรือตอบโต้กลับด้วยการโจมตี บทความเสนอว่า หากการรับมือกับคำวิจารณ์เป็นเรื่องยาก นักบำบัดจะสามารถช่วยให้คนที่อ่อนไหวพัฒนาวิธีรับมือกับคำวิจารณ์ได้อย่างมีสุขภาวะยิ่งขึ้นโดย

  • เปิดใจรับฟัง มองคุณค่าของคำวิจารณ์จากผู้อื่น

  • พัฒนาการฟังอย่างเข้าใจ เมื่อถูกวิจารณ์

  • ลดปฏิกิริยาตอบโต้แบบป้องกันตัว

  • เข้าใจมุมมองของผู้วิจารณ์

  • ยินดีต้อนรับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์

  • พัฒนาวิธีการสื่อสารความรู้สึก ต่อคำวิจารณ์ต่างๆ

  • ยอมรับและนำคำวิจารณ์ไปใช้เพื่อปรับปรุงตัวเอง เนื่องจากคำวิจารณ์ที่มุ่งหวังจะช่วยเหลือหรือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มักส่งผลดีและช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง

การรับมือกับคำวิจารณ์อย่างชาญฉลาด

 

  • หายใจลึกๆ ตั้งสติ หรือพักการสนทนาจนกว่าจะใจเย็น

  • หากคำวิจารณ์คลุมเครือหรือไม่ชัดเจน ขอให้ขยายความ อย่าเพิ่งรีบตัดสินหรือตอบโต้ 

  • ประเมินและพิจารณาคำวิจารณ์อย่างรอบคอบว่ามีประเด็นที่ขอ้เท็จจริงหรือพอมีน้ำหนักบ้างหรือไม่

  • ขอบคุณผู้ให้คำวิจารณ์ แม้คำวิจารณ์จะไม่สร้างสรรค์ แต่การขอบคุณเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพความคิดเห็นของผู้ที่วิจารณ์

  • หลีกเลี่ยงการโต้ตอบกลับด้วยคำวิจารณ์ ยิ่งโต้ตอบด้วยอารมณ์ ก่อขยายความขัดแย้งให้ใหญ่โตมากขึ้น

บทความสรุปตอนท้ายว่า คำวิจารณ์ที่มุ่งหวังจะช่วยเหลือนั้นมักเกิดจากความปรารถนาดี การเรียนรู้ที่จะยอมรับคำวิจารณ์อย่างมีสติและนำไปปรับปรุงตัว จะช่วยให้สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด