บ้านทุกๆ 1 ใน 7 หลังในญี่ปุ่น เป็น “บ้านร้าง” ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ปัจจุบันทั่วประเทศญี่ปุ่น มีบ้านร้างราว 8.5 ล้านหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตโตเกียวและพื้นที่อยู่อาศัยยอดนิยมหลายแห่ง บ้านร้างจำนวนมากนี้ เป็นหนึ่งในปัญหามากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้และการถูกลักขโมยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในย่านนั้นๆ และกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามหาวิธีการจัดการใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ในการใช้ประโยชน์บ้านร้างเหล่านี้ โดยเปลี่ยนให้เป็นสำนักงานไฮเทค หรือหาผู้เช่าร้านค้ารายใหม่เพื่อชุบชีวิตให้กับชอปปิ้งสตรีทในโตเกียว
โดยนิยาม 'บ้านร้าง' หมายถึง บ้านที่ไม่มีใครครอบครองนานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่มีการใช้งาน หรือซ่อมแซมบำรุงรักษา
ในปี 2018 ญี่ปุ่นมีบ้านอยู่ราว 62.4 ล้านหลัง และราว 8.5 ล้านหลัง หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 นั้นถูกจัดว่าเป็นบ้านร้าง เนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัย ในปี 2020 สถิติของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า ญี่ปุ่นมีสัดส่วนบ้านร้างสูงกว่าประเทศสมาชิก OECD อื่นๆ
ส่วนสถานการณ์ในโตเกียว คูซูยุ ทาคาอากิ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ข้อมูลว่า จำนวนบ้านร้างเฉพาะในโตเกียว มีถึง 810,000 หลัง และกำลังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉลี่ยพื้นที่ 10,000 ตร.ม.มีบ้านร้างมากกว่า 10 หลัง ซึ่งปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งตอนกลางของโตเกียว
นาคากาวะ ฮิโรโกะ นักเขียนเรื่องบ้านและอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์มานานกว่า 30 ปี และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาบ้านร้าง กล่าวว่า บ้านร้าง ส่งผลกระทบทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ทั้งย่านตกลงต่ำกว่ามูลค่าจริง รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้และการลักขโมย โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในถนนแคบๆ
ขณะที่การรื้อถอนและสร้างบ้านใหม่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายมาตรฐานการก่อสร้างของญี่ปุ่นกำหนดให้บ้านที่ติดกับถนนต้องมีการเว้นระยะจากถนนไม่น้อยกว่า 2 ม. ซึ่งบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นก่อนมีกฎหมายนี้ หากจะรื้อถอนและสร้างใหม่ ต้องมีการแก้กฎหมายดังกล่าวเสียก่อนจึงจะสามารถทำได้
นาคากาวะกล่าวว่า แม้ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่แทนที่บ้านร้างเหล่านี้ได้ แต่การรีโนเวทและเพิ่มความทนทานต่อแผ่นดินไหว รวมถึงปรับโครงสร้างที่ทำให้สามารถอยู่อาศัยได้ในระยะยาวนั้น เป็นทางเลือกที่ถูกกว่าการสร้างบ้านใหม่
ที่เมืองคามิยามะ ซึ่งอยู่ในชนบท มีประชากรราว 5,000 คน มีการนำที่อยู่อาศัยที่ร้างผู้คนมาใช้ในทางสร้างสรรค์ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพื่อต่อสู้กับการลดลงของประชากร ริเริ่มโดยศิลปินท้องถิ่นโดยผลิตงานศิลปะจัดแสดงในตึกที่ไม่มีการใช้งาน จากนั้น ธุรกิจแฟชั่นก็เริ่มตามมา และเมื่อมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริษัทไอทีจากโตเกียว ก็มาตั้งสำนักงานในบ้านที่ว่าง และดึงดูดให้ครอบครัวของคนทำงานมาอยู่อาศัย จากนั้นโรงเรียนของรัฐก็แจกอาหารกลางวันฟรีให้กับนักเรียน ทำให้ขณะนี้มีบริษัทมาตั้งในเมืองคามิยามะแล้ว 15 บริษัท ในปี 2020 มีผู้ย้ายเข้ามาแล้ว 40 คน และทำให้จำนวนของประชากรในเมืองเพิ่มขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีการเปิดวิทยาลัยเทคนิคในเมืองคามิยามะ สาขาการออกแบบและเทคโนโลยี โดยนำอาคารโรงเรียนเก่ามาใช้เป็นที่พักของนักศึกษา การนำอสังหาริมทรัพย์ที่ร้างผู้คนมาใช้ในทางสร้างสรรค์ กำลังดึงดูดผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองคามิยามะมากขึ้นเรื่อยๆ
ราวสองปีที่ผ่านมา มัทสุโมโตะ โทโมยูกิ เจ้าของบริษัทส่งเสริมที่อยู่อาศัย เริ่มซื้ออพาร์ตเมนต์ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองโอซาก้า ในราคา 1.4 ล้านเยน หรือราว 3.4 แสนบาท และมีแผนรีโนเวทให้น้อยที่สุด และปล่อยเช่าในราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจุบันบริษัทของเขาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ราว 120 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่น
การริเริ่มของมัทสุโมโตะได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวาง โดยเขาหวังว่าจะเพิ่มเงินทุนมากขึ้น และขยายโครงการไปยังส่วนอื่นของญี่ปุ่น เขาคิดว่าผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมสามารถใช้เงินส่วนตัวและที่อยู่อาศัยที่ล้นเกิน เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับญี่ปุ่นได้
ขณะนี้ลูกค้าของมัทสุโมโตะมีทั้งเจ้าหน้าของรัฐบาลท้องถิ่น และมีนักลงทุนติดต่อให้การสนับสนุนโครงการของเขา รวมแล้ว19 ราย มีเงินลงทุนรวม 35.5 ล้านเยน ซึ่งทำให้มัทสุโมโตะสามารถซื้อสังหาริมทรัพย์ได้ 11 รายการโดยให้ผู้เช่าสามารถย้ายเข้ามาอยู่และเริ่มต้นชีวิตใหม่
ในกรณีที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังในบ้านที่มีห้องว่างเหลืออยู่ มีองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไร หรือเอ็นจีโอ นำห้องว่างเหล่านั้นมาให้นักศึกษาเช่าอยู่ในราคาถูก ซึ่งการที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวลำพัง หากเกิดเจ็บป่วยจะเป็นอันตรายและอาจเสียชีวิตโดยที่เพื่อนบ้านไม่รู้ การมีคนอายุน้อยมาอยู่ด้วย นอกจากจะเป็นการใช้ห้องว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว การมีเพื่อนต่างวัยคอยสนทนาเรื่องราวชีวิต ยังช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวให้กับผู้สูงอายุได้อีกด้วย
อาซามิ ชิเกฮารู อาศัยอยู่ในคอมเพล็กซ์อพาร์ตเมนต์ในโตเกียว มานานกว่า 20 ปี เมื่อ 5 ปีที่แล้วเขาสูญเสียภรรยาไป และต้องอยู่ตัวคนเดียวโดยที่ไม่มีเพื่อนคุย
มิฮาระ นาโอโตะ นักศึกษาจากโอซาก้า ย้ายมาอยู่กับอาซามิ ในโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร ซึ่งจับคู่คนสูงอายุที่มีห้องว่างเหลือกับนักเรียนที่ต้องการที่พักในราคาไม่สูง จากที่เคยจ่ายค่าเช่าเดือนละ 100,000 เยน มิฮาระจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 30,000 เยน หรือราว 7,300 บาทต่อเดือน พร้อมมีอาหารค่ำให้ทานทุกวัน ขณะที่อาซามิ ก็มีคนคอยให้คุยด้วยตอนทานมื้อค่ำ
โครงการนี้ริเริ่มโดย อิชิบาชิ ฟูซาโกะ โดยนำประสบการณ์ที่พบเจอจากการไปท่องเที่ยวที่สเปน โดยเห็นว่ามีสิ่งที่คล้ายคลึงกัน และตัดสินใจนำมาประยุกต์ใช้กับญี่ปุ่น อิชิบาชิบอกว่า แนวคิดนี้ขณะนี้เริ่มแพร่กระจายไปทั่วญี่ปุ่นแล้ว