รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทย ครึ่งแรกของปี 2566 อยู่ที่ครอบครัวละ 29,502 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 82.6 ของรายได้ หรืออยู่ที่เดือนละ 24,362 บาท ส่วนหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 163,087 บาท ในปี 2556 เป็น 208,331 บาท ในปี 2566
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย ครึ่งปีแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) จากครัวเรือนทั่วประเทศ 28,800 ครัวเรือน
รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 29,502 บาท มาจากค่าจ้างและเงินเดือน 12,930 บาท กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ 5,473 บาท และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตร 2,396 บาท รวม 20,799 บาท นอกจากนั้น เป็นรายได้ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น สวัสดิการ/สินค้า บริการต่างๆ ที่ไม่ต้องซื้อ 4,232 บาท และรายได้จากเงินช่วยเหลือจากรัฐหรือบุคคลอื่น 3,835 บาท และรายได้ไม่ประจำและจากทรัพย์สิน 636 บาท
ครัวเรือนทั่วประเทศไทยมีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 24,362 บาท โดยเป็นรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 21,262 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ สูงสุดถึง 8,575 บาท รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 5,295 บาท รายจ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 3,880 บาท ตามลำดับ ส่วนรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย เป็นต้น) มีจำนวน 3,100 บาท
ส่วนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 208,331 บาท ประกอบด้วยหนี้สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 88,624 บาท หนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภค 71,987 บาท และหนี้สินเพื่อการศึกษา 2,504 บาท รวม 163,115 บาท นอกจากนั้น เป็นส่วนของหนี้สินอื่นๆ ได้แก่ หนี้สินในการทำเกษตร 27,990 บาท หนี้สินในการทำธุรกิจ 16,213 บาท และหนี้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ 1,013 บาท
โดยสรุป รายได้เฉลี่ยต่อเดือนเฉพาะ ม.ค.-มิ.ย. ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 25,194 บาท ในปี 2556 เป็น 29,502 ในปี 2566 เช่นเดียวกันกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่เพิ่มขึ้นจาก 19,061 บาท ในปี 2556 เป็น 24,362 บาท ในปี 2566 ส่วนหนี้สิ้นเฉลี่ยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก 163,087 บาท ในปี 2556 เป็น 208,331 บาท ในปี 2566