ผลสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านทั่วประเทศ ปี 2566 พบว่า นี้มี "คนไร้บ้าน" เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50.86 นอกจากนี้ ยังพบว่ามี "ผู้สูงอายุไร้บ้าน" เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 22
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือน พ.ค.2566 พบคนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน โดย อยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุดถึง 1,271 คน คิดเป็นร้อยละ 50.86 ทั้งยังพบว่า มีคนไร้บ้านหน้าใหม่ถึงร้อยละ 39
จังหวัดที่พบจำนวนของคนไร้บ้านเป็นอันดับสอง คือ ชลบุรี 126 คน คิดเป็นร้อยละ 5.04, เชียงใหม่ 118 คน คิดเป็นร้อยละ 4.72, ขอนแก่น 73 คน คิดเป็นร้อยละ 2.92, กาญจนบุรี 62 คน คิดเป็นร้อยละ 2.48
สาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้าน คือ การตกงาน มีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 44.72, รองลงมา คือ ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 35.18 โดยช่วงอายุของคนไร้บ้านที่พบมากที่สุดคือ 45-55 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้สูงอายุไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 22
ส่วนปัญหาที่พบในกลุ่มคนไร้บ้าน ร้อยละ 18.1 มีปัญหาการติดสุรา, ร้อยละ 17.9 มีปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่อาชีพและรายได้ของคนไร้บ้าน พบว่า ร้อยละ 65 มีอาชีพ โดยส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือนและไม่สม่ำเสมอ ร้อยละ 55 จบชั้นประถมศึกษา
อนรรฆกล่าวว่า ผลการสำรวจสะท้อนถึงสัดส่วนคนไร้บ้านสูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งยังมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 เป็นความท้าทายในกระบวนการป้องกันและฟื้นฟูคนไร้บ้านในอนาคต ซึ่งทางจุฬาฯ และเครือข่าย จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อการออกแบบเชิงนโยบายต่อไป
ทางด้านอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า คนไร้บ้านเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกสังคมในหลายประเทศทั่วโลก มีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน คือ 1) ปัญหาเชิงปัจเจกระดับบุคคล ภาวะอาการเจ็บป่วย ติดสารเสพติด ความพิการ หรือมีอาการทางจิต และ 2) ปัญหาเชิงระบบ สถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน เห็นชัดเจนว่าปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ ที่ผ่านมา พม.ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงภาคประชาสังคม เข้าร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การแจงนับคนไร้บ้านทั่วประเทศ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. พม. และภาคีเครือข่าย ภาคีเครือข่าย มีการสำรวจมา 3 ครั้งแล้วพบสัดส่วนเพิ่มขึ้น ที่น่าห่วง คือ คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่มีถึง 39 % หากเราไม่สามารถจัดการภายใน 2 ปีให้คนเหล่านี้คืนสู่ครอบครัวและชุมชน จะกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร จึงได้ร่วมกันทำงานครอบคลุมทุกมิติ ช่วยให้ตั้งหลักชีวิตได้รวดเร็ว ไม่เกิดคนไร้บ้านถาวร ที่ผ่านมาสสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พม. ทำต้นแบบป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวร ป้องกันกลุ่มเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งสสส. สนับสนุนการเช่าที่อยู่ 60% และคนไร้บ้านสมทบ 60% ต่อเดือน ส่วนเกิน 20% นำเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการคนไร้บ้าน ทำให้คนไร้บ้านกว่า 50 คน มีที่อยู่ มีอาชีพ รายได้มั่นคงขึ้น ตลอดจนพัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน ที่เน้นกระบวนการจัดการตนเองของคนไร้บ้าน เสริมความเข้มแข็งในมิติทางสังคม และสุขภาพ สสส. ยังทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พม. และเครือข่ายอาสาสมัคร พัฒนาระบบจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม สุขภาพคนไร้บ้าน ลดความเปราะบาง และหนุนเสริมคนไร้บ้านหน้าใหม่ให้เข้าถึงสวัสดิการ ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมได้