ผู้หญิงเกาหลีใต้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ไม่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของประเทศในระยะยาว หากอัตราการเกิดไม่เพิ่ม คลังสมองแนะลด ชม.ทำงาน หรือทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้หญิงเกาหลีทำงานและเลี้ยงลูกได้
สถาบันวิจัยที่เป็นคลังสมองของเกาหลี เผยว่า ผู้หญิงวัย 30 ตอนต้นของเกาหลีใต้กำลังเข้าสู่การทำงานมากขึ้น แต่จะไม่ช่วยให้ความสามารถในการผลิตของประเทศสูงขึ้น และกลับเป็นที่กังวลว่าอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวลดต่ำลง
รายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเกาหลี (KDI) ระบุว่า ผู้หญิงในวัยใกล้เคียงสามสิบสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับแรงงานของประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องมีภาระการเลี้ยงดูลูก
รายงานระบุว่า ผู้หญิงอายุ 30 ถึง 34 ปี เข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.2 ในปี 2017 เป็นร้อยละ 75 ในปี 2022 ขณะที่สัดส่วนของการมีบุตรลดลงจากร้อยละ 46.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 32.3 และจำนวนของผู้หญิงที่มีลูกสองคนหรือมากกว่าลดลงจากร้อยละ 22.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 13.6
ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าส่วนใหญ่ สัดส่วนของผู้หญิงที่กลับเข้าทำงานหลังการคลอดและลาพักเลี้ยงบุตร เป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อแรงงานทั้งหมด ต่างจากบริบทของเกาหลีใต้ ซึ่งสภาพแวดล้อมของการทำงานไม่เอื้อกับการที่ผู้หญิงจะมีบุตร
ในรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเกาหลี กล่าวว่า อัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานของเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นนั้น สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการไม่มีบุตร การมีส่วนร่วมของผู้หญิงจะช่วยลดการชะลอตัวของความสามารถในการผลิตได้ในระยะสั้น แต่จะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าในอนาคตข้างหน้า
รายงานของสถาบันวิจัยการพัฒนาเกาหลี ระบุว่า อาจเกิดผลกระทบเชิงลบต่อประเทศในระยะยาว หากจำนวนการให้กำเนิดบุตรหดตัวลงเรื่อยๆ และจะส่งผลให้ความสามารถด้านการผลิตถดถอยลงในท้ายที่สุด โดยปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วขึ้น การจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ซึ่งจะกระทบต่อโครงการเงินบำนาญแห่งชาติ
KDI ยังเสนอแนะให้ปรับปรุงนโยบายสำหรับมารดา เพื่อให้สามารถทำงานได้ ในขณะที่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย โดยเสนอมาตรการที่เป็นไปได้ เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน หรือการทำงานแบบยืดหยุ่นสำหรับผู้หญิงที่มีลูกเล็ก
เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ในปี 2022 อัตราการให้กำเนิดทารกต่อผู้หญิง 1 คน อยู่ที่ 0.78 ต่อปี ลดลงจากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 0.81 และเป็นตัวเลขต่ำสุดนับจากปี 1970 ที่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูล รายงานระบุว่า หากไม่คิดถึงการรับแรงงานอพยพ จำเป็นต้องมีอัตราการเกิดสูงกว่า 2 เพื่อยังคงประชากรที่เป็นแรงงานชาวเกาหลีไว้
เมื่อวันที่ 13พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่งประกาศให้คงจำนวนชั่วโมงการทำงานพื้นฐานต่อสัปดาห์ไว้ที่ 52 ชั่วโมงเช่นเดิม โดยที่เกาหลีใต้เป็นประเทศถูกจัดว่ามีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก