นักวิจัยคาดในปี 2050 "โรคระบาด" จากสัตว์สู่คนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า และมี "ผู้เสียชีวิต" เพิ่มสูงขึ้นถึง 12 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2020
การศึกษานี้เผยแพร่โดยนักวิจัยของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชื่อ Ginkgo Bioworks ซึ่งทำการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนครั้งใหญ่ๆ จากแหล่งข้อมูลของการระบาดที่ส่งผลต่อคนจำนวนมาก
การศึกษาครั้งใหม่พบว่า การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่จะเพิ่มขึ้นแบบเลขยกกำลัง และในปี 2050 อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อสูงเป็น 12 เท่าของปี 2020 โดยนักวิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลการระบาดใหญ่ของโรคในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา พบรูปแบบความถี่ของการแพร่ระบาดไปยังบริเวณต่างๆ ทั่วโลก
นักวิจัยชี้ว่า โรคระบาดขนาดใหญ่ในโลกสมัยใหม่ มีสาเหตุจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนโดยการสัมผัส หรือโดยพาหะนำโรค เช่น ยุง การไปอยู่ในพื้นที่ที่สัตว์อยู่อาศัย หรือการบริโภคน้ำไม่สะอาด ซึ่งนักวิจัยคาดว่าเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลให้การระบาดของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น
การวิเคราะห์พบว่า อัตราการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 5 ต่อปี ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีการรายงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ต่อปี
นักวิจัยศึกษาฐานข้อมูลการระบาดของโรคกว่า 3,000 รายการ โดยมุ่งเน้นที่ช่วงระหว่างปี 1963 ถึง 2019 และได้วิเคราะห์เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคจากสัตว์สู่คน 4 ประเภท ได้แก่ Filoviruses (เช่น Ebola และ Marburg), SARS Coronavirus 1 (ซึ่งทำให้เกิดโรค SARS), Nipah virus (ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการสมองบวม) และ Machupo virus (ซึ่งทำให้เกิดไข้เลือดออกโบลิเวีย)
นักวิจัยระบุถึงเหตุการณ์การระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน 75 ครั้ง ใน 24 ประเทศ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 17,000 คน โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ filoviruses ในแอฟริกา
นักวิจัยระบุว่าตัวเลขประมาณการดังกล่าวอาจเป็นเพียง "ตัวเลขที่ต่ำที่สุด" เนื่องจากใช้เกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง และยังไม่ได้รวมการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่ง "ใหญ่กว่าเหตุการณ์อื่นๆ หลายเท่า" เข้าไว้ด้วย
นักวิจัยระบุว่า "หากแนวโน้มที่สังเกตได้จากการศึกษานี้ยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าในปี 2050 เชื้อโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดการระบาดจากสัตว์สู่คนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2020"
นักวิจัยเตือนว่า หากแนวโน้มการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนยังคงดำเนินต่อไป จะทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคติดเชื้อในระดับโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาด แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามีมาตรการที่ครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงนี้