ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วด้วยความเร็วที่น่าทึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ผู้สูงอายุส่วนมากในประเทศจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านการเงิน และวิกฤต “แก่ก่อนร่ำรวย” เพราะรายได้ต่อหัวเติบโตต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก
ดิ อีโคโนมิสต์ รายงานว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ทยานแตะ 14% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า อีกไม่นานประเทศไทยจะเต็มไปด้วยคนสูงวัยเหมือนกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศตะวันตกอื่นๆ แต่ยังก่อน! สิ่งที่ต่างกัน คือ ประเทศเหล่านั้นล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ในปี 2564 คนไทยมีรายได้ต่อหัวต่อเพียงปีแค่ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 254,000 บาท นั่นหมายความว่าไทยไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเมื่อเทียบกับช่วงที่ญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยเท่ากับไทย รายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่นนั้นสูงกว่าไทยถึง 5 เท่า ประเด็นเรื่องรายได้จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนาประเทศของไทยในอนาคต
โจทย์ใหญ่ที่สำคัญคือ การดูแลพลเมืองสูงวัยที่มีฐานะยากจนกำลังกลายเป็นโจทย์ใหม่ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไทยต้องใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และเงินบำนาญเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความยากลำบากในการลงทุนกับกระบวนการผลิต การพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ดิ อีโคโนมิสต์ ยังตั้งคำถามถึงอนาคตของประเทศไทย ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ขณะที่มีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในเอเชียกำลังเดินตามประเทศไทยมาติดๆ โดยที่ปัญหาแก่ก่อนร่ำรวยของชาวเอเชียขยายตัวมากสุดในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นสังคมสูงวัยที่มีรายได้ต่ำ ขณะที่ศรีลังการายได้เฉลี่ยต่ำกว่าประเทศไทยถึง 1 ใน 3 จะกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นภายในปี 2571
การกลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคนจนสูงอายุ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการฉกฉวยโอกาสทางประชากร ระหว่างปี 1960 ถึง 1996 ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ทว่าตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังต่ำกว่าญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพที่ช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ และปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้ประเทศไทยมีคนแก่เพิ่มขึ้นเร็วอย่างน่าตกใจ ภายใน 2 ทศวรรษสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 7% เป็น 14% ขณะที่ญี่ปุ่นต้องใช้เวลา 24 ปีจึงจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกัน ส่วนอเมริกาใช้เวลา 72 ปี และยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่าหนึ่งศตวรรษ
ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา เช่น คนเวียดนามประมาณครึ่งหนึ่งร่ำรวยกว่าคนไทยและเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่า ส่วนอินเดียเป็นหนึ่งประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วสุดในโลก แต่ก็ไม่เร็วเท่ากับประเทศไทยในช่วงที่เฟื่องฟู โดยในช่วงทศวรรษจนถึงปี 2020 อินเดียเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ 6.6%
ข้อสรุปประการหนึ่งก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องเริ่มวางแผนผู้สูงอายุตั้งแต่เนิ่นๆ รัฐบาลควรปฏิรูประบบบำนาญ รวมถึงการเพิ่มอายุเกษียณด้วย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภาระด้านสวัสดิการสังคมขณะเดียวกันตลาดการเงินต้องเสนอทางเลือกสำหรับการออมระยะยาว และการประกันสุขภาพ พร้อมกับสร้างเงื่อนไขสำหรับการดูแลทางสังคมที่มีการควบคุมอย่างดี
นอกจากนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกลุ่มกำลังแรงงาน เพราะการมีผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้นจะช่วยเพิ่มผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร และยังช่วยจัดการกับความจริงที่ว่าผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่มีแนวโน้มที่จะมีเงินออมและเงินบำนาญน้อยกว่า รวมถึงมีความเสี่ยงในวัยชราด้วย
บทความในดิ อีโคโนมิสต์สรุปตอนท้ายว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของประเทศร่ำรวย โดยคำนึงถึงการย้ายถิ่นฐานอย่างจริงจัง แม้จะประเด็นที่ยากในทางการเมือง แต่เป็นวิธีง่ายที่สุดในการเปลี่ยนแปลง โดยยกตัวอย่าง สถานที่ก่อสร้างในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยแรงงานอพยพชาวเมียนมาผิดกฎหมาย โดยแนะว่านักการเมืองไทยสามารถนำพาพวกแรงงานเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีบทบาทในการสร้างผลผลิตต่างๆ อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น