Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ทุกวันนี้คนอเมริกาเริ่มไปปักหลักที่อิตาลีกันเยอะมาก ถ้าคนจีนตาลุกวาวกับบ้านแจกฟรีในชนบทญี่ปุ่น คนอเมริกันก็ตาลุกวาวกับบ้าน 1 ยูโรในชนบทอิตาลี และทุกวันนี้วิถีคนอเมริกันมีเงินคือ ต้องมีบ้านในอิตาลีสักหลัง ถ้าไม่ใช่เพื่อมาพักตากอากาศ ก็ต้องเพื่อการลงทุน

สำหรับคนอเมริกัน "อิตาลี คือ อุดมคติ" เพราะค่าครองชีพถูก อากาศดี เงียบสงบ ไม่มีอาชญากรรมมากมายแบบในอเมริกา อย่างไรก็ดี เมื่อคนเริ่มรู้สึกกันแบบนี้หมด คนก็เลยเริ่ม "เบรค" กันว่า อิตาลีมันไม่ได้สวยงามแบบที่คิดกัน และอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน

Business Insider ได้ไปสัมภาษณ์ครอบครัวคนดำหนุ่มสาวอเมริกันที่ย้ายจากรัฐโอไฮโอไปอยู่ที่อิตาลีตั้งแต่ปี 2014 และการอยู่มา 11 ปี ทำให้ครอบครัวนี้ เห็นทั้งด้านดีและไม่ดีของอิตาลีและอยากจะเตือน โดยความน่าสนคือ นี่เป็นมุมจากครอบครัวคนหนุ่มสาวที่ "เลี้ยงลูก" ที่กำลังโต ซึ่งต่างจากหลายครอบครัวอเมริกันที่ย้ายมาอยู่อิตาลีในวัยเกษียณ

เพื่อให้เห็นภาพ ครอบครัวนี้มีภูมิหลังว่า เค้าอยากมีลูกหลายๆ คน และมองว่าอยู่อเมริกามันจะยากแน่ๆ เพราะถึงแม้ว่าเค้าจะมีธุรกิจเกี่ยวกับการเขียนโฆษณาออนไลน์ แต่ค่าครองชีพในอเมริกาจะสูบทุกอย่างไปหมด เค้าเลยคิดว่าย้ายครอบครัวมาอิตาลี มันจะเป็นไปได้ที่จะมีลูก 3 คนและมีบ้านเป็นของตัวเองได้ โดยครอบครัวตัดสินใจย้ายมาอิตาลีตอนภรรยาอุ้มท้องลูกคนแรก ตอนแรกอยู่กันที่โรม แต่สู้ค่าครองชีพไม่ไหว สุดท้ายเลยมาลงตัวที่อยู่ในเมืองเล็กๆ ประชากร 3,000 คน ทำให้ซื้อบ้านได้ และเก็บเงินได้กระจุยกระจาย

ก่อนหน้านี้ คนที่เป็นแม่ของครอบครัวนี้ให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ว่า การอยู่บ้านนอกของอิตาลีทำให้เธอ "ชิล" ขึ้น เพราะทุกอย่างที่นี่ช้า และเธอเริ่มมองความสำเร็จต่างไป

ในบทสัมภาษณ์ใหม่ เธอกลับชี้ว่า แม้ว่า "มันจะมีข้อดี" แต่อีกด้านเธอก็เห็น "ข้อเสีย" ของการอยู่บ้านนอกอิตาลี ในแบบที่เธอจะ "ย้ายออก" ทันทีถ้ามีโอกาส และที่น่าสนใจคือ เธอไม่ได้อยากกลับอเมริกา แต่เธออยากย้ายไปเมืองใหญ่ๆ ในอิตาลี

หลักๆ คือเธอมองว่า "ความสงบ" มันมากับ "ความน่าเบื่อ" และการ "ขาดความสะดวก" ในทุกมิติ และในฐานะครอบครัวที่มีลูกกำลังโต เธอไม่แฮปปี้

เธอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สำหรับลูกที่กำลังโต เธอนึกไม่ออกเลยว่าเสาร์อาทิตย์จะทำอะไร ในอเมริกา มันมีศูนย์กีฬา ศูนย์เยาวชน ยันห้างสรรพสินค้า ซึ่งทั้งหมดมี "กิจกรรม" ให้เด็กทำ แต่พอมาอยู่บ้านนอกอิตาลี กิจกรรมพวกนี้ไม่มีเลย

ต้องเน้นว่า เมืองที่เธอเคยอยู่ในอเมริกา คือ คลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ซึ่งมีประชากรเพียง 300,000 กว่าคน ถือว่าไม่ใช่เมืองใหญ่ในอเมริกา แต่ก็ยังใหญ่กว่าเมืองบ้านนอกในอิตาลีที่ประชากร 3,000 คนที่เธออยู่แน่ๆ และเธอก็รู้สึกว่าสถานที่และกิจกรรมต่างๆ มันผิดกัน ยังไม่นับว่าตอนอยู่อเมริกาแถวละแวกบ้านเธอมีทั้งปาร์ตี้และบาร์บีคิวทุกอาทิตย์ และนั่นทำให้การมาอยู่อิตาลีแรกๆ ของเธอมัน "เหงา" มาก

แต่เรื่องพวกนี้ เป็นปัญหาที่เทียบไม่ได้เลยกับปัญหาเรื่องการ "ขาดบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง" ในบ้านนอกของอิตาลี

เธอน่าจะเล่าประสบการณ์ที่คนไทยที่อยู่ "จังหวัดบ้านนอก" ทุกคนประสบ คือ ถ้าเจ็บป่วยแบบเฉพาะทาง หรือต้องผ่าตัดอะไรจริงจัง การต้องเดินทางมาโรงพยาบาลแบบข้ามจังหวัด ไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเธอรู้สึกเลยว่ามัน "ลำบาก" มาก เพราะลูกของเธอมีทั้งกระดูกสันหลังคดคนหนึ่ง และต้องผ่าตัดหัวใจอีกคนหนึ่ง ทั้งหมดคือต้องเดินทางเข้าเมืองใหญ่ๆ แบบโรมถึงจะมีหมอ

อยากให้จินตนาการว่า ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร คือไกลยิ่งกว่านั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปตราด แต่คือระดับนั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่นหรือสุโขทัยเลยทีเดียว หรือระดับออกเดินทางเช้ามืด กว่าจะถึงก็เย็นๆ ค่ำๆ

ดังนั้น ถ้าพูดถึง "ความกันดารทางการแพทย์" มันหนักมากสำหรับ "บ้านนอก" อิตาลี ซึ่งเธอเสริมว่า ที่เธอเลือกมาอยู่ตรงนี้ที่เป็นเมืองบ้านนอกตอนใต้ของอิตาลี เพราะค่าครองชีพถูก แต่อีกด้าน พอมาอยู่จริงๆ เธอเห็นเลยว่าทางใต้คือบริการทางการแพทย์นั้นแย่มาก และนี่คือ "ราคา" ของการมีค่าครองชีพที่ถูก

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเธอไม่ตระหนักว่า ถ้าเธออยู่อเมริกาแล้วลูกต้องผ่าตัดอะไรแบบนี้ ครอบครัวเธอน่าจะ "ล้มละลาย" ไปแล้ว ไม่ใช่จะยังมีบ้านอยู่แบบตอนนี้ เพราะค่าบริการทางการแพทย์อเมริกามันป่าเถื่อนมาก และในอิตาลีที่รัฐอุดหนุนบริการด้านสุขภาพ การรับปริการเหล่านี้แม้แต่สำหรับชาวต่างชาติ ก็ถูกกว่าในอเมริกาอย่างมหาศาล

แต่อีกด้านเธอก็รู้สึกว่า ถ้าจะอยู่อิตาลีจริงๆ แบบสบายหน่อย ต้องอยู่เมืองใหญ่ๆ และแพลนเธอคือ ให้ครอบครัวทำงานสะสมเงินเยอะๆ แล้วสุดท้ายย้ายไปอยู่โรมอะไรแบบนี้ มันน่าจะตอบโจทย์กว่า เพราะโรมมีทั้งกิจกรรมมากมายให้ทำ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และมีบริการทางการแพทย์ระดับยอดเยี่ยมสุดในอิตาลีแน่ๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับครอบครัวนี้ การย้ายกลับอเมริกาไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนาอีกแล้ว เพราะค่าครองชีพ ความชิลของผู้คน และอากาศของอิตาลีเป็นสิ่งที่มีมูลค่าแบบเอาอะไรมาเทียบไม่ได้ เพียงแต่ถ้าแก้เรื่องพวกการไม่มีสิ่งอำนาจความสะดวกกับความกันดารทางการแพทย์ตามบ้านนอกก็พอ ชีวิตดีเลย และครอบครัวนี้ก็รู้ดีว่า การย้ายไปเมืองใหญ่ๆ ในอิตาลี ปัญหาพวกนี้ก็จะจบลง เพียงแต่ขอเก็บเงินก่อน เพราะบ้านแถวเมืองใหญ่ๆ ในอิตาลีแพงกว่าบ้านตามบ้านนอกแน่ๆ นี่ก็สะท้อนค่านิยมแบบอเมริกันเช่นกันที่จะรู้สึกได้ลงหลักปักฐานก็ต่อเมื่อมีบ้านเป็นของตัวเอง

 

อ้างอิง
I'm an American who moved to Italy 11 years ago. It's completely changed my definition of success.
My family moved from a big US city to a small town in Southern Italy 11 years ago. Living here looked better on paper.


อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน