Skip to main content

 

ทุกวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็น “วันประชากรโลก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมต่างๆ เพิ่มความตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับประชากรโลก

ปัจจุบัน โลกมีจำนวนประชากรมากกว่า 8.2 พันล้านคน และในหลายภูมิภาคเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ ขณะที่มีอัตราการเกิดของทารกลดต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ยุโรป เอเชียตะวันออก และละตินอเมริกา ส่วนแอฟริกา และเอเชียใต้ จำนวนประชากรยังคงเพิ่มขึ้น และมีประชากรสูงอายุอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า

วันประชากรโลกปีนี้ ศูนย์วิจัย Pew ในสหรัฐอเมริกา ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก โดยใช้ข้อมูลของ องค์การสหประชาชาติ ล่าสุดในปี 2023 ที่มีการคาดการณ์ประชากรโลกไปถึงปี 2100 พบแนวโน้ม 5 ประการ

 

1. การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2100

 

ปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกเริ่มลดลงอย่างช้าๆ และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2100 โดยที่มากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรจะมีอายุ 75 ปี องค์การสหประชาชาติ คาดว่าประชากรโลกในปี 2100 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 8.2 พันล้านคนเป็น 10.2 พันล้านคน โดยในปี 2084 จำนวนประชากรโลกจะอยู่ในจุดสูงสุดที่ 10.3 พันล้านคน และลดลงมาอยู่ที่ 10.2 พันล้านคน ในตอนสิ้นศตวรรษที่ 21

 

2. ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด 3 อันดับแรกมีการเปลี่ยนแปลงของประชากรอย่างมาก

 

ปัจจุบัน อินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1.5 พันล้านคน อันดับสอง คือ จีน ที่ 1.4 พันล้านคน และสหรัฐอเมริกา 347 ล้านคน

ประชากรของอินเดียจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 1.7 พันล้านคนในปี 2061 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 1.5 พันล้านคนในปี 2100 ขณะที่ประชากรของจีนที่เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2100 ประชากรจีนจะอยู่ที่ 633 ล้านคน และสหรัฐอเมริกา ซี่งประชากรมากเป็นอันดับ 3 ประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไปอยู่ที่ 421 ล้านคนในปี 2100

 

3. ประชากรใน 5 ประเทศที่รวมกันแล้วมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

 

ในปี 2100 จำนวนประชากรของ 5 ประเทศที่รวมแล้วมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก ได้แก่ คองโก เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และแทนซาเนีย

 

4. ค่าเฉลี่ยของอายุประชากรเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน

 

ในปี 2100 มีการคาดการณ์ว่า ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 31 ปี ไปเป็น 42 ปี

นอกจากนี้ ประชาโลกในปี 2100 ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเกือบ 3 เท่าตัว จาก 857 ล้านคน เป็น 2.4 พันล้านคน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 ของประชากรทั้งโลก ขณะที่สัดส่วนของประชากรอายุน้อยต่อประชากรสูงอายุ จะเพิ่มขึ้นจาก 1 ต่อ 10 ไปเป็น 4 ต่อ 10 การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ขณะที่ประชากรที่อายุต่ำกว่า 25 ปีก็ลดจำนวนลงด้วยเช่นกัน จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 3.3 พันล้านคน จะลดลงเหลือ 2.9 พันล้านคนในปี 2100 และคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งโลก

 

5. แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยน้อยที่ในโลก

 

ปัจจุบัน แอฟริกาเป็นพื้นที่ที่ประชากรมีอายุน้อยที่สุดในโลก อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 19 ปี และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงปี 2100 ตามมาด้วยละตินอเมริกาและประเทศแถบแคริบเบียน ที่อายุเฉลี่ยประชากรปัจจุบันอยู่ที่ 32 ปี

ขณะที่ยุโรปมีอายุเฉลี่ยประชากรมากที่สุดในโลก 43 ปี และถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีประชากรแก่ที่สุดของโลก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา ที่ 39 ปี


ที่มา
5 facts about how the world’s population is expected to change by 2100
Current World Population